งานวิจัย : ค่านิยมของอาจารย์ในสถาบันฝึกหัดครูภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
Values of Teacher College Staffs in the Northeast, Thailand.
โดย :
 
บทคัดย่อ ภาษาไทย

    การวิจัยนี้เป็นการศึกษาค่านิยมและทัศนคติของอาจารย์ในสถาบันฝึกหัดครู ดังจุดมุ่งหมายต่อไปนี้
1.ศึกษาระบบค่านิยมของอาจารย์ในสถาบันฝึกหัดครูภาคตะวันออกเฉียงเหนือเปรียบเทียบกับระบบค่านิยมของคนไทย
2. ศึกษาค่านิยมจุดหมายปลายทางชีวิตและค่านิยมวิถีปฏิบัติเปรียบเทียบระหว่างตัวแปรทางสังคมต่อไปนี้คือ เพศ อายุ ระดับการศึกษา สถานภาพสมรส สาขาวิชาการ และอายุราชการของอาจารย์ในสถานบันฝึกหัดครู
3. ศึกษาทัศนคติในการดำเนินชีวิตและทัศนคติต่ออาชีพครูเปรียบเทียบระหว่างเพศและระดับการศึกษา
4. ศึกษาความคิดเห็นเกี่ยวกับการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มระดับการศึกษา

วิธีดำเนินการวิจัย
1. กลุ่มตัวอย่างคือ อาจารย์ในสถาบันฝึกหัดครูภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 13 แห่ง จำนวน 400 คน เป็นอาจารย์ชาย 250 คน อาจารย์หญิง 150 คน
2.เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบวัดค่านิยม (ที่พิมพ์บนกระดาษกาว) และแบบสอบถามทัศนคติและความคิดเห็นเกี่ยวกับการศึกษา
3. การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ Median test, Spearman's Rank Correlation Coefficients, Chi - square.

ผลการวิจัย
1. ค่านิยมจุดหมายปลายทางชีวิตของกลุ่มอาจารย์ที่สำคัญในระดับสูง ส่วนใหญ่เป็นค่านิยมแบบมีศูนย์รวมที่บุคคลมากกว่าค่านิยมส่วนสังคม ได้แก่ ความสำเร็จในชีวิต ความสุขในชีวิตครอบครัว ควาภาคภูมิใจในตัวเอง ความสงบสุขทางใจ และความเป็นปราชญ์ เป็นผู้รู้ดี แตกต่างจากกลุ่มคนไทยทั่วไปที่ให้ความสำคัญ ความมั่นคงของชาติเป็นอันดับหนึ่งและพบอีกว่ากลุ่มอาจารย์ให้ความสำคัญ ค่านิยมทางการศึกษาและค่านิยมทางการศึกษาและค่านิยมทางการเมืองสูงกว่ากลุ่มคนไทย แต่ค่านิยมทางศาสนาให้ความสำคัญไว้ในระดับเดียวกัน และค่านิยมความสำเร็จในชีวิตจะมีความสัมพันธ์กับการมีความสามารถสูง แสดงว่ากลุ่มอาจารย์มีความต้องการใฝ่สัมฤทธิ์แฝงอยู่บ้าง
ส่วนค่านิยมวิถีปฏิบัติ กลุ่มอาจารย์ให้ความสำคัญในค่านิยมแบบเน้นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมากกว่าค่านิยมเน้นความสามารถของบุคคลได้แก่ ความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ การเป็นตัวของตัวเอง ความกตัญญูรู้คุณ การมีความสามารถสูง การปรับตัวเข้ากับจังหวะและสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มคนไทยทั่วไป กลุ่มอาจารย์ได้ให้ความสำคัญในค่านิยมแบบเน้นความสามารถส่วนบุคคลมากกว่า และพบว่าค่านิยมการมีความสามารถสูงมีความสัมพันธ์กับค่านิยมความเสมอภาค
2. เมื่อเปรียบเทียบค่านิยมทั้ง 2 ประเภท ระหว่างตัวแปรทางสังคมต่างๆ พบว่ามีค่านิยมแตกต่างกันในจำนวนไม่มากนัก ทั้งนี้เพราะกลุ่มตัวอย่างอยู่ในอาชีพเดียวกัน นอกจากนี้ได้พบว่าอายุเป็นตัวแปรทางสังคมที่ทำให้ค่านิยมในวิถีปฏิบัติ แตกต่างกันมากกว่าตัวแปรอื่นๆ และพบว่าอาจารย์ชายให้ความสำคัญในความกว้างขวางในสังคมมากกว่าอาจารย์หญิง อาจารย์ปริญญาตรีมีความอ่อนน้อมเชื่อฟังมากที่สุด อาจารย์ปริญญาเอกให้ความสำคัญในการมีแนวความคิดกว้าง อาจารย์ที่แต่งงานแล้วเห็นว่าความสุขในชีวิตครอบครัวสำคัญมากกว่าคนโสด และยังได้พบอีกว่าอาจารย์ในสาขาสังคมศาสตร์ ให้ความสำคัญเรื่องความรับผิดชอบมากกว่าอาจารย์สาขาอื่นๆ
3. ทัศนคติในการดำเนินชีวิตของอาจารย์มีความสอดคล้องกับค่านิยมกล่าวคือ กลุ่มอาจารย์มีทัศนคติต่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล โดยเน้นในทางรักษาไมตรีจิต ทัศนคติในการดำรงชีวิตสอดคล้องกับค่านิยมการปรับตัวเข้ากับจังหวะและสิ่งแวดล้อม ทัศนคติต่อความต้องการใฝ่สัมฤทธิ์ สอดคล้องกับค่านิยมความสำเร็จในชีวิตยกเว้นในเรื่องความเอาจริงเอาจังในการทำงานที่กลุ่มอาจารย์มีความเห็นว่า การรักษาไมตรีจิตมีความสำคัญมากกว่า และกลุ่มอาจารย์มีทัศนคติทางบวกต่อกฎแห่งกรรม
4. ทัศนคติต่ออาชีพครู กลุ่มอาจารย์มีทัศนคติทางบวกต่ออาชีพครู แต่ไม่เข้มแข็งนัก เมื่อได้รับข้อเสนอให้เปลี่ยนอาชีพใหม่ที่มีรายได้สูงกว่าจะเกิดความลังเลใจทันที
5. ความคิดเห็นเกี่ยวกับการศึกษาพบว่าอาจารย์ในระดับการศึกษาต่างกัน มีความเห็นไม่แตกต่างกัน และอาจารย์ส่วนใหญ่เน้นความสำคัญของการจัด การศึกษาหลายรูปแบบเป็นข้อดีของการจัดการศึกษา และความไม่เสมอภาคทางการศึกษาเป็นข้อเสียของการศึกษา
6. ความคิดเห็นต่อปรัชญาการศึกษา อาจารย์ส่วนใหญ่เห็นว่าการศึกษาไทยอยู่ในปรัชญากลุ่ม Progressivism และ Reconstructionism และมีข้อเสนอให้ปรับปรุงการจัดการศึกษาในเรื่องหลักสูตรการสอน ความเสมอภาคทางการศึกษาและการบริหารการศึกษา