งานวิจัย : การประเมินผลโครงการฝึกอบรมเยาวชนต้านภัยยาเสพติด "ค่ายเติมจิตให้เข้มแข็ง"
Evaluation of Youth Training Against Drug Project
โดย :
 
บทคัดย่อ ภาษาไทย

   บทคัดย่อ

ชื่อโครงการ การประเมินผลโครงการฝึกอบรมเยาวชนต้านภัยยาเสพติด
“ค่ายเติมจิตให้เข้มแข็ง”
Evaluation of Youth Training Against Drug Project

ชื่อผู้วิจัย รองศาสตราจารย์ ดร.นีออน พิณประดิษฐ์

การวิจัยนี้เป็นการประเมินโครงการฝึกอบรมเยาวชนต้านภัยยาเสพติด “ค่ายเติมจิตให้เข้มแข็ง” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินความรู้เกี่ยวกับสารเสพติดและทัศนคติต่อสารเสพติดของเยาวชนที่เข้ารับการอบรม 2) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนกับพ่อแม่ก่อนการฝึกอบรมและหลังฝึกอบรมและ 3) ศึกษาความคิดเห็นของเยาวชนและผู้ปกครองที่มีต่อโครงการค่ายเติมจิตให้เข้มแข็ง กลุ่มเป้าหมายที่ศึกษามี 2 กลุ่มคือ กลุ่มเยาวชนที่เข้ารับการอบรมตลอด 3 วัน มีจำนวน 69 คน เป็นชาย 29 คน หญิง 40 คน และกลุ่มผู้ปกครองที่เข้าร่วมโครงการในวันที่สาม จำนวน 56 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการให้เยาวชนตอบแบบสอบถามก่อนการอบรม ให้สัมภาษณ์หลังการอบรมและตอบแบบสอบถามที่ส่งไปทางไปรษณีย์ หลังการอบรม 1 เดือน ส่วนผู้ปกครองได้รับการสัมภาษณ์ในวันที่เข้าร่วมโครงการ
ผลการวิจัยที่สำคัญมีดังนี้
1. ความรู้เกี่ยวกับสารเสพติด คะแนนเฉลี่ยของความรู้เกี่ยวกับสารเสพติดของเยาวชน ค่อนข้างสูง เพื่อเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยก่อนและหลังการฝึกอบรมไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในกลุ่มรวมและกลุ่มย่อยชายและหญิง แต่พบว่า กลุ่มที่ได้คะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยตั้งแต่ก่อนการอบรม มีคะแนนความรู้ สูงขึ้น หลังการอบรมอย่างมีนัยสำคัญ
2. ทัศนคติต่อสารเสพติด คะแนนเฉลี่ยของทัศนคติต่อสารเสพติดของเยาวชนอยู่ในระดับ ปานกลาง เมื่อเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยก่อนและหลังการฝึกอบรมไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในกลุ่มรวมและกลุ่มย่อยชายและหญิง
3. ความสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนกับผู้ปกครอง คะแนนเฉลี่ยของความสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนกับผู้ปกครองทั้ง 2 แบบคือแบบรักสนับสนุนและแบบใช้เหตุผลอยู่ในระดับค่อนข้างมาก เมื่อเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยก่อนและหลังการฝึกอบรมแล้ว 1 เดือน ไม่พบความแตกต่างอย่าง มีนัยสำคัญ ทั้งในกลุ่มรวมและกลุ่มย่อยชาย-หญิง และทั้งความสัมพันธ์แบบรักสนับสนุนและแบบใช้เหตุผล แต่เมื่อวิเคราะห์ในกลุ่มย่อยที่ได้รับความสัมพันธ์แบบรักสนับสนุน น้อย พบว่า คะแนนเฉลี่ย สูงขึ้น เมื่อผ่านการอบรมไปแล้ว 1 เดือน น่าจะเป็นผลของการฝึกอบรมที่มี การอบรมผู้ปกครองในวันที่สามของการอบรม ช่วยให้ผู้ปกครองให้ความรักสนับสนุนแก่เยาวชนเพิ่มขึ้น
4. ความคิดเห็นของเยาวชนต่อโครงการ “ค่ายเติมจิตให้เข้มแข็ง” ระยะเวลาการอบรม 3 วัน เหมาะสมดีแล้ว เยาวชนได้รับความรู้เกี่ยวกับยาเสพติด ช่วยป้องกันตนให้พ้นจากยาเสพติด และเสนอแนะให้ทำกิจกรรมนอกห้องประชุมสลับกับกิจกรรมในห้องประชุม

ข้อเสนอแนะที่สำคัญมีดังนี้
1. การจัดการอบรมควรเน้นสร้างทัศนคติที่ถูกต้องต่อสารเสพติด โดยให้เยาวชนได้อภิปราย เล่นสวมบทบาทและสรุปประเด็นสำคัญด้วยตนเอง
2. การอบรมผู้ปกครองควรเน้นการสร้างความสัมพันธ์แบบรักสนับสนุนและแบบใช้เหตุผลกับเยาวชน เพราะความสัมพันธ์ทั้งสองแบบนี้จะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดให้แก่เยาวชนได้