งานวิจัย : แนวทางการจัดศูนย์การเรียนตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ในประเทศไทย
Strategies for the Organization of Learning Resource Centers under the 1999 Education Act in Thailand
โดย :
 
บทคัดย่อ ภาษาไทย

   บทคัดย่อ
งานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับรูปแบบและแนวทางการจัดศูนย์การเรียนตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และเพื่อกำหนดแนวทางในการสนับสนุนที่เหมาะสมในการรองรับการเทียบโอนและสนับสนุนในรูปแบบต่างๆต่อศูนย์การเรียน
ประชากรและกลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้ ประกอบด้วยศูนย์การเรียนที่ไม่อยู่ภายใต้การดำเนินงานภาครัฐ โดยสุ่มศึกษาเป็นรายกรณี จำนวน 70 ศูนย์การเรียน การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้การศึกษารายกรณี เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วย กรอบ CIPP Model และกรอบคำถามกึ่งโครงสร้างเพื่อการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (in – depth interview) ในกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้อง (stakeholders) และประชุมสนทนากลุ่มย่อย (focus group discussion) ข้อมูลที่ได้นำมาวิเคราะห์เชิงเนื้อหา (content analysis) จำแนกจัดหมวดหมู่ข้อมูลและวิเคราะห์กระบวนการดำเนินงานแต่ละศูนย์การเรียน สรุปข้อมูลนำเสนอในการประชุมสัมมนาผู้เกี่ยวข้อง
ผลการวิจัย
1. รูปแบบและแนวทางการจัดศูนย์การเรียนมี 2 ลักษณะใหญ่คือ
1.1 ศูนย์การเรียนที่ไม่ได้จัดโดยหน่วยงานของรัฐโดยตรง เป็นการจัดการศึกษาปฐมวัยและการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นสถานศึกษาที่มุ่งพัฒนากลุ่มเป้าหมายให้ได้ความรู้และทักษะในด้านวิชาการและ/หรือเป็นศูนย์การเรียนที่พัฒนาทั้งด้านวิชาการและ/หรือวิชาชีพเป็นกลุ่มที่เข้าข่าย มาตรา 18 (3)
1.2 ศูนย์การเรียนที่ไม่ได้มุ่งจัดประสบการณ์การเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษาในระบบและไม่ได้ดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐ แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ
1.2.1 ศูนย์การเรียนที่มุ่งส่งเสริมและพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ
1.2.2 ศูนย์การเรียนที่มุ่งให้ความรู้ ส่งเสริม สืบสานและอนุรักษ์ศิลปวัฒธรรม วิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ปลูกจิตสำนึกด้านความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม
ฉะนั้นคำจำกัดความของศูนย์การเรียนในมาตรา 18(3) น่าจะหมายถึง ศูนย์ที่ดำเนินการจัดการศึกษา เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับประชาชนโดยมีปรัชญาและวิธีการที่มุ่งสร้างโอกาสในการเรียนรู้อย่างหลากหลายที่สามารถตอบสนองความต้องการและเสนอทางเลือกในการพัฒนาตนเองของประชาชน
2. แนวทางการสนับสนุนและบทบาทของรัฐในการกำกับดูแลการเทียบโอนและการสนับสนุนด้านวิชาการ ด้านทรัพยากรและด้านอื่นๆ
2.1 บทบาทของรัฐในการกำกับดูแลการเทียบโอนและการสนับสนุน
2.1.1 ศูนย์การเรียนที่เข้าข่ายมาตรา 18(3) ได้รับสิทธิด้านการเทียบโอนและผู้เรียนได้รับประกาศนียบัตร แสดงคุณวุฒิตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว การสนับสนุนของรัฐจึงควรเป็นด้านการพัฒนาบุคลากร ด้านทรัพยากรที่จำเป็นหรือให้สถานศึกษาเหล่านี้ซึ่งมีแนวทางการจัดการเรียนการสอนภายใต้ปรัชญาต่างๆได้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างเต็มศักยภาพ
2.1.2 ศูนย์การเรียนที่จัดโดยภาคสังคมและไม่เข้าข่ายมาตรา 18 (3) ควรได้รับการสนับสนุนดังนี้
1) สนับสนุนให้สามารถอยู่ได้ด้วยตนเองทำให้ได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์การเรียนที่เป็นแหล่งเรียนรู้ของสังคม
2) ให้การสนับสนุนด้านสื่อต่างๆในรูปของการเชื่อมโยงความคิดแล้วนำมาสู่ความเป็นสมัยใหม่โดยไม่เปลี่ยนฐานความคิด สนับสนุนส่งเสริมการศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนาของศูนย์ สถาบันการศึกษาทั่วไปควรยอมรับศูนย์การเรียนเป็นเครือข่ายเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ซึ่งกันและกัน รัฐควรมีงบประมาณจัดสรรเป็นกองทุนสำหรับสนับสนุน ศูนย์การเรียนต่างๆ โดยแยกจัดสรรให้กับแต่ละศูนย์ที่มีโครงการรองรับหรือให้ศูนย์การเรียนได้ร่วมใช้ทรัพยากรที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ เช่น โรงเรียนในท้องถิ่น ควรมีการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีให้กับบุคคลหรือองค์กรเอกชนที่สนับสนุนการจัดศูนย์การเรียน สนับสนุนให้เกิดเครือข่ายการดำเนินงานของศูนย์การเรียน
2.2 การเทียบโอนเพื่อรองรับสิทธิ รัฐควรสนับสนุนให้ศูนย์การเรียนมีแนวทางที่จะวางมาตรการในการประเมินมาตรฐานของตนเอง โดยวางตัวชี้วัดของตนเองเพื่อให้สามารถออกหนังสือรับรองให้ผู้เรียนมีคณะกรรมการประเมินมาตรฐานที่ประกอบด้วยบุคลากรของศูนย์ ผู้เชี่ยวชาญในท้องถิ่นและตัวแทนสถาบันการศึกษาในชุมชน ร่วมทำหน้าที่ประเมินมาตรฐานโดยไม่ใช้กรอบของระบบโรงเรียนควรได้รับแนะนำถึงลักษณะและวิธีการเตรียมเพื่อการเทียบโอนเมื่อศูนย์ต้องการ
2.3 ประชาสัมพันธ์ศูนย์การเรียนให้สังคมได้รับทราบ ยอมรับและตระหนักในความสำคัญและบทบาทของ ศูนย์การเรียน