งานวิจัย : ความรู้ความ-ความเข้าใจและความต้องการในการทำวิจัยในชั้นเรียนของครูในเขตการศึกษา 9
Teachers' Research Knowledge and Need for Training on Classroom Research
โดย : รองศาสตราจารย์ ดร.คงศักดิ์ ธาตุทอง
 
บทคัดย่อ ภาษาไทย

   บทคัดย่อ: การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบระดับความรู้-ความเข้าใจ และระดับความต้องการเกี่ยวกับการอบรมการทำวิจัยในชั้นเรียนของครูในเขตการศึกษา 9 เพื่อกำหนดรูปแบบการฝึกอบรมการทำวิจัยในชั้นเรียนที่เหมาะสมของครูต่อไป กลุ่มตัวอย่าง เป็นครูจำนวน 2,852 คน แยกเป็นครูระดับประถมศึกษาและมัธยมขยายโอกาส (เฉพาะในเขตอำเภอเมือง) จำนวน1,408 คน และครูระดับมัธยมศึกษาจำนวน 1,444 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือแบบสำรวจ ความรู้-ความเข้าใจ และความต้องการฝึกอบรมการทำวิจัยในชั้นเรียน การวิเคราะห์ข้อมูลโดยนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์หาความถี่ ร้อยละ และ หาค่าสถิติพื้นฐาน ได้แก่ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยระหว่างกลุ่มโดยใช้ t-test, Kruskal-Wallis test, และDunnette T3 ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพ นำมาหาความถี่ สรุป ตีความ และรายงานผลร่วมกับข้อมูลเชิงปริมาณ ผลการวิจัยพบว่า ครูโรงเรียนประถมศึกษา มัธยมขยายโอกาส และครูมัธยมศึกษามีความคิดเห็นว่าการทำวิจัย มีความยาก สำคัญ จำเป็น และ มีประโยชน์ อยู่ในระดับมาก โดยครูระดับมัธยมศึกษาเห็นว่าการวิจัยมีประโยชน์ มีความจำเป็น และมีความสำคัญ มากกว่าครูระดับประถมศึกษาและครูมัธยมขยายโอกาส อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ครูทั้ง 3 ประเภทโรงเรียนและครูในแต่ละจังหวัดมีความคิดเห็นในเรื่องความยากของการทำวิจัยที่ไม่แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังพบว่าครูที่มีตำแหน่งต่างกัน มีความคิดเห็นว่าการวิจัยมีประโยชน์ มีความจำเป็น มีความสำคัญและความยากแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เมื่อเปรียบเทียบระหว่างเพศพบว่าครูเพศหญิงมีความคิดเห็นว่าการทำวิจัยมีความสำคัญ และ มีความยากมากกว่าครูเพศชายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และสิ่งที่น่าสนใจคือพบว่า ครูที่ไม่เคยทำวิจัยมีค่าเฉลี่ยของระดับความคิดเห็นที่ว่าการวิจัยมีประโยชน์และมีความยากมากกว่าค่าเฉลี่ยของระดับความคิดเห็นของครูที่เคยทำวิจัยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ครูในเขตการศึกษา 9 มีระดับความรู้-ความเข้าใจเกี่ยวกับการวิจัยอยู่ในระดับปานกลางค่อนไปทางน้อย ( = 2.67, SD=1.13) และระดับความต้องการในการฝึกอบรมการทำวิจัยอยู่ในระดับมาก ( = 4.08, SD=0.94)
รูปแบบการฝึกอบรม ครูส่วนมากต้องการให้จัดการฝึกอบรมปฏิบัติการ และให้แบ่งการอบรมออกเป็น 3 ช่วง ๆ คือ ก่อนทำวิจัย ระหว่างทำวิจัย และหลังทำวิจัย โดยต้องการให้ใช้ช่วงละ 3 วัน สำหรับวันที่ครูส่วนใหญ่ต้องการให้จัดการฝึกอบรมคือ ช่วงวันจันทร์-ศุกร์ และต้องให้จัดการฝึกอบรมในช่วงปิดภาคเรียน