งานวิจัย : การศึกษารูปแบบการบริหารการศึกษาสถาบันการศึกษาสงฆ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : กรณีศึกษามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลกรณราชวิทยาลัย
A STUDY OF THE MODEL OF EDUCATIONAL ADMINISTRATION AT THE MONASTERY INSTITUTE IN THE NORTHEAST : A CASE STUDY MAHACHULALONGKORN RAJWITTAYALAI
โดย :
 
บทคัดย่อ ภาษาไทย

   การวิจัยครั้งนี้เพื่อศึกษารูปแบบการบริหารการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีวัตถุประสงค์คือ 1) ศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหา และความต้องการ ในการบริหารการศึกษา 2) เสนอรูปแบบการบริหารการศึกษา และ 3) ศึกษาบทบาทของบุคลากรสถาบันการศึกษาสงฆ์ต่อการถ่ายทอดวัฒนธรรม วิธีดำเนินการวิจัยโดยศึกษาเอกสาร มีการเก็บข้อมูล 2 ครั้ง และระดมความคิดเห็นเพื่อเสนอรูปแบบโดยวิธีการสัมมนาการบริหารการศึกษา กลุ่มประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งแรกเป็นผู้บริหาร ระดับรองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี และผู้อำนวยการ 22 รูป/คน ครั้งที่สองเป็นผู้บริหาร ระดับรองอธิการบดี และผู้ช่วยอธิการบดี 5 รูป และมีการประชุมสัมมนาระดมสมองโดยมี ผู้บริหาร คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ 35 รูป/คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสัมภาษณ์ และสังเกตการณ์ แบบสอบถามซึ่งเป็นแบบตรวจสอบรายการ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัย
1) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีการบริหารการศึกษาแบบผสมผสานระหว่างระบบอุปถัมภ์ กับระบบราชการ มาเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐไม่อยู่ในระบบราชการ มีปัญหาและความต้องการ 4 ด้านคือ ด้านงบประมาณ ด้านอาคารสถานที่ ด้านบุคลากร และด้านการดำเนินงานและการบริหารงาน
2) รูปแบบการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย 3 กลุ่มงานคือ กลุ่มบริหารงานทั่วไป (ได้แก่สำนักงานวิทยาเขต) กลุ่มสนับสนุนวิชาการ(ได้แก่สำนักวิชาการวิทยาเขต) และกลุ่มจัดการเรียนการสอน(ได้แก่วิทยาลัยสงฆ์)
3) บทบาทของบุคลากรสถาบันการศึกษาสงฆ์ต่อการถ่ายทอดวัฒนธรรม พบว่า ระดับปฏิบัติอยู่ในระดับ “มาก” ทั้ง 3 ด้านคือ บทบาทต่อการดำเนินการดำเนินชีวิตของคน บทบาทต่อสังคม และบทบาทต่อพระพุทธศาสนา แต่บทบาทต่อการเมืองการปกครอง บทบาทต่อเศรษฐกิจมีระดับการปฏิบัติอยู่ในระดับน้อย