งานวิจัย : Environmental Education : National Perspective on Thailand, Australia and Japan
โดย : รองศาสตราจารย์ ดร.คงศักดิ์ ธาตุทอง
 
บทคัดย่อ ภาษาไทย

   บทคัดย่อ: งานวิจัยนี้สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการเรียนการสอนสิ่งแวดล้อมศึกษาของครูไทย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น เพื่อศึกษาเกี่ยวกับวิธีการและสื่อการเรียนการสอนสิ่งแวดล้อมศึกษา จิตสำนึกและทัศนคติต่อสิ่งแวดล้อมของนักเรียน และ การร่วมกิจกรรมสิ่งแวดล้อมของครูและนักเรียน รวมทั้งการสนับสนุนของโรงเรียนเกี่ยวกับกิจกรรมสิ่งแวดล้อม แบบสอบถามที่ใช้เป็นแบบสำรวจแบบ Check list และ Rating Scale 7 ระดับดวามคิดเห็น และแบบตอบสั้นๆ จำนวนแบบสอบถามที่ได้รับคืนจากครูไทยคิดเป็นร้อยละ 92.00 ครูออสเตรเลียคิดเป็นร้อยละ 63.88 และ ครูญี่ปุ่นคิดเป็นร้อยละ 77.50
ผลการวิจัยพบว่า มีทั้งความเหมือนกันและความต่างกันในด้านความคิดเห็น ซึ่งอาจเนื่องมาจากจุดเน้นในหลักสูตรการศึกษาที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของแต่ละประเทศ ตลอดจนความแตกต่างในด้านวัฒนธรรม ประเพณี ปรัชญาการศึกษา ระบบการศึกษา และความเชื่อของแต่ละประเทศ ครูไทย และครูญี่ปุ่น ส่วนใหญ่จะสอนสิ่งแวดล้อมโดยใช้การบรรยาย ทั้งๆที่ครูไทย และครูญี่ปุ่น ส่วนใหญ่ยอมรับว่าวิธีสอนของตนเองไม่ค่อยเหมาะสมในการสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ครูออสเตรเลีย ส่วนใหญ่เชื่อว่าวิธีที่ตนเองใช้สอนอยู่นั้นเหมาะสมในการสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของนักเรียน วิธีที่ครูออสเตรเลียส่วนใหญ่ ใช้คือการสอนแบบสืบเสาะ เรื่องความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมควรสอนเด็กให้กับที่เล็กที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ บทบาทของครูควรเปลี่ยนจากการทำตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญในการสอนคนอื่น มาเป็นผู้ที่พยายามเรียนรู้จากเพื่อนร่วมงานและนักเรียน กระบวนการเรียนการสอนสิ่งแวดล้อมศึกษา จะต้องนำการวิเคราะห์ทางสังคมเข้ามาช่วยกระตุ้นให้นักเรียนมีความกระตือรือร้น ที่จะเข้ามีร่วมในเรื่องสิ่งแวดล้อมและปัญหาสิ่งแวดล้อม