งานวิจัย : พฤติกรรมการเข้าร่วมโครงการพัฒนาของชาวชนบทในจังหวัดขอนแก่น
The Behavior of The Villagers Participating in Community Development Projects of Khon Kaen Province
โดย :
 
บทคัดย่อ ภาษาไทย

   บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแรงผลักดันจากปัจจัยต่างๆ ในการเข้าร่วม โครงการพัฒนาของประชาชนในเขตชนบทของจังหวัดขอนแก่น และเพื่อเปรียบเทียบแรงผลักดันเหล่านั้นระหว่างกลุ่มต่างเพศและต่างระดับการศึกษา รวมทั้งการศึกษาปัญหาและอุปสรรคในการเข้าร่วมโครงการพัฒนา
กลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชนในเขตชนบทของจังหวัดขอนแก่น จำนวน 251 คน คือ จาก อำเภอเมืองขอนแก่น จำนวน 66 คน อำเภอหนองเรือ จำนวน 63 คน อำเภอน้ำพอง จำนวน 62 คน และอำเภอบ้านฝาง จำนวน 60 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล เป็นแบบสัมภาษณ์จำนวน 74 ข้อ และค่าสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่า t-test ผลการวิจัย พบว่า
1)ชาวชนบทส่วนใหญ่เห็นว่าสิ่งที่เป็นแรงจูงใจภายใน เช่น คำยกย่องชมเชยจากผู้อื่น ความภาคภูมิใจ การยอมรับนับถือจากผู้นำหมู่บ้าน เป็นต้น มีแรงผลักดันให้เข้าร่วมโครงการพัฒนามากที่สุด รองลงมาคือ แรงผลักดันจากสื่อสารมวลชน ส่วนสิ่งที่ชาวชนบทเห็นว่ามีแรง ผลักดันน้อยที่สุด คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ
2)แรงผลักดันฯ จากกลุ่มต่างๆ เมื่อพิจารณาเป็นรายกลุ่ม พบว่า กลุ่มผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน มีแรงผลักดันฯ มากที่สุด ในขณะที่กลุ่มเครือญาติมีญาติผู้ใหญ่เป็น ผู้ที่มีแรงผลักดันมากกว่าญาติอื่นๆ ในระหว่างกลุ่มเพื่อนด้วยกันชาวชนบทเห็นว่า เพื่อนบ้านมีแรงผลักดันฯ มากที่สุด ส่วนกลุ่มสื่อสารมวลชนพบว่า โทรทัศน์เป็นสื่อที่ชาวบ้านเห็นว่ามีแรง ผลักดันให้เข้าร่วมงานพัฒนามากกว่าสื่ออื่นๆ
3)การเปรียบเทียบความคิดเห็นระหว่างชาวชนบทเพศชายและหญิง พบว่า มีความ คิดเห็นแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 อยู่เพียง 2 ปัจจัย คือ แรงผลักดันให้ เข้าร่วมงานพัฒนาจากสื่อสารมวลชน และจากแรงจูงใจภายใน ส่วนเรื่องอื่นๆ มีความเห็นไม่ แตกต่างกัน ในขณะที่ชาวชนบทต่างระดับการศึกษากัน มีความคิดเห็นแตกต่างกันใน 2 เรื่อง เช่นกัน แต่ต่างประเภทกันคือ แรงผลักดันจากกลุ่มเพื่อนและจากกลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐ
4)ปัญหาและอุปสรรคในการเข้าร่วมโครงการพัฒนาชนบท พบว่า ชาวชนบทส่วนใหญ่ เห็นว่า สิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดเรียงตามลำดับดังนี้ การที่ชาวบ้านมองไม่เห็นประโยชน์จาก โครงการ การแตกความสามัคคีของชาวบ้านในระหว่างการร่วมโครงการ ขาดศรัทธาต่อผู้นำ โครงการ และโครงการพัฒนาเป็นอุปสรรคต่องานอาชีพ