งานวิจัย : ผลการใช้วิธีเรื่องราวทางสังคมกับนักเรียนออทิสติกในการรับรู้ด้านอารมณ์
Effect of Social Stories Method Utilization For Autistic Student In Emotional Perception
โดย : อาจารย์สาวิตรี วงศ์กิติรุ่งเรือง
 
บทคัดย่อ ภาษาไทย

   การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาผลการสอนทักษะทางสังคมสำหรับเด็กออทิสติกที่ได้รับการสอนโดยวิธีเรื่องราวทางสังคม 2) เพื่อเปรียบเทียบทักษะทางสังคมของเด็กออทิสติกก่อนและหลังการทดลองโดยวิธีเรื่องราวทางสังคม กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษา คือนักเรียนออทิสติกที่มีความบกพร่องด้านทักษะทางสังคมไม่มีภาษาพูด เป็นนักเรียนชาย ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวนหนึ่งคน ทำการทดลองใน
ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2549 ของศูนย์วิจัยและพัฒนาการจัดการศึกษาพิเศษแบบเรียนรวมสำหรับเด็กออทิสติก โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น เลือกโดยวิธีเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ แผนการสอนวิธีเรื่องราวทางสังคม แบบทดสอบความสามารถการรับรู้อารมณ์ของผู้อื่น และสื่อการสอนโดยวิธีเรื่องราวทางสังคม ประกอบด้วย รูปภาพและมีประโยคกำกับ แต่ละชุดประกอบด้วย เรื่อง
ดีใจ เรื่องเสียใจ เรื่องโกรธ เรื่องกลัว/ตกใจ ซึ่งผู้วิจัยได้สร้างและพัฒนาขึ้น จากการตรวจสอบเอกสาร ทฤษฎี เอกสาร ผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล

ผลการวิจัย
ในการศึกษาผลการใช้วิธีเรื่องราวทางสังคมกับนักเรียนออทิสติกในการรับรู้ด้านอารมณ์ พบว่า นักเรียนออทิสติกที่ได้รับการสอนทักษะทางสังคม โดยวิธีเรื่องราวทางสังคม มีทักษะทางสังคมในการรับรู้อารมณ์ของผู้อื่น ได้แก่ ดีใจ เสียใจ โกรธ กลัว/ ตกใจ ดีขึ้น ซึ่งจากการเปรียบเทียบทักษะทางสังคมของเด็กออทิสติกก่อนและหลังการสอนโดยใช้วิธีเรื่องราวทางสังคมปรากฏว่า ก่อนการทดลองนั้น นักเรียนทำแบบทดสอบ แล้วแปลความหมายของคะแนนจากแบบทดสอบความสามารถในการรับรู้อารมณ์ของผู้อื่น
คิดเป็นคะแนนร้อยละ 36 อยู่ใน ระดับควรปรับปรุง แต่หลังจากที่นักเรียนออทิสติกได้รับการสอนโดยวิธีเรื่องราวทางสังคม แล้วทำแบบทดสอบ เมื่อแปลความหมายของคะแนนจากแบบทดสอบความสามารถในการรับรู้อารมณ์ของผู้อื่นแล้วคิดเป็นคะแนนร้อยละ 71.67 อยู่ใน ระดับดี ซึ่งสูงกว่าก่อนการทดลอง

คำสำคัญ : เรื่องราวทางสังคม ทักษะทางสังคมของเด็กออทิสติก