งานวิจัย : ความสัมพันธ์ระหว่างความจำระยะสั้นกับเชาว์ปัญญา
The Relationship between Short - term Retention and Intelligence
โดย :
 
บทคัดย่อ ภาษาไทย

    การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างควาจำระยะสั้นกับเชาว์ปัญญาของเด็ก และเปรียบเทียบความสามารถในการจำแบบระลึกได้ และแบบจำได้ ในสภาพการณ์ที่ไม่มีสิ่งรบกวนและมีสิ่งรบกวน กลุ่มตัวอย่างคือ นักเรียนโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวน 99 คน ชาย 55 คน หญิง 44 คน ให้กลุ่มตัวอย่างได้รับการทดสอบความจำ โดยรับเสนอสิ่งเร้าที่จะต้องจำ ซึ่งเป็นภาษาไทยสองพยางค์เป็นรูปธรรม และมีความหมายเฉพาะตัว เสนอให้อ่านจากแผนภูมิเพียงครั้งเดียว ตามลำดับกลุ่มคำที่มีกลุ่มละ 5 คำจนถึง 9 คำ ครั้งละกลุ่มแล้วระลึกคำในแต่ละกลุ่มโดยไม่จำเป็นต้องเรียงตามลำดับ จะระลึกคำใดก่อนหรือหลังก็ได้ สำหรับความจำแบบจำได้นั้น จะให้เลือกคำที่ปะปนกันอยู่กับคำอื่นๆ โดยขีดเส้นใต้คำที่ถูกต้อง และในสภาพการณ์ที่มีสิ่งรบกวนจะให้บวกเลข หลังจากที่อ่านคำจากแผนภูมิแล้ว จึงระลึกคำหรือเลือกคำในความจำแบบจำได้ และให้ผู้ถูกทดลองได้ทำแบบทดสอบเชาวน์ปัญญาของ Cattell (Culture Fair Intelligence Test) Scale 2 Form A และ B
วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ยของความจำวิเคราะห์ความแตกต่างด้วย Z - test และหาค่าสหสัมพันธ์ระหว่างความจำกับคะแนนเชาวน์ปัญญาแบบ Pearson Correlation
ผลการวิจัยพบว่า (1) ความจำระยะสั้นแบบระลึกได้มีค่าเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 3.65 - 4.09 คำ เมื่อไม่มีสิ่งรบกวน และมีค่าเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 2.54 - 3.48 คำ เมื่อมีสิ่งรบกวน (2) ความจำระยะสั้นแบบจำได้มีค่าเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 4.76 - 8.29 คำ เมื่อไม่มีสิ่งรบกวน และมีค่าเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 4.44 - 7.57 คำ เมื่อมีสิ่งรบกวน (3) ความจำระยะสั้นแบบระลึกได้ ในสภาพการณ์ที่ไม่มีสิ่งรบกวนและมีสิ่งรบกวน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคํญที่ระดับ .05 (z=2.67, p<.05)เป็นไปตามสมมติฐานข้อที่ 1 ของการวิจัย แต่ความจำระยะสันแบบจำได้ในสภาพการณ์ที่ไม่มีสิ่งรบกวนและมีสิ่งรบกวนแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญ ไม่สอดคล้องกับสมมติฐานข้อ 1 ของการวิจัย (4) ในสภาพการณ์ที่ไม่มีสิ่งรบกวน ความจำระยะสั้นแบบระลึกได้แบบจำได้ มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01(z=8.06, p<.04) และในสภาพการณ์ที่มีสิ่งรบกวนความจำระยะสั้นแบบระลึกได้และแบบจำได้ มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01 เช่นเดียวกัน (z=8.39, p<.01) ไม่สอดคล้องกับสมมติฐานกับสมมติฐานข้อที่ 2 ของการวิจัย (5) ความจำระยะสั้นแบบระลึกได้มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับคะแนนเชาวน์ปัญญาอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01 (r = .613, p<.01) และความจำระยะสั้นแบบจำได้มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับคะแนนเชาว์ปัญญาอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01 เช่นเดียวกัน (r=.629, p<.01) เป็นไปตามสมมติฐานข้อที่ 3 ของการวิจัย