ผู้ส่งบทความ1 อาจารย์รัชพล  รอดชมภู
อาจารย์รัชพล  รอดชมภู
หน่วยงาน โรงเรียนสาธิตศึกษาศาสตร์ ระดับประถมศึกษา
วัน/เดือน/ปี วันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562
เวลา 01:41:58 น.
หัวข้อบทความ ครูประถมสอนศิลปะอย่างไรให้กับนักเรียน
บทความ ครูประถมสอนศิลปะอย่างไรให้กับนักเรียน

วิชาศิลปะเป็นวิชาที่เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความคิดจินตนาการได้เต็มที่ตามที่ได้เห็น เด็กสามารถสร้างจินตนาการได้มากกว่าที่เราจะคาดเดาได้ บางทีก็อาจจะสะท้อนจิตใจความรู้สึกของตนเอง บางครั้งเด็กไม่สามารถถ่ายทอดเป็นคำพูดได้แต่สามารถถ่ายทอดมาทางงานศิลปะได้ กิจกรรมต่างๆ ทางศิลปะจะเริ่มฝึกให้มีความรู้พื้นฐานดังนี้

องค์ประกอบศิลป์ ประกอบด้วย
- Visual art (ทัศนศิลป์) : ศิลปะที่รับรู้ด้วยการเห็น
- Visual element (ทัศนธาตุ) : ธาตุที่มองเห็นด้วยตา
- Element : ธาตุปัจจัยต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นรูปทรงทางศิลปะ

ส่วนประกอบมูลฐานของวัตถุสิ่งของแต่ละชนิด(Basic element) รวมทั้งสิ่งที่เป็นนามธรรมด้วยมีดังนี้
1) จุด (Point) เป็นทัศนธาตุเบื้องต้นในงานศิลปะ
2 ) เส้น (Line) เกิดจากจุดที่ต่อเนื่องกัน ตัวอย่างความรู้สึกที่เกิดจากเส้น เช่น
- เส้นนอน ให้ความรู้สึกกว้างขวาง เงียบสงบ นิ่ง ราบเรียบ ผ่อนคลายสายตา
- เส้นตั้ง ให้ความรู้สึกสูงสง่า มั่นคง แข็งแรง รุ่งเรือง
- เส้นเฉียง ให้ความรู้สึกไม่มั่นคง เคลื่อนไหว รวดเร็ว แปรปรวน
- เส้นโค้ง ให้ความรู้สึกอ่อนไหว สุภาพอ่อนโยน สบาย นุ่มนวล เย้ายวน
- เส้นฟันปลา ให้ความรู้สึกหักเหกะทันหัน กระตุก ชะงัก ขัดแย้งรุนแรง
3 ) น้ำหนัก (Tone) เป็นองค์ประกอบของศิลป์ที่อยู่คู่กันแสง เมื่อส่องกระทบ กับวัตถุ จะทำให้เกิดเงา แสงและเงา เป็นตัวกำหนดระดับของค่าน้ำหนัก
4 ) ผิว (Texture) พื้นผิว หมายถึง ลักษณะของบริเวณผิวหน้าของสิ่งต่าง ๆ ที่เมื่อสัมผัสแล้วสามารถ รับรู้ได้ ว่ามีลักษณะอย่างไร คือรู้ว่า หยาบ ขรุขระ เรียบ มัน ด้าน เนียน สาก เป็นต้น
5) รูปทรง (Form) คือ รูปที่ลักษณะเป็น 3 มิติ โดยนอกจากจะแสดงความกว้าง ความยาวแล้ว ยังมีความลึก หรือความหนา นูน ด้วย เช่น รูปทรงกลม ทรงสามเหลี่ยม ทรงกระบอก เป็นต้น
6) ที่ว่าง (Space) คือ บริเวณที่เป็นความว่างไม่ใช่ส่วนที่เป็นรูปทรง หรือเนื้อหา ในการจัดองค์ประกอบใดก็ตามถ้าปล่อยให้มีพื้นที่ว่างมากและให้มีรูปทรงน้อย การจัดนั้นจะให้ความรู้สึกอ้างว้าง โดดเดี่ยว ในทางตรงกันข้าม ถ้าให้มีรูปทรงมากหรือเนื้อหามาก โดยไม่ปล่อยให้มีพื้นที่ว่างเลยก็จะให้ความรู้สึกอึดอัด คับแคบดังนั้นการจัดวางในอัตราส่วนที่พอเหมาะก็จะให้ความรู้สึกที่พอดีทำให้ได้ภาพที่ได้สัดส่วนงดงาม
7) สี (Color) เป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการทำงานศิลปะ สีจะช่วยให้เกิดความน่าสนใจ และมีชีวิตชีวาแก่ผู้ที่ได้พบเห็น อีกทั้งยังให้ความรู้สึกต่าง ๆ ได้ด้วย สีจึงมีอิทธิพลต่อจิตใจของมนุษย์เราเป็นอันมาก
8) จังหวะ (Rhythm) หมายถึง การเคลื่อนไหวที่เกิดจาการซ้ำกันขององค์ประกอบเป็นการซ้ำที่เป็นระเบียบ จากระเบียบธรรมดาที่มีช่วงห่างเท่าๆกันมาเป็นระเบียบที่สูงขึ้น ซับซ้อนขึ้นจนถึงขั้นเกิดเป็นรูปลักษณะของศิลปะ โดยเกิดจากการซ้ำของหน่วยหรือการสลับกันของหน่วยกับช่องไฟ หรือเกิดจากการเลื่อนไหล ต่อเนื่องกันของเส้น สี รูปทรง หรือ น้ำหนัก

กระบวนการทางศิลปะไม่มีขอบเขตแห่งการสิ้นสุด สามารถสร้างความเพลิดเพลินให้แก่เด็กได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังช่วยให้เด็กเกิดความคิดที่ไม่จบสิ้นอย่างต่อเนื่อง และก้าวไปยังโลกแห่งจินตนาการอย่างไม่มีขอบเขต ครูประถมจะเน้นให้เด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เขาสามารถคิดอะไรได้แปลกใหม่อย่างมีอิสระ และเสรีภาพ ผ่านมาทางงานศิลปะได้

อ.รัชพล รอดชมภู

 
 
แนบแฟ้มข้อมูล 109798-a-722562014345-how to teach art.pdf 
 
 
 
 
 
จำนวนผู้อ่าน 5 คน

[หน้าแรก] [รวมบทความ]