งานวิจัย : การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มีผลต่อการเรียนรู้ด้านความจำของเด็กออทิสติกตามความคิดเห็นของครูผู้สอน
An Organizing Learning - Teaching Activity for Promoting Memory Learning of the Autistic Children as Perceived by the Teachers Autistic
โดย : อาจารย์สาวิตรี วงศ์กิติรุ่งเรือง
 
บทคัดย่อ ภาษาไทย

   การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อทราบความคิดเห็นของครูผู้สอนเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มีผลต่อการเรียนรู้ด้านความจำของเด็กออทิสติก 2) เพื่อศึกษาผลการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มีผลต่อการเรียนรู้ด้านความจำของเด็กออทิสติก และ 3) เพื่อเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ด้านความจำของเด็กออทิสติก กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วย ครูผู้สอนเด็กออทิสติกในห้องเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวน 32 คน และ ครูผู้สอนเด็กออทิสติกในศูนย์วิจัยและพัฒนาการจัดการศึกษาพิเศษแบบเรียนรวมสำหรับเด็ก
ออทิสติก โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวน 15 คน รวมทั้งหมด 47 คน ภาคเรียนที่ 2 ประจำปีการศึกษา 2548 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็น แบบสอบถาม ที่เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มีผลต่อการเรียนรู้ด้านความจำของเด็กออทิสติกตามความคิดเห็นของครูผู้สอน มีค่าสัมประสิทธิ์ของความเที่ยงเป็น 0.85 การวิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS / PC+ คำนวณค่า ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าสูงสุดและค่าต่ำสุด

ผลการวิจัย
ในการศึกษาความคิดเห็นของครูผู้สอน เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มีผลต่อการเรียนรู้ด้านความจำของเด็กออทิสติก ส่วนใหญ่พบว่า ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเด็กออทิสติกนั้น ควรมีการร่วมประชุมชี้แจงนโยบาย วางแผน การจัดกิจกรรมเรียนการสอน เพื่อให้เข้าใจธรรมชาติของเด็กออทิสติกและคำนึงความแตกต่างระหว่างเด็กออทิสติกกับเด็กปกติ อันจะนำไปสู่การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มีผลต่อการเรียนรู้ด้านความจำของเด็กออทิสติก เป็นต้นว่า การกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ การแบ่งเนื้อหาที่เป็นขั้นเป็นตอน จากง่ายไปยาก การสอนแบบย้ำซ้ำทวน สอนให้ปฏิบัติจริง การสื่อสารควรพูดให้ชัดเจน สั้น กระชับ เน้นให้นักเรียนเล่าเรื่อง เล่านิทาน การกระตุ้น และเทคนิคในการจัดการกับพฤติกรรมต่าง ๆ ของเด็กออทิสติก
การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ทำให้เด็กออทิสติกมีความจำที่ดีขึ้นนั้น ครูผู้สอนส่วนใหญ่ให้ความคิดเห็นว่า ควรสอนจากง่ายไปยาก สอนสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวไปสู่สิ่งที่อยู่ไกลตัวเด็ก ครูควรเล่านิทานให้เด็กฟัง ฝึกให้นักเรียน ตั้งคำถาม อ่านเนื้อหาเอง และเล่าเรื่องย่อจากเรื่องที่เรียน เน้นการปฏิบัติจริง เช่นการนำคำศัพท์ไปสร้างเป็นประโยคหรือเรื่องราว การเขียน อ่านบ่อยมากขึ้นกว่าเด็กปกติ และการใช้สื่ออุปกรณ์ประกอบการเรียนการสอน
ซึ่งจากความคิดเห็นของครูผู้สอนดังกล่าวนี้ จะเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านความจำของเด็กออทิสติกต่อไป

คำสำคัญ : ความจำของเด็กออทิสติก การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของเด็กออทิสติก