งานวิจัย : ปัญหาการเรียนของนักศึกษาสาขาวิชาศิลปศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
โดย : รองศาสตราจารย์อรอนงค์ ฤทธิ์ฤาชัย
 
บทคัดย่อ ภาษาไทย

   ชื่อโครงการวิจัย ปัญหาการเรียนของนักศึกษาสาขาวิชาศิลปศึกษา คณะศึกษาศาสตร์
มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ชื่อผู้วิจัย นางสาวอรอนงค์ ฤทธิ์ฤาชัย

บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาการเรียนของนักศึกษาสาขาวิชาศิลปศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อนำผลงานวิจัยมาแก้ไขปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนให้ถูกทิศทางและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น และเพื่อเพิ่มศักยภาพนักศึกษาสาขาวิชาศิลปศึกษาให้เป็นบัณฑิตที่พึงประสงค์ กลุ่มตัวอย่างประชากรได้แก่ นักศึกษาสาขาวิชาศิลปศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทุกชั้นปี โดยใช้แบบสอบถามความคิดเห็นแบบปลายเปิด แบ่งตามองค์ประกอบของการเรียนการสอนประกอบด้วย ตัวครูและวิธีการสอนของครู ความเหมาะสมของปริมาณงานกับเวลา การประเมินผล ค่าใช้จ่าย สถานที่และอุปกรณ์การทำงาน กิจกรรม และปัญหาส่วนตัว วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่และหาค่าร้อยละและนำมาเสนอในรูปตาราง

ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. ปัญหาการเรียนของนักศึกษา
นักศึกษาส่วนใหญ่มีปัญหาส่วนตัวมากที่สุดร้อยละ 82.05 มีปัญหาด้านตัวครูและวิธีการสอนของครูร้อยละ 61.53 นักศึกษามีความคิดเห็นว่าปริมาณงานยังไม่เหมาะสมกับเวลาที่ให้ร้อยละ 44.23 นักศึกษามีปัญหาด้านค่าใช้จ่ายร้อยละ 33.33 มีปัญหาด้านการประเมินผลของครูร้อยละ 30.12 มีปัญหาด้านสถานที่และวัสดุอุปกรณ์การทำงานร้อยละ 26.28 มีปัญหาด้านอื่นๆ ร้อยละ 14.01 และมีปัญหาด้านกิจกรรมร้อยละ 12.82
1.1 ปัญหาด้านตัวครูและวิธีการสอนของครู
นักศึกษาคิดว่าปัญหาด้านตัวครูและวิธีการสอนของครูมีปัญหามากที่สุด คือ จำนวนอาจารย์มีน้อยเกินไปไม่เพียงพอต่อจำนวนนักศึกษา เนื่องจากมีอาจารย์ลาออกและลาศึกษาต่อ จึงมีอาจารย์ที่ทำการสอนอยู่ขณะนี้ 5 คน โดยมีนักศึกษา 156 คน อาจารย์ต้องรับผิดชอบการสอนหลายวิชา ทำให้บางรายวิชาอาจจะไม่ตรงกับความสามารถและความถนัดของอาจารย์ ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อนักศึกษาคือ นักศึกษาเรียนไม่รู้เรื่อง รายละเอียดและเนื้อหาในวิชาปฏิบัติน้อยไป ส่วนมากให้เรียนรู้เอง ใช้ศัพท์ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน บุคลิกลักษณะของอาจารย์ที่นักศึกษา


เห็นว่าอาจารย์ชอบสั่ง และเอาความคิดของตัวเองเป็นใหญ่ ทำให้ขาดอิสรภาพทางความคิด และต้องทำงานให้ถูกใจอาจารย์มากกว่าถูกใจตนเอง นักศึกษาคิดว่าการจัดการเรียนการสอนของอาจารย์ยังไม่กระตุ้นความคิดเชิงวิชาการ ขาดการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และนักศึกษาคิดว่าทำงานไม่ได้ไม่ทราบวิธีเนื่องจากอาจารย์ขาดการสาธิตหรือแสดงตัวอย่างให้ดู
1.2 ปัญหาความไม่เหมาะสมของปริมาณงานกับเวลา
นักศึกษามีความคิดเห็นว่าปริมาณงานกับเวลายังไม่เหมาะสมเนื่องจากปริมาณงานมีมากแต่ให้เวลาในการทำงานน้อยไป อีกทั้งยังต้องทำงานเพื่อแก้งานที่ไม่ผ่านเกณฑ์ที่อาจารย์กำหนดซึ่งต้องใช้เวลาอีกเท่าตัวเพื่อทำงานซ้ำ และส่งผลให้ส่งงานชิ้นอื่นๆ ไม่ทันตามเวลาที่อาจารย์กำหนด โดยบางครั้งอาจารย์สั่งงานตรงกันหลายวิชา
1.3 ปัญหาด้านการประเมินผลของครู
นักศึกษามีความคิดเห็นว่าปัญหาด้านการประเมินผลนั้น ยังไม่เหมาะสมเนื่องจากงานส่วนใหญ่ได้คะแนนค่อนข้างต่ำ เมื่อไม่ผ่านจะต้องทำงานมาแก้ ทำให้ไม่มีเวลาที่จะอ่านหนังสือหรือให้เวลากับการเรียนในรายวิชาที่เน้นทางด้านทฤษฎีหรือวิชาการ นักศึกษามีความเห็นว่าการให้คะแนนของอาจารย์ยังขาดความยุติธรรม มีความลำเอียงและเหมือนดูชื่อในการให้คะแนน วิจารณ์คนมากกว่าผลงาน งานดีกลับได้คะแนนน้อย เอาตัวเองเป็นเกณฑ์ในการตัดสิน
1.4 ปัญหาด้านค่าใช้จ่าย
นักศึกษามีความคิดเห็นว่า ค่าอุปกรณ์การเรียนแพงมาก งานเยอะต้องใช้เงินเยอะ ต้องซื้ออุปกรณ์การเรียนบ่อยมาก ค่าใช้จ่ายสูงในบางรายวิชา ใช้เงินซื้ออุปกรณ์การเรียนมากกว่าเครื่องใช้ส่วนตัวและนักศึกษาไม่มีเงินพอที่จะซื้ออุปกรณ์ ขาดทุนการศึกษา นักศึกษาบางคนขอทุนไม่ได้
1.5 ปัญหาด้านสถานที่และวัสดุอุปกรณ์การทำงาน
นักศึกษามีความคิดเห็นว่าสถานที่เรียนไม่มีความพร้อม ห้องเรียนมีจำนวนไม่เพียงพอ แคบและแออัดเมื่อเทียบกับจำนวนนักศึกษา อุปกรณ์การทำงานไม่เพียงพอ (แท่นพิมพ์ แป้นหมุน)โต๊ะ-เก้าอี้เรียนไม่เพียงพอ และนักศึกษาคิดว่าครูยังขาดการใช้สื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัย
1.6 ปัญหาด้านกิจกรรม
นักศึกษามีความคิดเห็นว่ากิจกรรมมีมากเกินไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมการรับน้อง การแข่งขันกีฬาที่ต้องมีการนัดซ้อม





1.7 ปัญหาส่วนตัว
นักศึกษาส่วนใหญ่มีปัญหาส่วนตัวมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ มีความกังวลใจ กลัวสอบตก กลัวโดนรีไทร์ กลัวตกทุน นักศึกษาคิดว่าตัวเองยังขาดพื้นฐานทางด้านศิลปะ นักศึกษาคิดว่าปริมาณงานมีมากจนไม่มีเวลาพักผ่อน นักศึกษาบางส่วนคิดว่ามีปัญหาเรื่องเพื่อน และนักศึกษายังแบ่งเวลาในการเรียนไม่ถูก
1.8 ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมอื่นๆ
นักศึกษามีความคิดเห็นว่าอาจารย์มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม นักศึกษาอยากให้อาจารย์รับฟังปัญหาของนักศึกษาบ้าง อยากให้เพิ่มจำนวนอาจารย์มากกว่านี้ และเพิ่มรายวิชาที่ตลาดต้องการ มีความแปลกใหม่ และนักศึกษาคิดว่าอาจารย์ยังขาดความพร้อมในการจัดการเรียนการสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นและยังไม่พอเพียง