งานวิจัย : การรับร้เกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศของวัยรุ่น
Perception of Sexual Violence in Adolescence
โดย :
 
บทคัดย่อ ภาษาไทย

    การศึกษาการรับรู้เกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศของวัยรุ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอัตราวัยรุ่นที่มีปัญหาจากความรักความต้องการทางการเพศและพฤติกรรมรุนแรงทางเพศ การรับรู้พฤติกรรมรุนแรงทางเพศของวัยรุ่นที่มีปัญหาปัจจัยทางสังคมแตกต่างกัน ความคิดเห็นเกี่ยวกับวิธีการจัดการเมื่อวัยรุ่นมีปัญหาความรัก ความต้องการทางเพศและความรุนแรงทางเพศ และการศึกษาความต้องการของวัยรุ่นต่อบริการสนับสนุนและช่วยเหลือเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาทางเพศ เก็บข้อมูลโดยสำรวจใช้แบบสอบถามนักเรียนวัยรุ่นในโรงเรียนมัธยมศึกษาเขตอำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ทั้งในโรงเรียนรัฐบาลและเอกชน โดยการสุ่มตัวอย่างแบบ Stratified two - stages cluster sampling ได้จำนวน 2,014 คน ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือน ตุลาคม 2547 ถึง มีนาคม 2548 เครื่องมือที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นหาความเที่ยงโดยใช้สัมประสิทธิ์อับฟ่าของครอนบาธ์ ได้ค่าอัลฟ่า = 0.81 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา
ผลการศึกษาพบว่า วัยรุ่นมีประสบการณ์ด้านความรัก ร้อยละ 59.0 (1,133 คน) และในจำนวนนี้พบร้อยละ 94.6 มีปัญหาเมื่อมีความรัก (95% CI อยู่ระหว่างร้อยละ 93.0 - 96.3) พบวัยรุ่นจำนวน 169 คน คิดเป็นร้อยละ 7.9 ที่ประสบปัญหาความรุนแรงทางเพศ (95% CI อยู่ระหว่างร้อยละ 4.2 ถึง 11.6) ปัญหาที่ประสบมากคือ การถูกใช้สายตาแทะโลม รองลงมาคือจ้องมองอวัยวะเพศกับพูดจาสองแง่สองง่าม เป็นการถูกกระทำโดยเพื่อนและส่วนใหญ่เกิดขึ้นในที่สาธารณะ
การรับรู้ปัญหาความรักความต้องการทางเพศ พบว่า ส่วนใหญ่ให้เวลากับทางบ้านน้อยลง ใช้โทรศัพท์นานขึ้น การแก้ปัญหาส่วนใหญ่จะหากิจกรรมอื่นๆทำ เช่น การฟังเพลง รองลงมาคือ ข่มใจให้หาย ส่วนใหญ่รับรู้ปัญหาความรุนแรงทางเพศที่มีวัยรุ่นส่วนใหญ่เห็นว่าพฤติกรรมรุนแรงสาหัสมี 15 พฤติกรรม ได้แก่ การข่มขืน การทำแท้ง การพยายามข่มขืน การตัดอวัยวะเพศ การใช้เด็กเพื่อหาผลประโยชน์ทางเพศ การล่อลวงทางเพศ เป็นต้น เพศหญิงมีคะแนนการรับรู้มากกว่าเพศชาย 19.8 คะแนน (95% CI อยู่ระหว่าง 15.5 - 24.2) วัยรุ่นในกลุ่มที่มีลักษณะไม่ใช้สารเสพติด บุตรคนที่ 1 วัยรุ่นจากครอบครัวที่จัดการกับปัญหาความขัดแย้งโดยการพูดคุยปัญหา และตัดสินอย่างยุติธรรม และครอบครัวที่จัดการกับปัญหาความขัดแย้งด้วยการเฉยเงียบ ไม่พูดกัน รับรู้พฤติกรรมรุนแรงมากกว่าวัยรุ่นที่ไม่มีลักษณะดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) ความคิดเห็น วิธีการแก้ปัญหาจัดการของวัยรุ่นเมื่อเกิดความรุนแรงทางเพศ คิดว่าควรแก้ปัญหาโดยการบอกผู้ใหญ่ให้รับรู้ แจ้งตำรวจ แต่ในกลุ่มที่มีปัญหาเกิดขึ้น พบว่า ถ้าเป็นปัญหาเรื่องความรักปกติจะใช้วิธีการผ่อนคลาย ฟังเพลง ออกกำลังกาย ส่วนเมื่อเกิดปัญหาความรุนแรงทางเพศวัยรุ่นใช้วิธีบอกให้ผู้กระทำหยุดการกระทำ หาทางเอาตัวรอดด้วยคำพูด แก้ไขร่วมกับเพื่อน ส่วนควมต้องการบริการการสนับสนุนและแหล่งสนับสนุนช่วยเหลือสูงสุด คือ บริการความรู้ กฎหมายสิทธิเด็ก รองลงมาคือ บริการสุขภาพเด็กและเยาวชน และองค์กรดูแลสิทธิเด็กและเยาวชน