งานวิจัย : ผลกระทบทางจิตวิทยาของการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมอุตสาหกรรมต่อเยาวชนไทยและญี่ปุ่น
Psychological Impact of Industrialization on Thais and Japanese.
โดย :
 
บทคัดย่อ ภาษาไทย

    การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนสู่สังคมอุตสาหกรรมต่อปัจจัยทางจิตวิทยาของเยาวชนไทยและญี่ปุ่น กลุ่มตัวอย่างคือ นักเรียนมัธยมญี่ปุ่น 436 คน ไทย 444 คน สุ่มจากโรงเรียนที่อยู่ในระดับอุตสาหกรรมสูงและต่ำของญี่ปุ่นคือ โกเบกับวาดายาม่า และไทยคือกรุงเทพมหานครกับยโสธร ตัวแปรอิสระคือ ระดับอุตสาหกรรมเพศ ภูมิหลังครอบครัว ตัวแปรอธิบายคือ การอบรมเลี้ยงดูเด็ก 3 แบบคือ แบบรักสนับสนุน แบบใช้เหตุผล และแบบควบคุมตน ส่วนตัวแปรตามคือ การใช้เหตุผลเชิงจริยธรรม ทัศนคติต่อสังคมอุตสาหกรรม และค่านิยมในการทำงาน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติพารามิเตอร์หลายวิธีรวมทั้งการวิเคราะห์องค์ประกอบ และการวิเคราะห์ตัวแปรพหุคูณ
ผลการศึกษาที่สำคัญมีดังนี้ (1) การศึกษาเอกสารพบว่าปัจจัยที่ส่งเสริมและขัดขวางการเปลี่ยนสู่สังคมอุตสาหกรรมของไทยและญี่ปุ่นมีความแตกต่างกัน โดยที่ระดับอุตสาหกรรมของไทยยังต่ำกว่าญี่ปุ่นมาก ถึงแม้ว่าอัตราการเพิ่มของ GDP จะอยู่ในระดับเดียวกันก็ตาม และที่สำคัญประเทศไทยยังมีคนจำนวนน้อยอยู่ในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากการศึกษาวัฒนธรรมและบุคลิกภาพของคนไทยยังไม่เหมาะสมกับสังคมอุตสาหกรรม (2) ในสังคมไทยเน้นการเลี้ยงดูแบบรักและแบบใช้เหตุผล ส่วนในสังคมญี่ปุ่นเน้นการเลี้ยงดูแบบควบคุมตน และเยาวชนยโสธรได้รับการเลี้ยงดูแบบรักสูงกว่าเยาวชนกรุงเทพฯ แต่ไม่พบความแตกต่างระหว่างเยาวชนโกเบและเยวชนวาดายาม่า (3) เยาวชนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีระดับการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมอยู่ในชั้นที่ 3 คือ จริยธรรมของการรักษาความสัมพันธ์อันดีและการยอมรับจากผู้อื่น ในขณะที่เยาวชนไทยส่วนใหญ่อยู่ในขั้นที่ 4 คือ จริยธรรมของการรักษาอำนาจหน้าที่และระเบียบสังคม อย่างไรก็ตามอยู่ในระดับมีจริยธรรมตามกฎเกณฑ์เช่นเดียวกัน และไม่พบว่าเยาวชนญี่ปุ่นที่อยู่ในระดับอุตสาหกรรมต่างกันมีการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมต่างกัน แต่พบว่าเยาวชนกรุงเทพฯมีการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมสูงกว่าเยาวชนยโสธร (4) ทัศนคติต่อสังคมอุตสาหกรรมของเยาวชนญี่ปุ่นและไทยอยู่ในระดับค่อนข้างดี แต่เยาวชนไทยมีทัศนคติต่อสังคมอุตสาหกรรมดีกว่าเยาวชนญี่ปุ่น (5) เยาวชนไทยมีค่านิยมในการทำงานสูงกว่าเยาวชนญี่ปุ่น แต่คะแนนเฉลี่ยของทั้งสองกลุ่มอยู่ในระดับดีเช่นเดียวกัน และพบว่าในกลุ่มเยาวชนไทยที่มารดามีการศึกษาสูง มีการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมและค่านิยมในการทำงานสัมพันธ์กันสูง (6) ความสัมพันธ์ระหว่างการเลี้ยงดูแบบรักและแบบใช้เหตุผลพบในทุกตัวแปรอิสระ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มารดามีการศึกษาสูง มีความสัมพันธ์ระหว่างการเลี้ยงดู 2 แบบนี้สูง และในกลุ่มเยาวชนชายาวาดาม่าการเลี้ยงดูแบบใช้เหตุผลและแบบให้พึ่งตนเองสามารถทำนายค่านิยมในการทำงานได้ร้อยละ 11 ในกลุ่มรวมชาย - หญิงวาดายาม่า สำหรับกลุ่มเยาวชนชายกรุงเทพฯ การเลี้ยงดูแบบรักสามารถทำนายค่านิยมในการทำงานได้ร้อยละ 12 แต่ในกลุ่มเยาวชนชายยโสธร การเลี้ยงดูแบบใช้เหตุผลสามารถทำนายค่านิยมในการทำงานได้ 11 % ส่วนตัวแปรอื่นๆทำนายได้ต่ำกว่าร้อยละ 10 นอกจากนี้ผลการวิเคราะห์องค์ประกอบและการวิเคราะห์พหุคูณพบว่า การเลี้ยงดูมีผลต่อระดับการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมของเยาวชน กล่าวคือ ในเยาวชนไทยถ้าใช้การเลี้ยงดูแบบอบรมสั่งสอนอย่างมีเหตุผลมาก แบบปล่อยอิสระน้อยจะส่งเสริมระดับการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมของเยาวชน แต่ถ้าใช้การเลี้ยงดูแบบรักอย่างเดียวจะขัดขวางการพัฒนาการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรม ส่วนเยาวชนญี่ปุ่นการเลี้ยงดูแบบอบรมสั่งสอนอย่างมีเหตุผล การเข้าใจเด็กและการยอมรับให้เด็กมีอิสระและทำตามความตั้งใจจะส่งเสริมระดับการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรม ข้อเสนอแนะที่ได้จากการวิจัยครั้งนี้คือ (1) ในสังคมอุตสาหกรรมควรส่งเสริมการเลี้ยงดูแบบอบรมสั่งสอนอย่างมีเหตุผลและการยอมให้เด็กมีอิสระทำตามความตั้งใจ (2) ควรจัดโปรแกรมพัฒนาจริยธรรมและค่านิยมในการทำงาน ในกิจกรรมเสริมหลักสูตรของโรงเรียน (3) ในการศึกษาครั้งต่อไปควรศึกษาอิทธิพลของกลุ่มเพื่อน ครู และสื่อมวลชนที่มีระดับการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมของเยาวชน.