งานวิจัย : กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (National Qualifications Framework): กรณีศึกษากรอบคุณวุฒิทางการศึกษาของต่างประเทศ
The National Qualifications Framework : Lesson learned for Thailand
โดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริพงษ์ เพียศิริ
 
บทคัดย่อ ภาษาไทย

   การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ เพื่อศึกษากรอบคุณวุฒิทางการศึกษาของประเทศสก็อตแลนด์ และเพื่อสังเคราะห์เป็นข้อเสนอสำหรับการพัฒนากรอบคุณวุฒิทางการศึกษาของประเทศไทย โดยใช้วิธีการวิเคราะห์เอกสาร (Content Analysis) ได้ผลการวิจัยดังนี้
ประเทศสก็อตแลนด์ใช้กรอบคุณวุฒิแห่งชาติที่เรียกว่า The Scottish Credit and Qualifications Framework หรือ SCQF สร้างขึ้นโดยการนำเอาคุณลักษณะที่สำคัญของชาวสก็อตแลนด์มารวมกันทั้งหมด ภายในกรอบเดียว มีทั้งสิ้น 12 ระดับ โดยจะใช้ในการจัดการศึกษาและการฝึกอบรมในสก็อตแลนด์ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการพัฒนาและอธิบายบทบัญญัติต่างๆ ในโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย การศึกษาชุมชน และหลักสูตรการเรียนรู้แบบเน้นการทำงานเป็นฐาน (work-based learning) ตามความต้องการในท้องถิ่นและระดับชาติ ซึ่งในแต่ละหลักสูตรจะต้องมีระบบการประเมินผลผลิต และประกันคุณภาพอย่างเป็นระบบ ในทุกๆ ระดับอีกด้วย และผลลัพธ์การเรียนรู้แต่ละระดับคุณวุฒิของ SCQF จำแนกเป็นพิสัย (Domain) 5 ด้าน ดังนี้
1. ความรู้และความเข้าใจ (Knowledge and Understanding) ที่อยู่บนฐานของเนื้อหารายวิชา
2. การประยุกต์ใช้ความรู้และความเข้าใจ (Practice: Applied knowledge and understanding)
3. ทักษะกระบวนการคิดทั่วไป (Generic Cognitive Skills) เช่น การประเมิน การวิเคราะห์ วิจารณ์ เป็นต้น
4. ทักษะการคำนวณ การสื่อสาร และเทคโนโลยีสารสนเทศ (Communication, ICT and numeracy skills)
5. ทักษะการปกครองตนเอง ความสามารถ และการทำงานร่วมกับผู้อื่น (Autonomy, accountability and working with others)
และจากการศึกษากรอบคุณวุฒิแห่งชาติของประเทศสก็อตแลนด์มาทั้งหมด เห็นว่ามีข้อคิดข้อเสนอสำหรับประเทศไทยพอสังเขปดังนี้
1. ประเทศไทยควรมีกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ เช่น Thailand Qualifications Framework หรือ TQF เป็นต้น ที่ครอบคลุมทุกระบบการศึกษา ทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย ตาม พรบ.การศึกษาแห่งชาติ รวมทั้งควรกำหนดไว้ทุกระดับชั้นตั้งแต่การศึกษาปฐมวัย (อนุบาลศึกษา) การศึกษาขั้นพื้นฐาน (ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย) อาชีวศึกษา (ประกาศนียบัตรวิชาชีพ และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง) และอุดมศึกษา (ปริญญาตรี ประกาศนัยบัตรบัณฑิต ปริญญาโท ประกาศนัยบัตรบัณฑิตชั้นสูง ปริญญาเอก และหลังปริญญาเอก) ให้เป็นภาพรวมของคนไทยทั้งประเทศว่าจะมีคุณลักษณะอย่างไร ตามแนวคิดการเรียนรู้ที่เน้นผลผลิตเป็นฐาน (Outcome-Based Learning)
2. ประเทศไทยควรจัดตั้งคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (Thailand Qualifications Framework Partnership) ที่ประกอบด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรกลาง องค์กรมหาชน สถาบันศาสนา ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา ทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ผลผลิต เพื่อกำหนดกรอบคุณวุฒินี้ให้ครอบคลุมที่สุด รวมทั้งควบคุม ติดตาม และตรวจสอบไปด้วย
3. ประเทศไทยควรกำหนดให้ผู้เรียนสามารถโอนย้ายหน่วยกิตหรือข้ามระดับการศึกษาได้อย่างยืดหยุ่นตามศักยภาพของผู้เรียน ด้วยการทดสอบวัดความรู้ระดับชาติ ตามกรอบคุณวุฒินี้
4. ประเทศไทยควรใช้กรอบคุณวุฒิแห่งชาตินี้เป็นกรอบมาตรฐานของแรงงานไปด้วย สำหรับ นายจ้างผู้ประกอบการ ในการพิจารณารับเข้าทำงาน พิจารณาค่าจ้าง ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ
5. ประเทศไทยควรกำหนดระดับของผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning outcomes) ออกมาในแต่ละระดับชั้นตั้งแต่อนุบาลจนถึงปริญญาเอก โดยมีกรอบอธิบายคุณลักษณะ ตามมิติต่างๆ ตามแนวคิดทฤษฎีต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ด้านความรู้ (Knowledge and Understanding) ความคิด (Thinking) ทักษะ (Skill) และคุณธรรม (Ethic) เป็นต้น