งานวิจัย : ปัจจัยทางจิตสังคมของชาวบ้านกับประสิทธิภาพการพัฒนา.
The Psychosocial Factors of peasants and the Efficiency of development.
โดย :
 
บทคัดย่อ ภาษาไทย

    การวิจัยนี้เป็นการศึกษาปัจจัยทางจิตสังคมของชาวบ้านกับประสิทธิภาพในการพัฒนาโดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
1. เพื่อเปรียบเทียบสภาพการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคมของชาวบ้าน
2. เพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมต่อการพัฒนาของชาวบ้าน
3. เพื่อเปรียบเทียบทัศนคติที่เอื้อต่อการพัฒนาของชาวบ้าน
4. เพื่อเปรียบเทียบแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ของชาวบ้าน
5. เพื่อเปรียบเทียบค่านิยมในวิ๔ปฏิบัติของชาวบ้าน
วิธีการดำเนินการวิจัย
1. กลุ่มตัวอย่างคือ ชาวบ้านที่ประสบผลสำเร็จในการพัฒนา ได้แก่ ผู้นำ 18 คน หัวหน้าครอบครัว 97 คน และชาวบ้านหมู่บ้านที่ไม่ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาได้แก่ ผู้นำ 10 คน และหัวหน้าครอบครัว 69 คน
2. เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถาม แบบทดสอบแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ แบบวัดทัศนคติที่เอื้อต่อการพัฒนา และแบบวัดค่านิยมในวิถีปฏิบัติ
3. การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ ค่าร้อยละ Fisher Exact Probality Test T - test และ Median test
ผลการวิจัย
1. ชาวบ้านหมู่บ้านที่ประสบผลสำเร็จในการพัฒนา และหมู่บ้านที่ไม่ประสบผลสำเร็จมีสภาพการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคมไม่แตกต่างกัน แต่ชาวบ้านในหมู่บ้านที่ประสบผลสำเร็จมีประสบการณ์นอกหมู่บ้านสูงกว่า
2. ชาวบ้านหมู่บ้านที่ประสบผลสำเร็จในการพัฒนา มีการร่วมกลุ่มกิจกรรมทั้งทางเศรษฐกิจ และสังคมมากกว่าหมู่บ้านที่ไม่ประสบผลสำเร็จ
3. ชาวบ้านทั้งสองหมู่บ้าน มีทัศนคติทางบวกต่อการพัฒนา ยกเว้นในเรื่องการมีเส้นสายพวกพ้อง การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายในบางกรณี และการไม่คัดค้านผู้มีอำนาจ ซึ่งเป็นทัศนคติทางลบต่อการพัฒนา
4. ชาวบ้านทั้งสองหมู่บ้านมีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ในระดับต่ำ และหัวหน้าครอบครัวของหมู่บ้านที่ประสบความสำเร็จ และหมู่บ้านที่ไม่ประสบความสำเร็จ มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
5. ผู้นำทั้งสองหมู่บ้านมีค่านิยมในวิถีปฏิบัติ ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่กลุ่มหัวหน้าครอบครัวมีค่านิยม ความรักใคร่ชอบพอสนิทสนม และความคิดสร้างสรรค์แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคํญทางสถิติที่ระดับ .05 แต่ค่านิยมทั้งสองไม่ใช่ค่านิยมระดับสูงที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและพบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ให้ความสำคัญ ค่านิยมสัมพันธภาพมากกว่าค่านิยมความสามารถ
ผลการวิจัยไม่สนับสนุนสมมติฐานของการวิจัย ยกเว้นเรื่องพฤติกรรมต่อการพัฒนาและการวิจัยนี้ได้สรุปว่าปัจจัยทางจิตสังคมของชาวบ้านนั้น มีความเกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพในการพัฒนาไม่มากนัก และพบว่าปัจจัยที่เกี่ยวข้องน่าจะเป็น (1) ความสามารถของกลุ่มผู้นำ (2) การให้ความเอาใจใส่งานพัฒนาของเจ้าหน้าที่ และ (3) การให้ความร่วมมือของชาวบ้านในงานพัฒนา