งานวิจัย : ค่านิยมและระบบค่านิยมของอาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น
Values and Value Systems of University Teachers and Students.
โดย :
 
บทคัดย่อ ภาษาไทย

    การวิจัยนี้เป็นการศึกษาระบบค่านิยม ค่านิยมทางการเมืองและทัศนคติทางการเมืองของอาจารย์และนักศึกษาในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ดังมีจุดมุ่งหมายต่อไปนี้
1. เพื่อศึกษาเปรียบเทียบระบบค่านิยมจุดหมายปลายทางชีวิตและวิถีปฏิบัติระหว่างนักศึกษาปีหนึ่ง กรรมการนักศึกษา และอาจารย์ผู้บริหาร
2. เพื่อศึกษาค่านิยมที่ขัดแย้งกัน และค่านิยมที่ตรงกันในระบบค่านิยมของนักศึกษาปีหนึ่ง กรรมการนักศึกษา และอาจารย์ผู้บริหาร
3. เพื่อศึกษาระบบค่านิยมของนักศึกษาที่มีภูมิหลังแตกต่างกัน
4. เพื่อศึกษาค่านิยมทางการเมือง และทัศนคติทางการเมืองของอาจารย์และนักศึกษา

วิธีดำเนินการวิจัย
1. กลุ่มตัวอย่างคือ อาจารย์บริหารในมหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวน 108 คน กรรมการนักศึกษาจำนวน 135 คน นักศึกษาปีหนึ่งจำนวน 157 คน รวมตัวอย่างประชากรที่ใช้ในการวิจัยทั้งสิ้น 400 คน การเก็บข้อมูลแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2525
2. เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบวัดค่านิยมและแบบสอบถามทัศนคติทางการเมืองที่ผู้วิจัยสร้างขึน
3. การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ Madian Test, Analysis of Variance Newman - Keuls การหาค่าร้อยละ และการวิเคราะห์เนื้อหา

ผลการวิจัย
1. ในระบบค่านิยมของอาจารย์ ค่านิยมส่วนบุคคลและค่านิยมสัมพันธภาพถูกจัดเป็นค่านิยมที่มีระดับความสำคัญสูง ได้แก่ ความสุขในชีวิตครอบครัว ความสำเร็จในชีวิต และความภาคภูมิใจในตัวเอง เป็นค่านิยม 3 อันดับแรกของค่านิยมจุดหมายปลายทางชีวิต ความรับผิดชอบ การเป็นตัวของตัวเอง และความซื่อสัตย์ เป็นค่านิยม 3 อันดับแรกของค่านิยมวิถีปฏิบัติสำหรับกรรมการนักศึกษา ค่านิยมส่วนสังคมและค่านิยมความสามารถถูกจัดเป็นค่านิยมที่มีความสำคัญสูงได้แก่ โลกที่มีสันติสุข ความมั่นคงของประเทศ และความสำเร็จในชีวิต เป็นค่านิยม 3 อันดับแรกของค่านิยมจุดหมายปลายทางชีวิต การเป็นตัวของตัวเอง ความรับผิดชอบ และความซื่อสัตย์ เป็นค่านิยม 3 อันดับแรกของค่านิยมวิภีปฏิบ้ติ นอกจากนั้นนักศึกษาปีหนึ่งได้ให้ความสำคัญต่อค่านิยมส่วนบุคคลมากกว่าค่านิยมสังคม โดยมีความสำเร็จในชีวิต ความสุขในชีวิตครอบครัว และความมั่นคงของประเทศ เป็นค่านิยม 3 อันดับแรกของค่านิยมจุดหมายปลายทางชีวิต สำหรับค่านิยมวิถีปฏิบัติให้ความสำคัญค่านิยมสัมพันธภาพมากกว่าค่านิยมความสามารถ โดยมีการเป็นตัวของตัวเอง ความกตัญญูรู้คุณ และความรับผิดชอบ เป็นค่านิยม 3 อันดับแรก
ผลการวิจัยได้พบความแตกต่างของระบบค่านิยมระหว่าง 3 กลุ่ม สนับสนุนสมมติฐานของการวิจัย
2. ค่านิยมที่ขัดแย้งกัน ระหว่างอาจารย์และนักศึกษาคือ ค่านิยมที่อาจารย์ให้ความสำคัญสูงกว่า ได้แก่ การมีชีวิตที่สบายพอควร ความเป็นปราชญ์เป็นผู้รู้ดี ความสุขในชีวิตครอบครัว ค่านิยมที่นักศึกษาให้ความสำคัญสูงกว่าคือ ความรักอิสระเสรี โลกที่มีสันติสุข ค่านิยมที่นำมากล่าวไว้นี้ เฉพาะค่านิยมที่อยู่ในความสำคัญระดับสูงเท่านั้น นอกเหนือจากนี้ยังมีค่านิยมที่ขัดแย้งกันระหว่างอาจารย์และนักศึกษาอีก
3.ระบบค่านิยมของนักศึกษาที่มีภูมิหลังต่างกัน ผลการวิจัยพบว่าเมื่อเปรียบเทียบระบบค่านิยมระหว่างนักศึกษาชายและนักศึกษาหญิง มีค่านิยมที่แตกต่างกันเพียง 8 ค่านิยม จาก 43 ค่านิยม และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างอาชีพบิดาที่แตกต่างกัน พบว่า กลุ่มบุตรข้ราชการให้ความสำคัญในค่านิยมความกตัญญูสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ และไม่พบความแตกต่างในระบบค่านิยม เมื่อเปรียบเทียบระหว่างภูมิลำเนาเดิม
4. อาจารย์ให้ความสำคัญค่านิยมทางการเมืองน้อยกว่านักศึกษา และพบว่า กลุ่มกรรมการนักศึกษาให้ความสำคัญค่านิยมทางการเมืองสูงกว่าทุกกลุ่ม สำหรับทัศนคติทางการเมือง พบว่า ทั้ง 3 กลุ่มมีทัสนคติทางการเมืองไปในทิศทางเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ แต่มีความแตกต่างในระดับความเข้มของทัศนคติ ยกเว้นเกี่ยวกับการมีกฎเกณฑ์และระเบียบวินัยกลุ่มอาจารย์เห็นด้วยมาก แต่กลุ่มกรรมการนักศึกษาไม่เห็นด้วยและต้องการการมีสิทธิเสรีภาพมากกว่า ผลการวิจัยสนับสนุนสมมติฐานของการวิจัย