งานวิจัย : ปัจจยัเสี่ยงของการได้รับสารพิษในเด็กก่นอวัยเรียนจังหวัดขอนแก่น
Risk Factors of Poison Exposure in Pre-school Children in Khon Kaen Province
โดย :
 
บทคัดย่อ ภาษาไทย

    งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาเชิงวิเคราะห์(Analytical study) เพื่อหาปัจจัยเสี่ยงในการได้รับสารพิษของเด็กก่อนวันเรียนในจังหวัดขอนแก่น โดยใช้ฐานข้อมูลเด็กต่ำกว่า 5 ปีที่ได้รับสารพิษจากโรงพยาบาลของรัฐระหว่าง กันยายน 2540 ถึงกุมภาพันธ์ 2542 เป็นกลุ่มตัวอย่างได้รับสารพิษ(Case)และกลุ่มควบคุม(Control)คือเด็กที่ไม่เคยเข้าโรงพยาบาลเนื่องจากการได้รับสารพิษ อายุมากหรือน้อยกว่าตัวอย่างได้รับสารพิษไม่เกิน 6 เดือน เพศเดียวกันและมีที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง โดยอัตราส่วน Case:Control=1:3 แล้วเก็บข้อมูลรายละเอียดของปัจจัยเสี่ยงแยกเป็น 3 ปัจจัย คือ ปัจจัยตัวเด็ก ปัจจัยสารพิษ และปัจจัยสิ่งแวดล้อม โดยการไปสัมภาษณ์ผู้ปกครองของเด็กที่บ้าน แล้วนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มได้รับสารพิษกับกลุ่มควบคุม ด้วยวิธี matched case control รวมมีจำนวนตัวอย่างกลุ่มได้รับสารพิษ 100 คน กลุ่มควบคุม 289 คน
ผลการวิจัยพบว่าจากการวิเคราะห์ตัวแปรเดี่ยว มีตัวแปรที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการได้รับสารพิษของเด็กก่อนวัยเรียนสำหรับปัจจัยผู้ได้รับสารพิษ(Host factors)คือ จำนวนพี่น้อง นิสัยชอบกินยา และนิสัยเมื่อพบเห็นสิ่งของแปลกเด็กจะรีบเข้าหาทันที สำหรับปัจจัยสารพิษ(Agent factors)คือตัวแปรการมีสารเคมีอยู่ในบ้านและที่อยู่อาศัย ลักษณะการเก็บสารเคมีที่มีในบ้าน ลักษณะการใช้งานสารเคมีใช้ในบ้าน ความถี่ในการใช้งานสารเคมี ลักษณะการเก็บยา/สมุนไพร/เครื่องสำอางเมื่อยังต้องการใช้ ลักษณะภาชนะบรรจุสารเคมี และลักษณะการทิ้งภาชนะบรรจุสารเคมี และสำหรับปัจจัยสิ่งแวดล้อม(Environment factors)คือตัวแปรบ้านที่มีการทิ้งภาชนะบรรจุสารเคมีใช้แล้วรอบบริเวณ รวมทั้งการดูแลเด็กอย่างไม่เหมาะสมและเพียงพอ
เมื่อวิเคราะห์พหุตัวแปรรวมทั้งหมดในขั้นสุดท้ายแล้วพบว่าเมื่อควบคุมให้ตัวแปรอื่นๆเท่ากันหมดแล้ว เหลือเพียงตัวแปรนิสัยชอบกินยาซึ่งเป็นปัจจัยตัวเด็ก (OR = 2.23, 95%CI = 1.44-3.45) ลักษณะการใช้งานสารเคมีใช้ในบ้านอย่างไม่ระมัดระวังซึ่งเป็นปัจจัยสารพิษ (OR = 3.04, 95%CI = 1.64-5.65) และบ้านที่มีกรท้งภาชนะบรรจุสารเคมีใช้แล้วรอบบริเวณซึ่งเป็นปัจจัยสิ่งแวดล้อม (OR = 2.36, 95%CI = 1.11-5.02) เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญยิ่งในการได้รับสารพิษของเด็กก่อนวัยเรียน
ด้วยเหตุนี้นักวิจัยจึงเสนอแนะว่าเพื่อป้องกันปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ผู้ปกครองไม่ควรอย่างยิ่งที่จะส่งเสริมนิสัยชอบกินยาของเด็ก เช่น หลอกให้เด็กกินยาโดยบอกว่าเป็นขนม ในขณะใช้สารเคมีใดๆผู้ปกครองจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กที่อยู่ในบ้านโดยเคร่งครัด และรัฐควรออกกฎหมายควบคุมสารเคมีที่มีอันตรายทุกชนิดที่มีการใช้ในบ้านที่มีเด็กเล็กดังนี้ คือ ภาชนะบรรจุจะต้องเป็นชนิดที่ป้องกันเด็กเปิดได้เอง(child resistant containers. CRCs)ฉลากบนภาชนะบรรจุต้องมีคำเตือนต่างๆ เช่นการปิดฝาภาชนะกลับคืนให้สนิททุกครั้งหลังการใช้และขณะที่ต้องการทิ้งทำลาย รวมทั้งมีคำเตือนและแนะนำวิธีการใช้ที่ปลอดภัยต่อเด็กเล็กในบ้าน นอกจากนี้ควรให้โรงงานผู้ผลิตสารเคมีอันตรายเป็นผู้รับซื้อภาชนะบรรจุคืนกลับไป นอกจากนี้นักวิจัยเห็นควรเน้นว่าการให้ความรู้แก่ผู้ปกครองเด็กให้เข้าใจถึงความสำคัญในการเอาใจใส่ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด และข้อปฏิบัติในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินเรื่องสารพิษ รวมทั้งการจัดสภาพแวดล้อมที่เด็กอยู่ให้ปลอดภัยอย่างเพียงพอเป็นเรื่องที่ละเลยไม่ได้