งานวิจัย : การสำรวจสภาพปัญหาและความต้องการการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา
โดย : รองศาสตราจารย์ ดร.สันติ วิจักขณาลัญฉ์
 
บทคัดย่อ ภาษาไทย

   งานวิจัยเรื่องนี้มุ่งศึกษาสภาพปัจจุบัน (Status)และความต้องการ(Need)การจัดการเรียนการสอนบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภาคปลายปีการศึกษา 2542 กลุ่มตัวอย่างที่ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสำรวจ เป็นคณาจารย์ 16 คน และนักศึกษา 187 คน ซึ่งกลุ่มตัวอย่างคณาจารย์ใช้วิธีการสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการ ส่วนกลุ่มนักศึกษาใช้แบบสำรวจสภาพปัจจุบันและความต้องการการจัดการเรียนการสอนบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ แบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) แบบตรวจสอบรายการ (Checklist) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่า t แบบกลุ่มตัวอย่างเดียว (One Sample t-test) เพื่ออ้างอิงผลการวิจัยไปยังประชากรที่ศึกษา

ผลการศึกษาพบว่ามีสภาพปัจจุบันและความต้องการการจัดการเรียนการสอนบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีดังนี้

จากการวิจัยพบว่า ระดับสภาพปัจจุบันของการจัดการเรียนการสอนบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตามความคิดเห็นของคณาจารย์ในด้านระบบเครือข่ายและฮาร์ดแวร์ (Network and hardware) ระบบซอฟต์แวร์ช่วยการเรียนการสอน (Software) และระบบบุคลากรทางด้านคอมพิวเตอร์ (Peopleware) สรปุได้คือ ด้านระบบเครือข่ายและฮาร์ดแวร์สำหรับการประกอบการเรียนการสอน (Hardware and network) และกระบวนการผลิต คณาจารย์โดยส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ประกอบการเรียนการสอนและการผลิตสื่อการเรียนการสอนรวมทั้งอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในห้องเรียน จำนวนน้อยมาก มีความจำเป็นที่คณะศึกษาศาสตร์ควรสนับสนุนให้มีการปรับปรุงเครือข่ายคอมพิวเตอร์และจำนวนอุปกรณ์ทางด้านคอมพิวเตอร์ เพื่อช่วยในการเรียนการสอนอย่างเพียงพอ ด้านระบบซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการเรียนการสอน (Software) คณะศึกษาศาสตร์ไม่มีบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนให้บริการ รวมทั้งคณาจารย์ไม่สามารถผลิตบทเรียนเพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอนหรือให้ผู้เรียนนำไปศึกษาด้วยตนเอง แต่ระดับความต้องการจะอยู่ในระดับสูงมากในการนำบทเรียนตามลักษณะดังกล่าวมาใช้ประกอบการเรียนการสอน ลักษณะของบทเรียนต้องเปิดกว้างในด้านเนื้อหาสาระ ซึ่งไม่ควรจะเน้นเฉพาะในตำราที่สอน ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและเชื่อมโยงกับความรู้และประสบการณ์อื่นๆ ได้ สามารถให้ส่งเสริมผู้เรียนให้สามารถประเมินผลด้วยตนเอง (Self-assessment) ให้ผู้เรียนสามารถเรียนเป็นกลุ่ม (Collaborative) ได้ ช่วยพัฒนากระบวนการคิดวิเคราะห์ ให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ สามารถค้นหาคำตอบและทำความเข้าใจโดยผ่านกระบวนการวิจัยและสร้างความรู้ด้วยตนเองได้ และใช้เทคนิคการนำเสนอที่หลากหลาย ทั้งนี้ต้องเป็นบทเรียนที่ผ่านกระบวนการพัฒนาอย่างเป็นระบบตามวิธีการผลิตสื่อการเรียนการสอน ส่วนระบบบุคลากรทางด้านคอมพิวเตอร์ (Peopleware) สภาพปัจจุบันคณาจารย์ส่วนใหญ่ไม่มีทักษะและประสบการณ์ในการผลิตบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนรวมทั้งบทเรียนบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ จึงทำให้ไม่สามารถออกแบบระบบทั้งเนื้อหาสาระ การวัดและประเมินผล การออกแบบกิจกรรมต่างๆ ในบทเรียนได้ ซึ่งความต้องการในการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ทักษะ ทางด้านนี้ มีในระดับสูงมาก เสนอแนะว่าคณะศึกษาศาสตร์ควรมีหน่วยงานที่รับผิดชอบทางด้านนี้โดยตรง ควรมีนักเทคโนโลยีทางการศึกษา เพื่อช่วยในการผลิต คณาจารย์จะเป็นผู้ช่วยออกแบบเนื้อหาสาระ และกระบวนการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และควรเห็นความสำคัญของการประยุกต์ทางเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนการสอนอย่างจริงจัง

สำหรับกลุ่มนักศึกษา พบว่าการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนในคณะศึกษาศาสตร์ พบว่ามีปัญหาและอุปสรรค์ต่างๆ เช่นนักศึกษาไม่มีทักษะในการใช้คอมพิวเตอร์ มีเครื่องจำนวนน้อย ไม่เปิดโอกาสให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีได้ใช้ห้องปฏิบัติการ ไม่เปิดสอนในรายวิชาคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ซึ่งความต้องการการบริการทางด้านนี้มีสูงมาก ซึ่งสรุปผลในกรอบของระบบคอมพิวเตอร์ 3 ด้าน คือระบบเครือข่ายและฮาร์ดแวร์ และพบว่าสภาพปัจจุบันอยู่ในระดับน้อย กล่าวคือความพร้อมในด้านต่างๆ ของคณะศึกษาศาสตร์ที่จะให้บริการมีน้อยมาก

ส่วนระดับความต้องการด้านการจัดการเรียนการสอนบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์และฮาร์ดแวร์อยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนระดับสภาพปัจจุบันด้านการจัดการเรียนการสอนบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับระบบซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการเรียนการสอนอยู่ในระดับปานกลาง แต่ระดับความต้องการอยู่ในระดับมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนในรูปแบบต่างๆ ทั้งการเรียนรู้ด้วยตนเอง การที่ผู้สอนใช้ประกอบการเรียนการสอน

ส่วนระดับสภาพปัจจุบันด้านการจัดการเรียนการสอนบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับระบบบุคลากรทางด้านคอมพิวเตอร์ในกลุ่มตัวอย่างนักศึกษา อยู่ในระดับปานกลาง และระดับความต้องการด้านอยู่ในระดับมาก แต่จะเน้นการเรียนการสอนในรายวิชาคอมพิวเตอร์เพื่อให้เกิดทักษะทางด้านนี้ รวมทั้งการใช้ระบบเครือข่ายให้เกิดประโยชน์ในการสืบค้นข้อมูล