งานวิจัย : การทดสอบแบบปิรามิดด้วยคอมพิวเตอร์ในวิชาเคมีระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
The Computerized Pyramidal Testing in chemistry for Mathayom Suksa V.
โดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพศาล สุวรรณน้อย
 
บทคัดย่อ ภาษาไทย

   การวิจัยนี้เป็นการสร้าง และประเมินแบบทดสอบปิรามิดที่ดำเนินการสอบด้วยคอมพิวเตอร์สำหรับวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในเนื้อหาวิชา ว.033 เคมี ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เรื่องอัตราการเกิดปฏิกริยาเคมี กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยระยะที่ 1 เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ในจังหวัดขอนแก่นที่กำลังศึกษาอยู่ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2531 จำนวน 1,912 คน และกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยระยะที่ 2 เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสาธิต คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2531 จำนวน 40 คน
การวิจัยระยะที่ 1 เป็นการสร้างแบบทดสอบปิรามิด และพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมการดำเนินการสอบแบบทดสอบปิรามิด การสร้างแบบทดสอบพิจารณาคัดเลือกข้อสอบจากกลุ่มข้อสอบจำนวน 172 ข้อ ที่ผ่านการวิเคราะห์หาค่าพารามิเตอร์ด้วยโปรแกรม LOGIST V และตรวจสอบคุณสมบัติ Unidimensionality ของแบบทดสอบโดยวิเคราะห์ตัวประกอบ (Factor Analysis) ด้วยโปรแกรม SPSSX คัดเลือกข้อสอบจำนวน 111 ข้อ จากจำนวน 172 ข้อ เพื่อสร้างแบบทดสอบจำนวน 3 ฉบับ คือ ฉบับที่ 1 เป็นแบบทดสอบปิรามิดชนิด 8 ขั้น ที่มีขนาดขั้นคงที่ภายใต้กฎการแยกทางแบบเพิ่ม 1/ลด 1 จำนวน 36 ข้อ ซึ่งมีค่าความยากระหว่าง -1.7187 ถึง 1.7656 และมีค่าความยากเฉลี่ยเท่ากับ -0.0076 ฉบับที่ 2 เป็นแบบทดสอบปิรามิดชนิด 5 ขั้น ที่มีข้อสอบชุดละ 3 ข้อในแต่ละขั้นและมีขนาดขั้นคงที่ภายใต้กฎการแยกทางแบบเพิ่ม 1/ลด 1 จำนวน 45 ข้อ มีค่าความยากระหว่าง -2.1866 ถึง 2.0654 และมีค่าความยากเฉลี่ยเท่ากับ 0.0079 และฉบับที่ 3 เป็นแบบทดสอบดั้งเดิมจำนวน 30 ข้อ ซึ่งมีค่าความยากระหว่าง -2.4242 ถึง 2.1994 และมีค่าความยากเฉลี่ยเท่ากับ 0.4345
การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมการดำเนินการทดสอบ แบบทดสอบปิรามิดทั้งสองฉบับที่สร้างขึ้นนี้ ผู้วิจัยใช้วิธีเขียนโปรแกรมซ้อน บนโปรแกรมสำเร็จรูป dBASE III การ แสดงผลภาษาไทยทางจอภาพ ใช้ระบบภาษาไทย 25 บรรทัด รหัสของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.)
การวิจัยระยะที่ 2 เป็นการประเมินแบบทดสอบปิรามิดที่ดำเนินการสอบ ด้วยคอมพิวเตอร์ และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่พัฒนาขึ้น การประเมินแบบทดสอบปิรามิดด้วยเกณฑ์เชิงความเป็นไปได้นี้ใช้เกณฑ์ความตรง เชิงสัมพันธ์กับเกณฑ์ โดยใช้ระดับคะแนนวิชาเคมีเป็นเกณฑ์ ความตรงเชิงสัมพันธ์กับเกณฑ์นี้ใช้ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบ Pearson Product Moment ระหว่างคะแนนผลการสอบจากแบบทดสอบ กับระดับคะแนนวิชาเคมี ซึ่งวิเคราะห์โดยใช้โปรแกรม MICROSTAT ทดสอบความแตกต่างระหว่างค่าความตรงเชิงสัมพันธ์กับเกณฑ์โดยใช้ t-test การประเมินด้วยเกณฑ์เชิงจิตสังคมใช้ผลจากการตอบแบบสอบถามความคิดเห็น ของนักเรียนที่มีต่อการทดสอบแบบปิรามิดด้วยคอมพิวเตอร์ การประเมินด้วยเกณฑ์เชิงค่าใช้จ่ายโดยการเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการสร้าง การดำเนินการสอบ และผลที่ได้รับในระยะยาวระหว่างแบบทดสอบปิรามิด กับแบบทดสอบดั้งเดิม การประเมินโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่พัฒนาขึ้นนี้ พิจารณาจากผลการตรวจสอบทางด้านเทคนิค และด้านการนำไปใช้
ผลการประเมินพบว่า แบบทดสอบทั้งสามฉบับคือ แบบทดสอบปิรามิดฉบับที่ 1 ปิรามิดฉบับที่ 2 และแบบทดสอบ ดั้งเดิมมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.84, 0.98 และ 0.88 ตามลำดับ ซึ่งมีค่าสูงกว่าเกณฑ์อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 โดยที่แบบทดสอบปิรามิดฉบับที่ 2 มีความเชื่อมั่นสูงสุดอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01 แต่ไม่พบความแตกต่างระหว่างความเชื่อมั่นของแบบทดสอบปิรามิดฉบับที่ 1 และแบบทดสอบดั้งเดิม นอกจากนี้ยังพบว่าแบบทดสอบทั้งสามฉบับดังกล่าว มีค่าสัมประสิทธิ์ความตรงเชิงสัมพันธ์กับเกณฑ์เท่ากับ 0.363, 0.416 และ 0.360 ตามลำดับ ซึ่งมีความตรงเชิงสัมพันธ์กับเกณฑ์แตกต่างจากศูนย์อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 และเมื่อเปรียบเทียบค่าสัมประสิทธิ์ความตรงเชิงสัมพันธ์กับเกณฑ์ ระหว่างแบบทดสอบทั้งสามฉบับพบว่า แบบทดสอบปิรามิด ฉบับที่ 1 แบบทดสอบปิรามิดฉบับที่ 2 และแบบทดสอบดั้งเดิม มีประสิทธิภาพเชิงสัมพันธ์กับเกณฑ์ไม่แตกต่างกัน ผลการประเมินเชิงจิตสังคมพบว่า แบบทดสอบปิรามิดที่ดำเนินการสอบ ด้วยคอมพิวเตอร์มีประสิทธิภาพในด้านการนำไปใช้และนักเรียนมีทัศนคติที่ดี ต่อการทำแบบทดสอบปิรามิดที่ดำเนินการสอบด้วยคอมพิวเตอร์ ผลการประเมินเชิงค่าใช้จ่ายพบว่า เมื่อพิจารณาผลตอบแทนที่ได้รับ ในระยะยาวแล้ว แบบทดสอบปิรามิดที่ดำเนินการสอบด้วยคอมพิวเตอร์จะ ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่า และผลการประเมินประสิทธิภาพของ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่พัฒนาขึ้นพบว่า ไม่มีข้อผิดพลาดทางด้านเทคนิค ไม่มีปัญหาที่เกิดจากผู้ใช้ และมีความเที่ยงตรงในการทำงาน