งานวิจัย : การพัฒนาครูแนะแนวในโรงเรียนมัธยมศึกษา ภาคตะวตออกเฉียงเหนือ
Professional Development for Duidance Teachers in Secondary Scholls in The Northestern Region
โดย :
 
บทคัดย่อ ภาษาไทย

   บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ เพื่อศึกษาการพัฒนาครูแนะแนวในโรงเรียนมัธยมศึกษา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีคำถามการวิจัยว่า การพัฒนาครูแนะแนวในโรงเรียนมัธยมศึกษา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยนำรูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการมาประยุกต์ใช้จะ เกิดผลอย่างไร รูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Kemmis & McTaggart, 1988) ในแต่ละวงจรประกอบด้วย ขั้นการวางแผน ขั้นการปฏิบัติ ขั้นการสังเกต/รวบรวมข้อมูล และขั้นสะท้อนผลการปฏิบัติเพื่อการปรับปรุงแผน การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้วิธีทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 3 ตอน คือ
ตอนที่ 1 สำรวจสภาพการณ์และความต้องการของผู้บริหารและครูแนะแนวเกี่ยวกับงานแนะแนว โดยส่งแบบสอบถามเกี่ยวกับงานแนะแนวในโรงเรียนไปยังกลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้บริหาร 202 คน ครูแนะแนว 212 คน ทางไปรษณีย์ ผลการศึกษาเป็นดังนี้
1) โรงเรียนส่วนใหญ่มีนโยบายและการประเมินผลงานแนะแนวของโรงเรียน
2)ครูแนะแนวส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุน้อย ไม่ได้จบการศึกษาทางด้านการแนะแนว ปฏิบัติหน้าที่โดยได้รับการมอบหมายจากผู้บริหารและทำหน้าที่มาน้อยกว่า 5 ปี
3)หน้าที่อขงครูแนะแนวในทางปฏิบัติและในมุมมองของผู้บริหารที่สำคัญลำดับแรกคือ การให้คำปรึกษา
4)ผู้บริหารเห็นความสำคัญของงานแนะแนวในโรงเรียนในระดับสูง ส่วนครูแนะแนวมีความเห็นว่าผู้บริหารให้การสนับสนุนงานพอสมควร ทั้งผู้บริหารและครูแนะแนวมีความพึงพอใจต่องานแนะแนวในระดับปานกลาง
5)ในระยะ 3 ปีมานี้ ครูแนะแนวส่วนใหญ่เคยเข้ารับการอบรม และนำมาใช้กับงานได้ ผู้บริหารและครูแนะแนวมีความเห็นตรงกันว่า ความรู้และทักษะของครูแนะแนวที่ต้องการพัฒนาในลำดับแรก คือ เทคนิคและทักษะการให้คำปรึกษา และวิธีที่เป็นประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาตน คือ การศึกษาต่อ การศึกษาดูงาน และการอบรมเชิงปฏิบัติการ
ตอนที่ 2 การอบรมเชิงปฏิบัติการ “งานแนะแนวในโรงเรียน : การให้คำปรึกษา” ผู้มีส่วนร่วมในการอบรมประกอบด้วย ครูแนะแนว 35 คน ผู้ช่วยวิจัย 9 คน และผู้วิจัย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามครูแนะแนวเกี่ยวกับการอบรม แบบวัดความรู้เกี่ยวกับงานแนะแนว แบบประเมินทัศนคติต่องานแนะแนวและการฝึกอบรม บันทึกการสังเกต บันทึกการสัมภาษณ์ การเขียนสะท้อนความรู้สึก ภาพถ่าย ผลการศึกษา เป็นดังนี้
1)ได้โปรแกรมการอบรมจากการพิจารณาร่วมกันระหว่างครูแนะแนวและผู้วิจัย
2)ผู้เข้าร่วมการอบรมเห็นว่าการอบรมเป็นไปในทางที่ดี ได้รับความรู้ ประสบการณ์ บรรยากาศอบอุ่น เป็นกันเอง เกิดกำลังใจ และความมั่นใจในการทำงานแนะแนวต่อไป
ตอนที่ 3 การติดตามผลปฏิบัติงานหลังการอบรม หลังสิ้นสุดการอบรม 1 เดือน ผู้วิจัยได้ส่งแบบสอบถามไปยังครูแนะแนวผู้ร่วมการอบรม และหลังสิ้นสุดการอบรม 2 เดือน ได้ไปเยี่ยมโรงเรียนของครูแนะแนวผู้ร่วมการอบรม จำนวน 10 โรง เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้บันทึกการสัมภาษณ์ และภาพถ่าย ผลจากการเยี่ยมโรงเรียน
ผลจากการตอบแบบสอบถาม พบว่า
1)ครูแนะแนวมีความเห็นว่าการอบรมทำให้มีความรู้เพิ่มขึ้น ชัดเจน และสามารถนำไปใช้ประยุกต์ใช้ได้ด้วยความมั่นใจ
2)ปัญหาอุปสรรคในการทำงาน เป็นการทำงานไม่ตรงบทบาท ขาดบุคลากรรับผิดชอบโดยรง บทบาทขัดแย้งกับฝ่ายปกครอง มีภาระงานอื่นมาก และขาดความรู้ในบางเรื่อง
3)ครูแนะแนวต้องการให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นศูนย์ประสานงานในการอบรม เป็นศูนย์ข้อมูลแนะแนว และเป็นที่ปรึกษา
ผลจากการเยี่ยมโรงเรียน พบว่า
1)ครูแนะแนวส่วนใหญ่อุทิศตนให้กับงาน บริการแนะแนวที่นักเรียนใช้บ่อย คือ เรื่องการเรียนและการศึกษาต่อ ส่วนปัญหาของนักเรียนที่พบ คือ ความยากจน ผลการเรียนไม่ดี ชู้สาว และปัญหายาเสพติด
2)ได้นำความรู้จากการอบรมมาพัฒนางาน และเสนอข้อมูลไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง
3)อุปสรรคของงานแนะแนว คือ ขาดบุคลากรทางด้านแนะแนวโดยตรง ไม่มีความรู้ทางแนะแนว มีภาระงานสอนและงานอื่นมาก ผู้บริหารไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร

4)ได้ข้อเสนอแนะว่าควรมีกาสนับสนุนในการพัฒนางานและครูแนะแนว โดยมีการ อบรมเป็นระยะๆ ในรูปแบบที่เหมาะสม ได้ความรู้และแหล่งข้อมูลที่สามารถนำไปใช้จริง
ในมุมมองของผู้วิจัยข้อดีของการพัฒนาครูแนะแนวในครั้งนี้ คือ การมีส่วนร่วมในการอบรมของครูแนะแนว ทำให้ครูเกิดความรู้สึกว่าตนได้รับการยอมรับและเคารพในงานที่ปฏิบัติ จึงมีบรรยากาศทางวิชาการและมีความร่วมมือที่ดี บทบาทของผู้วิจัยที่เป็นทั้งผู้ให้คำปรึกษาและ ผู้อำนวยความสะดวก ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ที่ดี มีการแสดงความคิดเห็น จึงเป็นการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนางานแนะแนวอย่างแท้จริง สำหรับข้อจำกัดคือการคิด วิเคราะห์เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ที่ยังต้องใช้เวลาในการพัฒนา