ผู้ส่งข่าว   
  
   กลุ่มงาน ทั่วไป
   ระดับข่าว ปกติ
   วัน/เดือน/ปี วันอาทิตย์ที่ 6 สิงหาคม 2549
   เวลา 10:33:05 น.
   หัวข้อข่าว ฝากให่อ่าน
   ข้อความ NEW ภาควิชาการพยาบาลสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นโยบายและองค์กร
ระดับประเทศ
การค้นพบ บำบัด
เบื้องต้น และส่งต่อ
การบำบัดฟื้นฟู
ระยะยาว




ลักษณะการให้บริการทางสุขภาพ
การให้ความช่วยเหลือสตรีที่ถูกทำร้าย: ตัวอย่างการให้บริการของต่างประเทศ1
รศ. ดร. เกสรา ศรีพิชญาการ 2
ประเทศสหรัฐอเมริกามีการให้บริการทางสุขภาพแก่สตรีที่ถูกทำร้ายในรูปแบบต่าง ๆ อย่างหลากหลาย การศึกษาระบบ บริการในประเทศนี้น่าจะได้ข้อคิดในแนวกว้างเพื่อนำไปสู่ทางเลือกในการให้บริการในประเทศไทย บทความนี้เรียบเรียง จากการทบทวนเอกสารเป็นสำคัญ นอกจากนั้นยังได้จากประสบการณ์ของผู้เขียนในขณะที่ศึกษา อยู่ในประเทศ สหรัฐอเมริกา ผู้เขียนตระหนักดีว่าสภาพเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรมของประเทศไทยนั้น แตกต่างจาก ประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตามหญิงไทยหรือหญิงอเมริกันมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือไม่สมควร จะถูกทำร้ายและ มีสิทธิที่จะได้รับการปกป้องช่วยเหลือเมื่อถูกทำร้าย

นโยบายและองค์กรระดับประเทศ

ประมาณปี พ. ศ. 2533 สาธารณสุขของประเทศสหรัฐอเมริกาได้กำหนดให้เรื่องการใช้ความรุนแรงทางร่างกายต่อ สตรี ว่าเป็นปัญหาสุขภาพของประเทศที่สำคัญและต้องเอาใจใส่อยู่ในระดับต้น ๆ โดยกำหนดไว้ในนโยบาย Healthy People 2000 ของประเทศ กล่าวคือ ให้มีการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการดูแลรักษา เป้าหมายบางประการที่กำหนดไว้มี ดังต่อไปนี้ (1) ลดอัตราสตรีที่ถูกสามีทำร้ายทางร่างกายจาก 30 รายต่อคู่สมรส 1000 คู่ในปี พ. ศ. 2530 เป็น 27 รายใน ปี พ. ศ. 2543 (2) แผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลต่าง ๆ มีโปรโตคอลในการค้นพบรักษาและส่งต่อ ผู้ที่พยายามฆ่าตัวตาย ผู้ที่ถูกทำร้ายทางเพศ ผู้ที่ถูกสามีทำร้าย และผู้ถูกทำร้ายที่เป็นผู้ชราและเด็ก โดยมีเพิ่มขึ้นจากปี พ. ศ. 2535 อย่างน้อย ร้อยละ 90 (3) อัตราการปฏิเสธที่จะรับสตรีและเด็กเข้าพักในบ้านพักฉุกเฉินเนื่องจากสถานที่เต็มลดลงจากร้อยละ 40 ในปี พ. ศ. 2530 เหลือเพียงร้อยละ 10 (4) การสอนการแก้ไขข้อขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรงในโรงเรียนประถม และ มัธยมเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 50 ของปี พ. ศ. 2534 ปี พ. ศ. 2534 สมาคมพยาบาลสหรัฐอเมริกาได้ประกาศให้การ สนับสนุนนโยบาย สาธารณสุขของประเทศที่กล่าวมาข้างต้นทั้งด้านการศึกษา การให้บริการ และการศึกษาวิจัย ด้าน การศึกษา ได้สนับสนุนให้มีการสอนให้แก่นักศึกษาพยาบาลตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ด้านการบริการ สนับสนุนให้มีการ คัดกรองสตรีที่มารับบริการในสถานพยาบาลและสตรีในชุมชน มีการให้สุขศึกษาแก่สตรีทุกคน รวมทั้งให้สตรีได้ทราบ ถึงแหล่งหรือสถานพยาบาลต่าง ๆ ที่สตรีจะมารับบริการได้ สนับสนุนให้มีการให้สุขศึกษาแก่เด็กวัยเรียนและวัยรุ่น สนับสนุนให้มีการทำวิจัยในประเด็นต่าง ๆ องค์กรในระดับประเทศ 4 องค์กรได้ทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันให้มีการพัฒนา
โปรแกรมในการให้บริการแก่สตรีที่ถูกทุบตีทำร้ายในโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ องค์กรเหล่านี้ประกอบด้วย
(1) เครือข่ายพยาบาลนานาชาติในการต่อต้านความรุนแรงต่อสตรี (2) สมาคมพยาบาลสหรัฐอเมริกา
(3) สมาคมแพทย์สหรัฐอเมริกา และ (4) คณะกรรมการรับรองคุณภาพของสถานพยาบาล

ตัวอย่างการให้บริการ

การให้ความช่วยเหลือสตรีที่ถูกทำร้ายสามารถจำแนกออกเป็น 2 ประเภท คือ (1) การค้นพบ บำบัดเบื้องต้นและส่งต่อ และ (2) การบำบัดและฟื้นฟูระยะยาว

การค้นพบ บำบัดเบื้องต้น และส่งต่อ
การให้บริการประเภทนี้เป็นการค้นพบสตรีที่ถูกทำร้ายในระยะเริ่มต้นให้ได้เร็วที่สุดแล้วให้การช่วยเหลือในภาวะวิกฤต (crisis intervention) ช่วยปกป้องชีวิตสตรีจากการถูกทำร้ายซ้ำ ให้ข้อมูลต่าง ๆ และส่งต่อไปยังหน่วยงานอื่นทั้งของ รัฐและเอกชน เช่น บ้านพักฉุกเฉิน แผนกสังคมสงเคราะห์ ตำรวจ กลุ่มสตรี เป็นต้นหน่วยงานที่สามารถให้บริการ ประเภทนี้ได้แก่ ห้องฉุกเฉิน แผนกสูติ-นรีเวช หน่วยบำบัดผู้ติดยาเสพติด หน่วยให้คำปรึกษา หน่วยพยาบาลในสถาน ที่ทำงาน การเยี่ยมบ้าน บุคลากรที่สามารถให้บริการประกอบด้วยแพทย์ทั่วไป สูติ-นรีแพทย์ ศัลยแพทย์ที่รักษาผู้ป่วย ที่บาดเจ็บ พยาบาลในแผนกผู้ป่วยนอกที่ได้รับการฝึกอบรมแล้วพยาบาลผู้ให้คำปรึกษา พยาบาลทางจิตเวช พยาบาล ชุมชนที่ออกเยี่ยมบ้านหรือให้บริการในสถานที่ทำงาน เชอริแดนและเทเลอร์ (Sheridan & Taylor, 1993) ได้เสนอแนะ แนวทางในการให้บริการของห้องฉุกเฉินว่าควรครอบคลุมเนื้อหา 11 ประการดังต่อไปนี้
1. คำจำกัดความของการทำร้ายหรือการใช้ความรุนแรงซึ่งรวมถึงการทำร้ายในสตรี ในสตรีและบุรุษรักร่วมเพศ
2. ความจริงและความเข้าใจผิด ๆ (facts versus myths) เกี่ยวกับการทำร้าย
3. สิ่งบ่งชี้ของการถูกทำร้ายทางร่างกายและที่มิใช่ทางร่างกาย
4. ตัวอย่างคำถามและเทคนิกการถามเพื่อประเมินการถูกทำร้ายที่เคารพต่อวัฒนธรรมความเชื่อและความเป็นบุคคล ของผู้รับบริการ
5. ความรับผิดชอบของบุคลากรทางสุขภาพในการแจ้งความ
6. การบันทึกประวัติการถูกทำร้ายในเอกสารทางการแพทย์
7. การเก็บหลักฐานทางนิติเวช ซึ่งรวมทั้งการถ่ายรูป การบันทึกตำแหน่งที่บาดเจ็บด้วยแผนที่ร่างกาย (body map)
8. การให้ความร่วมมือกับตำรวจและศาล
9. ประเด็นเกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรทางสุขภาพ
10. แหล่งที่ผู้รับบริการสามารถไปรับความช่วยเหลือได้และวิธีการส่งต่อไปยังแหล่งดังกล่าว
11. เอกสารต่าง ๆ ที่บุคลากรทางสุขภาพควรศึกษาเพิ่มเติม

การให้บริการที่ห้องฉุกเฉินแบบสหวิชาชีพ แผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียได้จัดตั้ง ศูนย์วิกฤตการณ์ครบวงจร (one stop crisis center) สำหรับช่วยเหลือผู้ถูกทำร้ายเป็นการให้ความช่วยเหลือ อย่าง รวดเร็วในทุกรูปแบบจากสหวิชาชีพ คือ ฝ่ายสุขภาพ ผู้รักษากฎหมาย และสังคมสงเคราะห์ มีทั้งการบำบัดทางกาย และจิตใจ มีการให้คำปรึกษา ให้ความช่วยเหลือในการดำเนินการทางกฎหมายและการไปศาล (ศูนย์พิทักษ์สิทธิสตรี มูลนิธิเพื่อนหญิง, 2541) การให้บริการมีขั้นตอนดังนี้ สตรีมายังแผนกฉุกเฉินด้วยตนเอง หรือจากการนำส่งของตำรวจ หรือองค์กรเอกชน มีการตรวจร่างกาย ตรวจพิเศษ และบำบัดรักษาบาดแผลทางร่างกาย มีการบันทึกประวัติด้วย แบบฟอร์มที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษ ในรายที่รุนแรงจะให้พบแพทย์ทางนิติเวช จากนั้นให้สตรีพบกับผู้ให้คำปรึกษา ที่อยู่เวร ตลอด 24 ชั่วโมง ที่ปรึกษานี้เป็นนักสังคมสงเคราะห์ด้านการแพท์หรือ อาสาสมัครจากกลุ่มสตรี ผู้ให้คำปรึกษาจะช่วย บรรเทาความตึงเครียดทางจิตใจ แจ้งให้ทราบถึงบริการต่าง ๆ ที่มีอยู่ในโรงพยาบาลและหน่วยงานอื่น ๆ รวมทั้งเรื่อง การแจ้งความ หากมีการแจ้งความตำรวจที่ประจำอยู่ที่โรงพยาบาลจะบันทึกปากคำในโรงพยาบาลนั้นเลย มีการมอบ ข้อมูลต่าง ๆ ที่ใช้เป็นหลักฐานได้ให้กับตำรวจ จากนั้นมีการประเมินภาวะอันตราย หากสตรีจะเป็นอันตรายถ้ากลับบ้าน ให้ส่งสตรีไปยังบ้านพักฉุกเฉินภายใน24 ชั่งโมง หรือให้พักที่แผนกฉุกเฉิน ารให้บริการในระยะต่อมาเป็นการติดตามผล และให้ความช่วยเหลือ ระยะยาว เช่น การบำบัดทางจิตใจ การช่วยเหลือเรื่องสวัสดิการของเด็ก การจัดการกับการ สมรส การขึ้นศาล เป็นต้น

การบำบัดและฟื้นฟูระยะยาว
หากปัญหาทางจิตใจไม่รุนแรงมากจนปรากฏอาการทางจิตประสาทจะใช้วิธีการให้คำปรึกษาระยะยาวซึ่งสามารถ
ให้บริการในโรงพยาบาลทั่วไปได้ ผู้ให้บริการอาจเป็นแพทย์ครอบครัว พยาบาลผู้ให้คำปรึกษา พยาบาลทางจิตเวช
พยาบาลด้านสตรี นักจิตวิทยา หรือ นักสังคมสงเคราะห์ด้านการแพทย์ ถ้ามีอาการทางจิตประสาทจำเป็นต้องไปรับ
การบำบัดในคลินิกจิตเวชหรือในโรงพยาบาลโรคจิตจากจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือพยาบาลจิตเวช บริการที่ให้มีดังนี้
1. จิตบำบัดเป็นรายบุคคล (individual psychotherapy) เป็นวิธีการบำบัดด้วยวิธีการทางจิต ซึ่งรวมถึงการบำบัด
ด้วยยา ผู้บำบัดต้องมีความเชี่ยวชาญทางด้านจิตบำบัด อาจเป็นจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือพยาบาลจิตเวช ที่ประจำ
อยู่ในโรงพยาบาลหรือคลินิกเอกชน นิยมใช้วิธีการวินิจฉัยตาม DSM-IV เคยมีการวินิจฉัยสตรีที่ถูกสามีทุบตีอยู่เสมอ
จนเกิดความแค้นแล้วฆาตกรรมสามีว่าเป็นโรคจิตที่เรียกว่า "Battered Woman Syndrome" และใช้การวินิจฉัยนี้เป็น
เหตุผลแก้ต่างให้สตรีพ้นผิด กล่าวคือ สตรีกระทำการฆาตกรรมเพื่อเป็นการป้องกันตัวเอง อย่างไรก็ตามความผิดปกติ
ทางจิตนี้จะเป็นประวัติติดตัวสตรีตลอดไป ซึ่งอาจมีผลต่อสตรีเวลาไปสมัครงาน กลุ่มสตรีบางกลุ่มมีความเห็นว่าเป็น
การปลูกฝังให้สังคมเกิดทัศนคติตายตัวและเกิดอคติกับสตรี มองสตรีเหล่านี้ว่าป่วย ผิดปกติ อ่อนแอ ไร้ความสามารถ
ผลที่ตามมาคือสตรีจะเสี่ยงต่อการถูกกดขี่ข่มเหงมากขึ้น การยัดเยียดความเจ็บป่วยให้สตรี กำหนดให้สตรีต้องมารับ
การบำบัดรักษา อาจจะทำให้เข้าใจผิดเกินเลยไปว่าสตรีเองที่เป็นต้นตอของการถูกทำร้ายและจำเป็นต้องบำบัดแก้ไข
ที่สตรี เหตุผลอีกประการหนึ่งที่กลุ่มสตรีไม่เห็นด้วยกับการวินิจฉัยโรคจิตคือ ปัญหาทางจิตเป็นผลที่ตามมาจากการ
ที่สตรีถูกสามีและคนในสังคมกดขี่ข่มเหง การให้ความช่วยเหลือแก่สตรีจึงมุ่งที่การช่วยให้สตรีปลดปล่อยตนเองจาก
การถูกข่มเหง ส่วนการบำบัดทางจิตเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือเท่านั้น การบำบัดทางจิตมีจุดอ่อนที่เมื่อ
อาการทางจิตดีขึ้นแล้วมักจะยุติการรักษาปัญหาเรื่องครอบครัวที่เป็นสาเหตุของอาการทางจิตมักจะไม่ได้รับการแก้
ไข ทำให้สตรีถูกทำร้ายอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างไรก็ตามจิตบำบัดยังมีความจำเป็นอยู่ แต่จะทำอย่างไรที่จะแก้ไขจุดอ่อน
ดังกล่าวมาข้างต้น ? จะทำอย่างไรให้สตรีสามารถเข้าถึงบริการเหล่านี้ได้ ? เรามีบุคลากรพอที่จะให้บริการหรือไม่ ?
2. กลุ่มบำบัด (group therapy) เป็นวิธีที่ใช้กันมากและมีผลการวิจัยสนับสนุนว่าได้ผลดี (Hampton, Gullotta, Adams,Potter III, & Weissberg, 1993) เพราะการเข้ากลุ่มทำให้สตรีได้เห็นต้นแบบ ในการแก้ไขปัญหา จาก สมาชิกกลุ่ม ได้รับเสียงสะท้อนหรือความคิดเห็นจากสมาชิกกลุ่ม สมาชิกกลุ่มมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน มีความเห็นอก เห็นใจกัน มีการให้กำลังใจและสร้างความหวังซึ่งกันและกัน การทำกลุ่มบำบัด อาจใช้วิธี การ ทาง สติปัญญา (cognitive approaches) การปรับพฤติกรรม (behavioral approaches) หรือการให้จิตวิทยา (psychoeducational approaches)การฝึกทักษะต่าง ๆ เป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะช่วยให้สตรีปกป้องตนเอง จาก การ ถูกสามีทำร้าย ทักษะเหล่านี้ ได้แก่ การต่อรอง และการสร้างอำนาจในการต่อรอง การแก้ไขข้อขัดแย้ง การอ้างสิทธ ิตนเอง การสื่อสาร การแก้ไข ปัญหา การจัดการกับความเครียดและความโกรธ ประเด็นที่ควรพิจารณา คือเรา มีแนวทางในการทำกลุ่มบำบัด ที่มี เนื้อหาเฉพาะเจาะจงกับเรื่องการถูกทำร้ายหรือยัง ? จะนำแนวทางที่ใช่ในประเทศ สหรัฐอเมริกามาประยุกต์ได้หรือไม่ ?
3. ครอบครัวบำบัดและคู่สมรสบำบัด (family therapy and couple therapy) ในครอบครัวบำบัด มีความเชื่อว่าความ
รุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาของระบบครอบครัว เช่น โครงสร้างของครอบครัว การสื่อสารภายในครอบครัว
การเรียนรู้เรื่องการใช้ความรุนแรงในครอบครัว เป็นต้น การบำบัดจึงต้องครอบคลุมสมาชิกทุกคนในครอบครัว เช่น การจัดโครงสร้างของครอบครัวใหม่ การให้อำนาจแก่ทุกคนภายในครอบครัวอย่างเท่าเทียมกัน การแบ่งหน้าที่ของ
คนในครอบครัว การมีปฏิสัมพันธ์และการสื่อสารภายในครอบครัว เป็นต้น การบำบัดวิธีนี้ต้องคำนึงถึงความต้องการ
ของสมาชิกทุกคน หากการบำบัดจำกัดอยู่เฉพาะคู่สามีภรรยา เรียกว่า คู่สมรสบำบัด วิธีการนี้มีข้อจำกัดตรงที่อาจ
ทำให้เข้าใจผิดว่าผู้ถูกทำร้ายคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อการถูกทำร้าย การนำผู้ถูกทำร้ายกับผู้ทำร้ายมาบำบัด
ไว้ด้วยกันอาจทำให้ผู้ถูกทำร้ายมีความกลัว กังวลใจ และรู้สึกผิด วิธีการนี้จึงมักใช้ภายหลังจากการบำบัดเป็น ราย บุคคล และเป็นกลุ่มจนสมาชิกแต่ละคนมีการปรับปรุงตนเองได้ในระดับหนึ่งแล้ว แฮมพ์ตันและคณะ (Hampton et al, 1993) แนะนำว่าควรใช้วิธีนี้ภายหลังจากที่สามีได้รับการบำบัดแล้วและหยุดทำร้ายภรรยานานอย่างน้อย 6-12 เดือน การบำบัดด้วยวิธีนี้พบว่าได้ผลน้อยถ้าสามีมีความก้าวร้าวสูงและมีพฤติกรรมต่อต้านสังคม
4. การให้คำปรึกษา (counseling) ส่วนใหญ่แล้วเป็นพยาบาลจิตเวช พยาบาลสตรี และนักสังคมสงเคราะห์ทาง
การแพทย์ที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่สตรีทั้งในโรงพยาบาล ในคลินิกเอกชน หรือในชุมชน การให้คำปรึกษาอาจให้
แก่สตรีเป็นรายบุคคลหรือให้แก่คู่สมรสหรือครอบครัว การให้คำปรึกษาแก่สตรีเป็นรายบุคคลประกอบด้วยกลยุทธ์
5 ประการ คือ ช่วยให้สตรีสำรวจความรู้สึกและสถานการณ์ที่เป็นจริง ให้สตรีได้ระบายความโกรธและช่วยให้ผ่าน
ความเศร้าโศกไปได้ ช่วยเหลือให้สตรีผ่านภาวะวิกฤตไปได้ ช่วยเหลือสตรีในการสร้างพลังอำนาจให้ตนเอง
(empowerment) และช่วยเหลือในการขบวนการตัดสินใจ การให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลนี้มีบริการให้อยู่มากมาย ไม่จำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการทำจิตบำบัด สตรีมักจะสะดวกใจไปรับบริการมากกว่าการไปรับจิตบำบัด เป็นการให้ความช่วยเหลือในระยะแรกก่อนที่ปัญหาจะลุกลามเป็นปัญหาเรื้อรัง การให้คำปรึกษาไม่เหมาะกับผู้ที่มี
อาการทางจิตประสาทรุนแรง จะใช้ได้ภายหลังจากทำจิตบำบัดแล้ว ประเด็นที่ควรพิจารณาคือแนวทางในการ
ให้คำปรึกษาที่มีความเฉพาะเจาะจงกับเรื่องนี้ควรเป็นอย่างไร ? ใครควรจะเป็นผู้ให้คำปรึกษา ? ใช้พยาบาลทั่วไป
แล้วมารับการอบรมได้หรือไม่ ? ทำอย่างไรสตรีจึงจะเข้าถึงบริการได้ เพราะคำว่าการให้คำปรึกษายังไม่เป็นที่เข้าใจ
ในประชาชน ทั่วไป ? การให้คำปรึกษาระยะยาวทางโทรศัพท์มีความเป็นไปได้หรือไม่ ?
5. การบำบัดด้วยกลุ่มสนับสนุน (support group) เป็นการใช้ขบวนการกลุ่มเพื่อให้สมาชิกกลุ่มมีการช่วยเหลือซึ่งกัน
และกัน สมาชิกกลุ่มมีบทบาทมากในการกำหนดปัญหา ความต้องการ และกิจกรรมของกลุ่ม บุคลากร เช่น พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ เป็นเพียงผู้ให้การสนับสนุน ช่วยเหลือ ให้ข้อมูลต่าง ๆ วิธีการนี้อาจใช้โรงพยาบาล
เป็นสถานที่ในการทำกลุ่ม หรือเข้าไปทำในชุมชน เช่น บ้านพักพิง กลุ่มสนับสนุนสามารถบรรเทาความทุกข์ทางใจให้
สตรีได้ดี ทำให้เกิดพลังอำนาจ รวมทั้งเป็นแหล่งช่วยเหลืออื่น ๆ เช่น อาชีพ การดูแลเด็ก ข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมาย กลุ่ม
สนับสนุนไม่เหมาะสำหรับสตรีที่มีอาการทางจิตประสาทอย่างรุนแรง การเข้ากลุ่มจึงควรทำภายหลังจากการบำบัด
หรือการให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลแล้ว
6. การบำบัดโดยกลุ่มสตรี เป็นแหล่งช่วยเหลือสตรีในชุมชน เช่น บ้านพักพิง ไม่ใช่ในสถานพยาบาล แบ่งออกเป็น 2 ประเภทดังนี้
6.1 กลุ่มพี่เลี้ยง (mentoring or mutual-aid groups) สตรีที่มีประสบการณ์ถูกทำร้ายมาก่อนและสามารถจัดการกับ ประสบการณ์เหล่านั้นมาได้แล้วมาทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ช่วยเหลือ หรือให้คำปรึกษาสตรีรายอื่นที่ถูกทำร้าย (peer mentor/advocate or peer counselor) ผู้ดำเนินงานเป็นบุคลากรทางสุขภาพ แต่ผู้ให้บริการเป็นสตรีอาสาสมัครที่ได้ รับการอบรมมาแล้ว ที่ผ่านมาใช้เวลาอบรมประมาณ 40 ชั่วโมง หัวข้อในการอบรมได้แก่ วงจรของความรุนแรง กลุ่ม อาการจากการถูกทำร้าย ทักษะการฟัง การประเมินแหล่งสนับสนุนของสตรี เป็นต้น ประสบการณ์การแก้ไขปัญหา ที่ประสบผลสำเร็จของพี่เลี้ยงจะเป็นแบบอย่างให้สตรีรายอื่นยึดถือเอาเป็นแบบอย่างได้ พี่เลี้ยงจะให้ข้อมูลที่เป็น ประโยชน์ เช่น แหล่งช่วยเหลือต่าง ๆ ที่มีในชุมชน รวมทั้งให้การประคับประคองทางจิตใจ ช่วยเสริมสร้าง คุณค่าใน ตนเอง (self-esteem) ให้กับสตรี พี่เลี้ยงอาจจัดกิจกรรมอื่น ๆ ให้ เช่น การฝึกฝนวิชาชีพ หรืออาจจัดบริการ ให้ความ ช่วยเหลือ เช่น รับดูแลบุตร สตรีที่สามารถจัดการแก้ไขปัญหาได้แล้วสามารถมาสมัครเป็นพี่เลี้ยงได้ ประสิทธิผลของ การบำบัดด้วยวิธีการนี้ยังไม่มีผลการวิจัยเชิงปริมาณมาสนับสนุน แต่มีการบันทึกข้อมูลเชิงคุณภาพที่แสดงว่าได้ผลดี
6.2 กลุ่มช่วยเหลือตนเอง (self-help groups) ผู้ริเริ่มและดำเนินการเป็นสตรีที่ถูกทำร้าย วัตถุประสงค์ของกลุ่มคือการ ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทั้งในด้านวัตถุสิ่งของและด้านจิตใจ บุคลากรทางสุขภาพอาจมีหรือไม่มีส่วนร่วมในกลุ่ม ขึ้น อยู่กับความต้องการของกลุ่ม กลุ่มอาจเชิญบุคลากรไปให้คำปรึกษาหรือให้ความรู้เป็นครั้งคราว บุคลากรอาจให้ ความร่วมมือในการช่วยจัดตั้งกลุ่มในระยะเริ่มแรก







***********************************




มีข้อสงสัยติดต่อสอบถามที่ @mail.nurse.cmu.ac.th

 
 
   แนบแฟ้มข้อมูล  
 
 
 
 

[หน้าแรก] [รวมข่าว]