ผู้ส่งบทความ1 นางสาวจรัสศรี  จุฑาจินดาเขต
นางสาวจรัสศรี  จุฑาจินดาเขต
หน่วยงาน ผู้เกษียณอายุรายการ
วัน/เดือน/ปี วันเสาร์ที่ 2 มกราคม 2553
เวลา 17:15:49 น.
หัวข้อบทความ อาชีพที่งดงาม โดย Prof. Vicharn Panich นำเสนอ
บทความ ใกล้วันครูอ่านบล๊อคของ นพ.วิจารณ์ พานิช ใน kotoknow.org เห็นว่าหนังสือเล่มนี้นักศึกษาน่าจะได้อ่านแต่คงไม่มีโอกาสบอกนักศึกษาจึงนำบทความนี้มาเผยแพร่ และขอยืนยันว่าอาชีพครูเป็นอาชีพที่งดงามจริงๆ

หนังสือ “Letters to a Young Teacher : The National Book Award-Winning Author and Educator Gently Guides a First-Year Teacher into ‘The Joys and Challenges and Passionate Rewards fo a Beautiful Profession’ ” แต่งโดย Jonathan Kozol และ รศ. ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ กรุณาส่งมาให้ กระตุ้นให้ผมเขียนบันทึกนี้

ในหนังสือเล่มนี้มีจดหมาย ๑๕ ฉบับ ผมเพิ่งอ่านจบ ๕ ฉบับ แล้วเกิดแรงบันดาลใจเขียนบันทึกนี้ ว่าครูที่มีอาชีพที่งดงามตามชื่อหนังสือเล่มนี้คือ “ครูเพื่อศิษย์” Jonathan Kosol เขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อแนะนำวิธีเป็น “ครูเพื่อศิษย์” แก่ครูที่เพิ่งเริ่มอาชีพครูในปีแรก

ผมสรุปว่า Kosol แนะนำครูใหม่ว่า อย่าเชื่อครูใหญ่หรือผู้มีอำนาจมากนัก ให้เชื่อเด็กและทำเพื่อเด็กจะดีกว่า หนังสือนี้เขียนรำลึกถึงสมัยที่ผู้แต่งเป็นครูชั้นประถมในโรงเรียนย่านคนยากจนในสหรัฐอเมริกา เมื่อ ๔๐ ปีมาแล้ว เรื่องราวมันพ้องกับสภาพของเมืองไทยเวลานี้อย่างไม่น่าเชื่อ

อ่านแล้วผมสรุปว่าในบริบทของโรงเรียนตามในหนังสือ เด็กนักเรียนเสมือนเป็นเหยื่อของครูใหญ่ และผู้ที่รับผิดชอบต่อชื่อเสียงของโรงเรียน สำหรับคนเหล่านี้ ชื่อเสียงของโรงเรียนสำคัญกว่าการเรียนรู้ของเด็ก เด็กจึงต้องทำ/ไม่ทำ หลายๆ อย่างเพื่อให้โรงเรียนดูดีมีชื่อเสียง โดยที่ในสภาพอย่างนั้น กระบวนการเรียนรู้ของเด็กตามธรรมชาติถูกทำลายไป

ขอหมายเหตุว่า ครูใหญ่/ผู้อำนวยการ ดีๆ ก็มีอยู่มากในเมืองไทย

ต้องอ่านรายละเอียด และถ้อยคำในหนังสือเอาเอง จึงจะเข้าใจว่าคุณค่าและความงามของอาชีพครู เป็นอย่างไร

Kozol เป็นคนเรียนเก่งมาก เรียนปริญญาตรีที่ Harvard College และได้รับทุน Rhodes Scholar ไปเรียนต่อที่อังกฤษ และทำงานที่ปารีส แล้วเขาก็สมัครไปทำงานเป็นครูชั้นประถมในย่านคนจน ผมเดาว่าเขาต้องการไปหาประสบการณ์ การได้ไปมีประสบการณ์นี้ถือเป็นการเรียนรู้อย่างสูง ที่ Kozol ได้เอามาใช้ตลอดชีวิต ผมอยากให้มีครูเก่งๆ คิดและทำเช่นนี้บ้าง ยิ่งได้อ่านหนังสือเล่มนี้ประกอบการเป็นครูในปีแรกๆ หรือได้ครูไทยรุ่นพี่ที่รักอาชีพครู รักเด็ก เป็นพี่เลี้ยง ยิ่งจะได้เรียนรู้ ได้ประสบการณ์ที่มีค่าไปตลอดชีวิต ไม่ว่าจะยังเป็นครูหรือไม่ก็ตาม

“ครูเพื่อศิษย์” คือครูที่เป็นเพื่อนของเด็ก ไม่ใช่เป็นนายบังคับจิตใจเด็ก เข้าใจเด็กในฐานะที่เป็นเด็ก โดยที่เด็กแต่ละคนแตกต่างกัน จึงเอาใจใส่เด็กแต่ละคนในฐานะที่เขาเป็นเช่นนั้น และหาทางช่วยเหลือให้เขาได้เรียนรู้และเปลี่ยนแปลงตนเองไปในทางที่ดีขึ้น โดยเข้าใจว่า เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน

เคล็ดลับของการ “เป็นเพื่อน” อยู่ในจดหมายฉบับที่ ๒ ที่เล่าวิธีการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างเด็กกับครู และ KSI ของความเป็นเพื่อนคือเด็กจะบอกความในใจ หรือ “ความลับระหว่างเรา” ซึ่งก็เป็น “ความลับ” แบบเด็กๆ ที่เต็มไปด้วยความเพ้อฝัน

กลับมาที่ความงามของการเป็นครู ทุกขั้นตอนของการเป็นครู ภายใต้จิตวิญญาณของความเป็นครู มีความงดงามอยู่ ทั้งๆ ที่หลายตอนมีทั้งความเจ็บปวด และเศร้า แต่มันก็จะยังงดงามเมื่อเอามาใคร่ครวญอย่างมีสติปัญญาในภายหลัง และใคร่ครวญอย่างเห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ และคุณค่าของความเป็นครู
จาก : http://gotoknow.org/blog/thaikm/323900




 
 
แนบแฟ้มข้อมูล  
 
 
 
 
 
จำนวนผู้อ่าน 1 คน

[หน้าแรก] [รวมบทความ]