ผู้ส่งบทความ1 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชัยรัตน์  สิทธิโชค
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชัยรัตน์  สิทธิโชค
หน่วยงาน โรงเรียนสาธิตศึกษาศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษา
วัน/เดือน/ปี วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม 2553
เวลา 18:44:41 น.
หัวข้อบทความ ฟ้าทะลายโจรพืชต้านไข้หวัด 2009
บทความ ฟ้าทะลายโจร พืชต้านไข้หวัด 2009
(ผศ.ชัยรัตน์ สิทธิโชค)

เมื่อเอ่ยถึงฟ้าทะลายโจรแล้วหลายคนยังไม่รู้จักพืชชนิดนี้ดีนัก แต่ถ้าพูดถึงไข้หวัด 2009 แล้วเป็นพืชที่อยู่ในอันดับต้น ๆ ของการใช้รักษาของการรักษาไข้หวัดได้ดี ดังนั้น ในฐานะอาจารย์ที่สอนทางด้านการเกษตรจึงไปศึกษาค้นคว้าพืชตัวนี้มา มาให้ศึกษา (รายละเอียดที่สมบูรณ์จะลงที่วารสารคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น)
- ฟ้าทะลายโจรมีสรรพคุณเด่นที่สุดอยู่ 4 ประการ คือ แก้ติดเชื้อ ระงับอาการอักเสบ แก้ไข้หวัด และเป็นยาเจริญอาหาร ฟ้าทะลายโจรจึงเป็นยาตำราหลวงของการแพทย์จีนที่มีสรรพคุณเด่นมากตัวหนึ่ง เพราะเวลาใช้จะใช้เพียงตัวเดียวไม่ร่วมผสมกับตัวยาอื่นเลย ซึ่งนับว่าเป็นยาที่หาได้ยากมากที่ใช้เพียงตัวเดียวเพื่อรักษาโรคได้ดี
- ชื่อท้องถิ่นของฟ้าทะลายโจร
กรุงเทพฯ เรียก น้ำลายพังพอน,ฟ้าทะลายโจร
ยะลา เรียก เมฆทะลาย
สงขลา เรียก ยากันงู
พนัสนิคม เรียก ฟ้าสาง
ร้อยเอ็ด เรียก สามสิบดี
โพธาราม เรียก เขยตายยายคลุม
จีน เรียก คีปังฮี,ชวงซิมน้อย,เจ๊กกี้ยงฮี่,โข่วเช่า,ซี้บังกี่

- ชื่อสามัญ
The Creat, Creyat Root, Halviva, Kariyat, Green Chiretta, Kreat

- ชื่อวิทยาศาสตร์
Andrographis paniculata (Burm) Wall.cx
Ness.

- วงศ์
ACANTHACEAE

- ลักษณะของฟ้าทะลายโจร
ฟ้าทะลายโจรเป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่ง ตระกูลเดียวกันกับต้นกะเพราหรือโหระพา ลักษณะการแตกกิ่ง แตกใบคล้ายคลึงกัน ลำต้นมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม ต้นสูงประมาณ 1-2 ฟุต ใบเรียวยาว ปลายใบแหลมสีเขียวเข้ม เป็นมัน ขอบใบมีรอยหยักเล็กน้อยเกือบเรียบ ใบแตกออกเป็นคู่ ใบยาวขนาดปลายนิ้วก้อย มีดอกเล็ก ๆ สีขาว ต้นในมีรอยกระสีม่วงแดง ฝักคล้ายฝักต้นต้อยติ่ง เวลาแก่จะมีสีน้ำตาล และแตกออกจะมีเมล็ดเล็ก ๆ นำไปขยายพันธุ์ต่อได้
ทุกส่วนของต้นฟ้าทะลายโจร มีรสชาติขมมาก และถ้านำลำต้นมาตากแห้งจะแข็งและเหนียว ถ้านำมาบดจะบดยาก ต้นฟ้าทะลายโจรนี้ชาวจีนนิยมปลูกกันมาก
- ส่วนที่ใช้
ทั้งต้น (สด-แห้ง) และใบ
- สรรพคุณ
ทั้งต้นแก้ติดเชื้อ แก้ทางเดินอาหารอักเสบ แก้หวัด แก้ทอนซิล
แก้ปอดอักเสบ และแก้อาการท้องเดิน
- การเก็บมาใช้
เมื่อปลูกต้นได้ 3-5 เดือน จึงนำมาชงได้ ถ้าจะให้ดีเก็บใบขณะต้นเริ่มออกดอกจะได้ใบที่มีเนื้อยามากที่สุด มีฤทธิ์ดีที่สุด (จากคุณพงษ์พัศน์ ทัศนาวิวัฒน์ )
- คุณค่าทางยาของฟ้าทะลายโจร
เอาใบฟ้าทะลายโจรมาใช้เป็นยาได้ ด้วยการเอามาต้มกับน้ำโดยใช้ใบฟ้าทะลายโจร 1-2 กำมือ ต้มกับน้ำพอท่วมนาน 15 นาที เอาน้ำมาดื่มวันละ 3 เวลา หรือนำมาดื่มเวลามีอาการไอหรือเจ็บคอ
หรือเอามาบดละเอียดอัดเป็นเม็ด เป็นลูกกลอน โดยเอาใบฟ้าทะลายโจรมาตากแห้งเสียก่อน จะกินกับน้ำผึ้งก็ได้ รับประทานวันละ 3-6 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง ก่อนอาหารและก่อนนอน (ตำรับยาและวิธีใช้จะลงในวารสารคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น)
- ข้อควรรู้เกี่ยวกับตำรายาของฟ้าทะลายโจร
สารแอนโดแกโฟไล (สารในต้นฟ้าทะลายโจร) ละลายในแอลกอฮอล์ได้ดีมาก ละลายในน้ำได้น้อย ดังนั้นยาทิงเจอร์หรือยาดองเหล้าฟ้าทะลายโจรจึงมีฤทธิ์แรงที่สุด รองลงมาคือยาชง สวนยาเม็ดมีฤทธิ์อ่อนที่สุด


- ข้อควรระวัง
หากผู้นี้รับประทานยาเข้าไปแล้ว เกิดอาการแพ้ยา จะรู้สึกปวดท้อง มีอาการท้องเสียได้ บางคนมีอาการปวดเอว ปวดศีรษะอีกด้วย จะต้องหยุดการใช้ยาหรือลดขนาดของยา โดยทั่วไปเมื่อหยุดยาแล้วอาการเหล่านี้จะหายไปเองใน 1-3 วัน
- ข้อห้ามใช้
ตำราจีนกล่าวว่า คนที่กระเพาะม้ามเย็นพร่องห้ามกิน (กระเพาะม้ามเย็นพร่องเป็นการวิเคราะห์แบบจีน คือคนที่กกระเพาะม้ามเย็นพร่องจะมีอาการท้องอืด แน่นท้อง อาหารไม่ค่อยย่อยมีลมในท้อง)

ฟ้าทะลายโจรมีสารออกฤทธิ์รักษาโรคเด่น ๆ อยู่ 3 ตัว คือ แอโดแกโฟไล นี่โอแอนโดแกโฟไล และดีออกซี่แอนโดแกโฟไล สารที่มีมากที่สุดคือ สารแอนโดแกโฟไล เป็นตัวสำคัญ ที่ทำให้ฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์รักษาโรคและในเมืองไทยมีสารนี้มากถึง 1.8 % ซึ่งในจีนกำหนดว่า ถ้ามีถึง 1.5 % ก็ใช้เป็นยาได้แล้ว สารตัวนี้พบมากที่สุดในใบ ส่วนในลำต้นและกิ่งมีจำนวนน้อย ไม่พบในรากและเมล็ด โดยมีการทดลองใช้รักษาโรคได้อีกเป็นจำนวนมาก

(ท่านใดสนใจต้นฟ้าทะลายโจรขอได้ที่ ผศ.ชัยรัตน์ สิทธิโชค)

เอกสารอ้างอิง :
โครงการพึ่งพาตนเอง. ฟ้าทะลายโจร. บริษัท แอดิสัน เพรส โพรดักส์ จำกัด.
กรุงเทพ. 2528
ภานุทรรศน์. สมุนไพรสำคัญวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์แล้ว. สำนักพิมพ์หอสมุดกลาง.
กรุงเทพ.
วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. พจนานุกรมสมุนไพรไทย. อักษรพิทยา. กรุงเทพ. 2548



 
 
แนบแฟ้มข้อมูล 102665-a-382552155041-CRKKU.DOC 
102665-a-1882552122304-KKRR.docx 
102665-a-1882552122207-CRKKU 
 
 
 
จำนวนผู้อ่าน 1 คน

[หน้าแรก] [รวมบทความ]