งานวิจัย : ผลการใช้แผนการสอน INQUIRY CYCLE (5Es) MODEL ของนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพครู วิชา หลักสูตรและการสอนวิชาชีววิทยา พ.ศ. 2549
LEARNING OUTCOME OF INSTRUCTION USING INQUIRY CYCLE (5Es) MODEL LESSON PLAN OF STUDENTS IN THE CURRICULUM AND INSTRUCTION IN BIOLOGY 2549
โดย : รองศาสตราจารย์วิมล สำราญวานิช
 
บทคัดย่อ ภาษาไทย

   การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักศึกษา นักเรียน ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาชีววิทยา โดยใช้แผนการสอน Inquiry Cycle (5Es) Model ที่เขียนแผนการสอน และทดลองสอนโดยนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนวิชา หลักสูตรและการสอนชีววิทยา(214 510) ผู้วิจัยประกอบด้วย ผู้วิจัย และครู ผู้ร่วมวิจัยจำนวน 5 คน กลุ่มเป้าหมายเป็นนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครูเอกวิชาชีววิทยา ที่ลงทะเบียนเรียน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2549 จำนวน 4 คน, นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4และ 5 โรงเรียนสาธิต คณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น รูปแบบการวิจัยเป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียน (class room action research) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ชีววิทยา จำนวน 5 แผน , แบบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาชีววิทยา, แบบสัมภาษณ์ความคิดเห็นของนักเรียน, แบบสอบถามนักศึกษาผู้สอน และแบบสังเกตของผู้ร่วมวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูลแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ เชิงคุณภาพ และเชิงปริมาณ การวิเคราะห์เชิงคุณภาพ โดยการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ตีความหมาย รายงานผล การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยการใช้ค่าเฉลี่ย ( ) ร้อยละ (%)


สรุปผลการวิจัย
ผลการวิจัยเชิงคุณภาพ พบว่า ความคิดเห็นของนักศึกษาผู้สอน นักเรียน ผู้วิจัย ผู้ร่วมวิจัย และนักศึกษาผู้สังเกตการสอน มีความคิดเห็นทางบวก คือ นักศึกษาสอนได้ตามแผน การจัดการเรียนรู้ Inquiry Cycle (5Es) Model, มีสื่ออุปกรณ์การสอน เอกสารใบความรู้ ใบงานประกอบการสอน ทำการทดลอง ผู้เรียนสามารถสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเองโดยการสืบเสาะหาความรู้จากสถานการณ์ที่กำหนดให้เพื่อระบุปัญหา ตั้งสมมุติฐาน ทดลอง สำรวจ รวบรวมข้อมูล อธิบายและลงข้อสรุป ตลอดจนขยายความรู้ โดยนำความรู้ไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน หรือปัญหาที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนต้องประเมินผลของตนเอง ในการทำงานกลุ่ม และประเมินผลระหว่างกลุ่ม ทำให้ความรู้ชัดเจนยิ่งขึ้น มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับนักเรียน, นักเรียนกับครู และสภาพแวดล้อม นักเรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้ และทำกิจกรรมอย่างมีความสุข การเข้ากลุ่มนักเรียนเป็นผู้เลือกสมาชิกเองและร่วมมือกันเรียนรู้ภายในกลุ่มดีมาก และนักเรียนให้ข้อมูลว่าการเรียนในชั้นเรียนมีบรรยากาศดี สอนเข้าใจง่ายและนักเรียนคิดว่านักศึกษามีความรู้ดี มีประสิทธิภาพในการสอน มาก – มากที่สุด การ Reflect ผลการเรียนการสอนเป็นประโยชน์ในการพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของนักศึกษา ความคิดเห็นทางลบนักศึกษายังขาดเทคนิคในการตั้งคำถามให้นักเรียนอภิปราย เชื่อมโยงความรู้เดิมกับความรู้ใหม่ และขาดคำถามสำคัญในการขยายความรู้ และคำถามที่จะพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ได้ให้นักเรียนและนักศึกษามาสอนบ่อยเกินไป สอนโดยการทดลอง ใช้สื่อทำให้ใช้เวลามากและเนื้อหามากเกินไปแต่นักเรียนโรงเรียนสาธิตคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็มีศักยภาพเรียนรู้ได้ ผลการวิจัยเชิงปริมาณ พบว่าจำนวนนักศึกษาร้อยละ 78.52 ผ่านเกณฑ์ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนร้อยละ 75