งานวิจัย : สภาพปัจจุบัน ปัญหาและอุปสรรคของการวิจัยของ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ไม่มี
โดย :
 
บทคัดย่อ ภาษาไทย

   บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาความเป็นมา สภาพปัจจุบันปัญหาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับงานวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น วิธีการดำเนินการวิจัย ผู้วิจัยได้ศึกษาเอกสารที่เกี่ยวกับงานวิจัยของในมหาวิทยาลัยขอนแก่น สอบถามและสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง 3 กลุ่ม คือ กลุ่มนักวิจัยในมหาวิทยาลัย กลุ่มผู้บริหารที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยในมหาวิทยาลัยขอนแก่น สอบถามและสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง 3 กลุ่ม คือ กลุ่มนักวิจัยในมหาวิทยาลัย กลุ่มผู้บริหารที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยของคณะและของมหาวิทยาลัย และกลุ่มผู้ใช้ผลงานวิจัย กลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักวิจัยและผู้บริหาร ใช้วิธีสุ่มอย่างง่ายโดยสุ่มมาร้อยละ 30 ได้กลุ่มตัวอย่าง 365 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นแบบสัมภาษณ์ และแบบสอบถามที่ผู้วิจัยได้สร้างขึ้นมาเอง สำหรับแบบสอบถามที่ส่งไปทั้งหมด 365 ชุด ได้รับกลับคืน 257 ชุด คิดเป็นร้อยละ 70.41 การวิเคราะห์ข้อมูลของแบบสอบถาม วิเคราะห์โดยการแจกแจงความถี่ หาค่าร้อยละส่วนแบบสัมภาษณ์และการศึกษาจากเอกสารประมวลผลที่ได้เป็นความเรียง
ผลการวิจัย
1.ประวัติความเป็นมาของงานวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งแต่ปี พ.ศ.2508-2522 มีรองคณบดีฝ่ายวิชาการเป็นผู้รับผิดชอบจัดสรรทุนวิจัยและประสานงานด้านการวิจัย ปีพ.ศ.2522 มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ตั้งสถาบันวิจัย และพัฒนาได้ทำหน้าที่ประสานและพัฒนางานวิจัย และต่อมาในปี พ.ศ.2529 ได้ตั้งรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยให้รับผิดชอบด้านนโยบาย ประสานงานวิจัย พัฒนางานวิจัยและจัดสรรงบประมาณวิจัยของมหาวิทยาลัย และในปลายปีพ.ศ.2532 ได้มอบหมายให้รองอธิการบดีฝ่ายกิจกรรมพิเศษรับผิดชอบประสานงานโครงการวิจัย (โครงการอีสานเขียว)ของกองทัพบก
2.โครงสร้างการบริหารงานวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ไม่มีเอกภาพในระดับมหาวิทยาลัย งานวิจัยอยู่ในความรับผิดชอบของ 3 หน่วยงาน คือ ฝ่ายวิจัย ฝ่ายกิจการพิเศษ และสถาบันวิจัยและพัฒนา ส่วนในระดับคณะการบริหารงานวิจัยจะแตกต่างกันในแต่ละคณะบางคณะมีรองคณบดีฝ่ายวิจัย บางคณะมีรองคณบดีฝ่ายวิชาการ บางคณะมีรองคณบดีฝ่ายวางแผน บางคณะมอบหมายให้ประธานคณะกรรมการวิจัยประจำคณะดูแลรับผิดชอบงานวิจัย
ลักษณะการบริหารงานวิจัยที่ไม่มีเอกภาพของมหาวิทยาลัยทำให้มหาวิทยาลัยขาดนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการวิจัย ขอบข่ายและทิศทางของการวิจัย ส่วนในระดับคณะยังไม่ปรากฏว่ามีคณะใดที่กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการวิจัยของคณะออกมาอย่างชัดเจน
3.ผลงานวิจัยต่างๆที่ทำกันในมหาวิทยาลัยขณะนี้เป็นเรื่องความสนใจส่วนบุคคลไม่มีเอกภาพเช่นกัน ยกเว้นโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยและพัฒนาที่กำหนดทิศทางไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาชนบทภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2527-2532) พบว่าเป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) เป็นส่วนใหญ่ ส่วนการวิจัยเชิงพัฒนา (Research and Development-R+D) ยังมีน้อยมาก
4.ปัญหาและอุปสรรคของการวิจัย นักวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่นประสบปัญหาการวิจัยหลายประการ ปัญหาต่างๆ เหล่านั้นอาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ
กลุ่มที่ 1 ปัญหาเกี่ยวกับความสามารถของนักวิจัย ได้แก่
1. ทำวิจัยไม่เสร็จตามกำหนดเวลา
2. มีปัญหาเทคนิควิธีการและเครื่องมือในการวิจัย
3. ขาดความร่วมมือระหว่างคณะผู้วิจัย
4. ผู้ร่วมโครงการวิจัยขาดประสบการณ์
5. ปัญหาการบริหารโครงการ
กลุ่มที่ 2 ปัญหาเกี่ยวกับการบริหารการวิจัยของมหาวิทยาลัย ได้แก่
1. ปัญหาการประเมินโครงการเพื่ออนุมัติให้ทุนวิจัย
2. ไม่มีแหล่งค้นคว้างานวิจัย
3. ความไม่คล่องตัวในการเบิกจ่ายเงิน
4. ไม่ทราบแหล่งเงินทุน
5. ไม่สามารถนำผลงานวิจัยไปขอตำแหน่งทางวิชาการได้ทุกคนในกรณีมีผู้ร่วมวิจัยโครงการเดียวกันหลายคน
5.ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับงานวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น สรุปได้ดังนี้
1.จัดระบบข้อมูลงานวิจัยเพื่อบริการแก่บุคคลที่สนใจ
2.เผยแพร่ผลงานวิจัยทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย
3.จัดรวบรวมผลงานวิจัยให้เป็นสัดส่วนโดยเฉพาะสาขาวิชา
4.กำหนดแผนงานวิจัยของมหาวิทยาลัยให้ชัดเจน
5.อบรมอาจารย์เพื่อเพิ่มสมรรถภาพในการวิจัย
6.จัดสรรทุนวิจัยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์