งานวิจัย : ความคาดหวังต่อโรงเรียนสาธิต คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นของผู้ปกครองและผู้สอบเข้าเรียนในปีการศึกษา 2527
โดย :
 
บทคัดย่อ ภาษาไทย

   บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์
เพื่อศึกษาความคาดหวังของนักเรียนที่สอบเข้าเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 ความคาดหวังของผู้ปกครองที่ส่งลูกเข้าเรียนระดับอนุบาลศึกษา ในโรงเรียนสาธิต คณะศึกษาศาสตร์ รวมทั้งความคิดเห็นของชุมชนภายนอกที่ไม่ได้ส่งลูกเข้าเรียน
กลุ่มตัวอย่างสุ่มจากประชากรที่เป็นนักเรียนมาสมัครสอบเข้าเรียนทั้งระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ปีการศึกษา 2527 จำนวน 827 คน ผู้ปกครองนักเรียนระดับอนุบาลศึกษา จำนวน 97 คน และชุมชนภายนอกซึ่งสุ่มจากผู้ปกครองนักเรียนระดับประถมศึกษาของโรงเรียนต่าง ๆ ภายในจังหวัดขอนแก่น จำนวน 92 คน แบบสอบถามที่ใช้ผู้วิจัยได้สร้างขึ้นเอง สถิติในการวิเคราะห์ข้อมูล ใช้สถิติการแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน

สรุปผลการวิจัย
นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มีความคาดหวังต่อข้อต่าง ๆ ที่ถามอยู่ในระดับมาก 23 ข้อ ปานกลาง 15 ข้อ และความคาดหวังน้อย 2 ข้อ สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มีความคาดหวังต่อข้อต่าง ๆ ที่ถามอยู่ในระดับมาก 20 ข้อ ปานกลาง 18 ข้อ และน้อย 2 ข้อ จากคำถามทั้งสิ้น 40 ข้อ และนักเรียนทั้งสองระดับมีความหวังมากอย่างยิ่งตรงกันในด้านวิชาการ ระเบียบวินัยของโรงเรียนและกิจกรรมที่โรงเรียนจัดขึ้น
ผู้ปกครองที่ส่งลูกเข้าเรียนระดับอนุบาลศึกษา มีความคาดหวังในเรื่องต่าง ๆ ที่ถามอยู่ในระดับมาก 21 ข้อ ระดับปานกลาง 16 ข้อ จากคำถามทั้งสิ้น 37 ข้อ สำหรับผู้ปกครองที่ไม่ได้ส่งลูกเข้าเรียนในโรงเรียนสาธิต ให้คำตอบในระดับความคาดหวังมาก 5 ข้อ และปานกลาง 32 ข้อ
เมื่อจัดหมวดหมู่คำถามเป็นด้าน รวม 8 ด้าน พบว่าผู้มาสอบเข้าเรียนมีความคาดหวังต่อโรงเรียนระดับมากอย่างยิ่งตรงกัน คือ เน้นด้านวิชาการเป็นอันดับแรก สำหรับผู้ปกครองที่ส่งลูกเข้าเรียนและผู้ปกครองที่ไม่ได้ส่งลูกเข้าเรียน จะเน้นด้านการสอนเป็นอันดับแรก
นักเรียนระดับมัธยมศึกษาทั้งตอนต้นและตอนปลายกับกลุ่มผู้ปกครองและชุมชนภายนอกที่ไม่ได้ส่งลูกเข้าเรียน มีความคาดหวังต่อโรงเรียนสาธิต คณะศึกษาศาสตร์ไม่แตกต่างกันในความคาดหวังสูงสุด 3 อันดับแรก เมื่อจัดอันดับความคาดหวังแต่ละด้านพบว่า มีอันดับจากสูงไปหาต่ำดังนี้
1. ด้านวิชาการของโรงเรียน
2. ด้านการสอน วิธีสอนของโรงเรียน
3. ด้านการศึกษาต่อขึ้นอุดมศึกษา
4. ด้านกิจกรรมที่โรงเรียนจัดให้มีขึ้น
5. ด้านระเบียบวินัยและการปกครอง
6. ด้านสภาพแวดล้อมของโรงเรียน
7. ด้านความมีชื่อเสียงของโรงเรียน
8. ด้านสังคมในโรงเรียน