งานวิจัย : การทอผ้าพื้นเมืองของสตรีชนบทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : การศึกษาในมิติทางด้านวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ
Indigenous Weaving practices of rural women in the Northeast : a case study on culture and economic dimensions
โดย :
 
บทคัดย่อ ภาษาไทย

   การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์ที่ได้ทำการศึกษาวิวัฒนาการของการทอผ้าพื้นเมืองของสตรีในชนบทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมุ่งประเด็นการศึกษาด้านวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ และรวมถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดกลุ่มทอผ้าพื้นเมือง การเปลี่ยนแปลงการทอผ้าพื้นเมืองจากการทอเพื่อใช้มาเป็นการทอเพื่อขาย ตลอดถึงการบริหารจัดการของกลุ่ม
การวิจัยครั้งนี้ได้เลือกศึกษาในหมู่บ้านที่มีการทอผ้าพื้นเมืองเพื่อใช้และทอเพื่อขาย และเป็นหมู่บ้านที่มีการรวมกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองเพื่อขายทั้ง 2 หมู่บ้านได้แก่ บ้านไก่นา อำเภอเมือง และ บ้านดอน อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี
วิธีการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลได้กระทำไปพร้อมๆกัน โดยมีนักวิจัยและผู้ช่วยนักวิจัยเข้าไปอยู่ในชุมชนโดยศึกษาประวัติและบริบทของชุมชน การสัมภาษณ์การสังเกตการทอผ้าพื้นเมืองของสตรีในหมู่บ้านทั้งสอง และพร้อมกับสัมภาษณ์จากผู้ที่ให้ข่าวสารที่สำคัญ (Key Information) อย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ และในทุก ๆ กิจกรรมและทุกฤดูกาลที่เกี่ยวข้องกับการทอผ้าพื้นเมืองเป็นสำคัญตลอดระยะเวลา 1 ปี
ผลการวิจัยพบว่า จากประวัติของชุมชนบ้านไก่นาและบ้านดอนนั้น ชาวบ้านในหมู่บ้านทั้งสองมีเชื้อสายลาวพวน ซึ่งมีฝีมือในการทอผ้าพื้นเมืองได้แก่ ผ้าขิด และผ้ามัดหมี่ จึงมีการถ่ายทอดฝีมือการทอผ้าให้ไว้กับคนรุ่นหลังสืบทอดต่อมาจนถึงปัจจุบัน
ชาวบ้านที่นี้ทอผ้าเพื่อไว้ใช้มาตลอด ต่อมาได้มีคนในเมืองเข้ามาว่าจ้างชาวบ้านให้ทอไปส่งขาย และได้มีกลุ่มคนที่นิยมผ้าทอพื้นเมืองสนับสนุนโดยการซื้อไปทำเสื้อกระโปรง และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ทำให้มีผู้ต้องการผ้าทอพื้นเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 เป็นต้นมา ชาวบ้านมีรายได้จากการทอผ้าพื้นเมืองทุกหลังคาเรือน
ต่อมารัฐได้เข้ามาสนับสนุนโดยการให้ชาวบ้านตั้งกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองที่บ้านไก่นาก่อน แต่ต้องล้มไปเพราะไม่มีการควบคุมกลุ่ม และได้มีการตั้งกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองขึ้นมาใหม่ ในปี พ.ศ. 2530 ที่บ้านดอน กลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรเอกชนเข้ามาร่วมด้วย จึงทำให้กลุ่มดำเนินการต่อไปได้ด้วยดีจนกระทั่งปัจจุบัน
การจัดการกลุ่มโดยมีองค์กรเอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการนั้นมีรูปแบบการดำเนินงานชัดเจนคือมีคณะกรรมการบริหารกลุ่ม มีการตั้งระเบียบกลุ่ม กำหนดคุณสมบัติของสมาชิก กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดสรรผลประโยชน์ของกลุ่ม และเจ้าหน้าที่ขององค์กรเอกชนที่เข้ามาควบคุมติดตามงาน และประเมินผลงานของกลุ่มอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง
ผลจากการที่มีผู้เข้ามาสนับสนุนให้ตั้งกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองเพื่อขาย ทำให้ผู้หญิงที่บ้านไก่นา และบ้านดอนมีรายได้เป็นกอบเป็นกำขึ้นมา ทำให้ชาวบ้านมีงานทำตลอดเวลาซึ่งปัจจัยที่ถือว่าเป็นมิติทางเศรษฐกิจนั้นได้แก่ แรงงานผลิตผ้าพื้นเมืองนั้น ชาวบ้านทำงานอย่างเต็มที่ เนื่องจากการใช้แรงงานที่อยู่ในครัวเรือนของตัวเอง สภาพแวดล้อมคือที่อยู่อาศัยและที่ผลิตอยู่ในที่เดียวกัน ความปลอดภัยมีมากกว่าการออกไปทำงานข้างนอก ทำให้สามารถผลิตผ้าออกมาได้มาก จึงทำให้การทอผ้าเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับครอบครัว ถือว่าเป็นอาชีพหลักได้
จากการดำเนินการวิจัยในครั้งนี้มีข้อสังเกตคือ การวิจัยเรื่องนี้อาจไม่สามารถเป็นตัวแทนภาพรวมของการทอผ้าพื้นเมืองของสตรีชนบทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในมิติทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจได้ทั้งหมด แต่ทำให้ผู้วิจัยได้เรียนรู้ถึงกระบวนการทำงานของชาวบ้าน วิธีคิดวิธีการทำงานที่เป็นพื้นฐานวัฒนธรรมพื้นบ้าน ตลอดจนความพยายามที่จะแก้ปัญหาของชาวบ้านโดยศักยภาพที่มีอยู่ในตัวเองนั้นได้ถูกดึงมาใช้แปรให้เป็นสภาพทางเศรษฐกิจได้อย่างดีที่สุด
8. บทคัดย่อภาษาอังกฤษ