งานวิจัย : การมีส่วนร่วมของชุมชนในการนำภูมิปัญญาพื้นบ้านมาใช้ในการพัฒนา หลักสูตรท้องถิ่นในโรงเรียนระดับประถมศึกษาในเขตการศึกษา 9
Community Participation in the use of Local Wisdom in School – Based Curriculum Development in Elementary School, Educational 9
โดย :
 
บทคัดย่อ ภาษาไทย

   บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและชุมชนในการดำเนินงานด้านการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน และศึกษาถึงปัจจัยที่ส่งเสริมและเป็นอุปสรรคต่อการมีส่วนร่วมของชุมชนในการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการเรียนการสอน โดยศึกษาจากโรงเรียนในเขตการศึกษา 9 ซึ่งได้จากการสุ่มแบบหลายขั้นตอนและเก็บรวบรวมข้อมูลจากโรงเรียนกลุ่มตัวอย่าง และกลุ่มเป้าหมายในแต่ละโรงเรียนซึ่งได้แก่ผู้บริหาร ครู ผู้นำชุมชน และภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมกลุ่มเป้าหมายทั้งสิ้น 121 คน การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้วิธีประชุมสนทนากลุ่มย่อย(Focus group discussion) ผลการวิเคราะห์ข้อมูลมีดังต่อไปนี้
1. สถานภาพโดยทั่วไปมีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการเรียนการสอนทั้งในด้านอาชีพ ศิลปวัฒนธรรมและคติความเชื่อ และด้านเทคโนโลยีพื้นบ้านของชุมชน ซึ่งพบว่ามีการนำภูมิปัญญาด้านการประกอบอาชีพมาใช้สอนเป็นส่วนใหญ่โดยมีครูผู้สอนวิชากลุ่มการงานพื้นฐานอาชีพ กลุ่มสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต หรือครูประจำชั้นเป็นผู้ตัดสินใจเลือก โดยมักจะพิจารณาด้วยเหตุผลที่ต้องการให้นักเรียนมีรายได้ มีความเป็นไปได้ที่จะอาศัยทรัพยากรและภูมิปัญญาใน ชุมชน
สำหรับสภาพความร่วมมือจะมีความเข้มและอ่อนแตกต่างกันไป แต่โดยรวมแล้วความร่วมมือจะเกิดจากความคุ้นเคยและความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนและชุมชน นอกจากนั้นการมีส่วนร่วมในการบริหารโรงเรียนโดยมีผู้นำชุมชนและผู้แทนชุมชนเป็นคณะกรรมการสถานศึกษา ยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการเรียนการสอนได้รับความร่วมมืออย่างดี ลักษณะความร่วมมือของชุมชนจะมีตั้งแต่การร่วมตัดสินใจในการเลือกประเด็นภูมิปัญญาพื้นบ้านในกรรมการสถานศึกษา การร่วมวางแผนการสอนและร่วมสอนของครูภูมิปัญญา การร่วมบริจาคสิ่งของ วัสดุ อุปกรณ์การสอนภูมิปัญญาพื้นบ้าน
2. ปัจจัยที่ส่งเสริมและเป็นอุปสรรคต่อการมีส่วนร่วมของชุมชนในการใช้ภูมิปัญญา ท้องถิ่นในการจัดการเรียนการสอน ได้แก่ความสัมพันธ์อันดีระหว่างโรงเรียนและชุมชน การสนับสนุนด้านการฝึกอบรมจากองค์กรภายนอกเช่นองค์กรเอกชน ความสนับสนุนจากผู้บริหารและความตื่นตัวของครูที่ได้รับการอบรมหรือได้รับการศึกษาต่อ ความรู้สึกผูกพันของภูมิปัญญาที่มีต่อนักเรียนที่เป็นบุตรหลานของตน