งานวิจัย : รูปแบบการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการเรียนการสอนระดับประถมศึกษา
โดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์พรพิมล ชูสอน
 
บทคัดย่อ ภาษาไทย

   ชื่อเรื่อง การศึกษารูปแบบการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการเรียนการสอนระดับ
ประถมศึกษา ในเขตจังหวัดขอนแก่น
ผู้วิจัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์พรพิมล ชูสอน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธนพรรณ ธานี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมหวัง นิลพันธ์
นางสาวจรรยา บุญมีประเสริฐ
นายประยุทธ ชูสอน
สังกัด มหาวิทยาลัยขอนแก่น
พุทธศักราช 2545

บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาสภาพการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการเรียนการสอนระดับประถมศึกษาในเขตจังหวัดขอนแก่น 2) เพื่อนำเสนอรูปแบบที่เหมาะสมกับการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอนระดับชั้นประถมศึกษาในเขตจังหวัด กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือครูผู้สอนในระดับชั้นประถมศึกษา ในจังหวัดขอนแก่น ในปีการศึกษา 2544 และสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) ได้จำนวนทั้งสิ้น 290 คน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรมสำเร็จรูป Spss/Pc ดำเนินการวิเคราะห์ตัวแปรด้านสภาพบุคคลและทดสอบตัวแปรต่าง ๆ เกี่ยวกับสภาพการเรียนการสอน ปัญหาและความต้องการ โดยใช้ค่าสถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน นอกจากนี้ ใช้วิธีการจัดลำดับข้อมูลจากคำถามปลายเปิด ตามลำดับความถี่และความสอดคล้อง
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. ครูได้นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ประกอบการเรียนการสอนโดยภาพรวมและรายด้านทั้ง 5 ด้าน อยู่ในระดับ ปานกลาง และพบว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่นำมาใช้ในการเรียนการสอนนั้น ส่วนมากเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นในด้านนันทนาการและการพักผ่อน รองลงมาเป็นด้านขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรม ด้านวรรณกรรมและภาษา ด้านวิถีชีวิต ความเป็นอยู่และวิทยาการ และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่นำมาใช้ประกอบการเรียนการสอนไม่มากนัก ได้แก่ ด้านศิลปกรรมและโบราณคดี
2. รูปแบบที่เหมาะสมในการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอนระดับประถมศึกษาคือ 1)ภาครัฐและหน่วยงานเอกชน ต้องให้ความร่วมมือกันในการส่งเสริมการเรียนรู้ของชุมชน เพื่อให้บุคลากรในชุมชนสามารถค้นหาสาเหตุของปัญญา วิเคราะห์ปัญหาและกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญญาในชุมชน และสามารถนำภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่มาเป็นเครื่องมือในการกำหนดแนวคิดและทิศทางการพัฒนา 2) สถาบันการศึกษา และองค์กรในชุมชน ต้องให้ความร่วมมือและสนับสนุน ความคิดริเริ่มของผู้นำและปราชญ์ชาวบ้านในการจัดหลักสูตร และกระบวนการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน และค้นหาประสบการณ์ของปราชญ์ชาวบ้านเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ทั้งในระบบและนอกระบบให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียน 3) วัดหรือสำนักสงฆ์ ต้องทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นแหล่งเรียนรู้ ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ ของผู้เรียนทั้งในระบบการเรียนและนอกระบบการเรียน รวมทั้งยังสามารถแก้ปัญหาของชุมชนได้ 4) ผู้บริหารสถานศึกษาและครูต้องเป็นผู้นำทางการศึกษาของท้องถิ่น กระตุ้น เร่งเร้าให้ครอบครัว ชุมชน ตระหนัก และมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ ทั้งกิจกรรมในหลักสูตรของ โรงเรียนและการเสริมหลักสูตรต่าง ๆ โดยเน้นการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นและปราชญ์ท้องถิ่นเข้ามาถ่ายทอดในโรงเรียน 5) บทบาทของครูผู้สอนต้องศึกษาชุมชน พร้อมทั้งศึกษาข้อมูลและเฟ้นเอาศาสตร์ชาวบ้านเข้าไปผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นเน้นใช้ศักยภาพของภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ามาร่วมเป็นวิทยากรหรือที่ปรึกษา และจัดให้มีกระบวนการเรียนการสอนที่หลากหลาย ไม่ยึดแต่ในหนังสือเรียนเท่านั้น