งานวิจัย : โครงการประเมินผลการปฏิรูปการเรียนรู้จังหวัดขอนแก่น
An Evaluation of Education Reform in Khon Kaen Province.
โดย :
 
บทคัดย่อ ภาษาไทย

   งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์ในการประเมินผลการปฏิรูปการเรียนรู้ เพื่อประเมินความสำเร็จของการปฏิรูปการเรียนรู้ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 โดยศึกษาถึง 1) สภาพการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมหลังการปฏิรูปการเรียนรู้ของผู้เรียน ผู้สอน ผู้บริหารโรงเรียน รวมถึงภาพรวมของโรงเรียนทั้งด้านปริมาณและด้านคุณภาพ 2) ผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิรูปการเรียนรู้กับผู้เรียน 3) การเปลี่ยนแปลงของโรงเรียนที่มีความสำเร็จในการปฏิรูปตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ในระดับต่างๆ กัน การเก็บรวบรวมข้อมูลได้จากกลุ่มตัวอย่างซึ่งประกอบด้วยสถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดกรมสามัญศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน และสำนักบริหารการศึกษาท้องถิ่นโดยสุ่มอย่างง่ายตามสัดส่วนของสังกัดจำนวน 16 โรงเรียนและศึกษารายกรณี เพื่อทราบถึงบริบทและสภาพแวดล้อมของโรงเรียน การปฏิรูปการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นทั้งในระดับห้องเรียนและโรงเรียนในเรื่องกระบวนการเรียนรู้ แหล่งเรียนรู้ การวัดและประเมินผล ผลการเรียนรู้ การใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เรียนรู้ รวมถึงการศึกษาปัจจัยที่สนับสนุนหรือเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปการเรียนรู้ วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล ใช้วิธีการเชิงคุณภาพ ได้แก่การสัมภาษณ์ การสังเกตการณ์ในชั้นเรียน การจัดกลุ่มสนทนา การใช้แบบสอบถามปลายเปิด วิเคราะห์อนุทินของผู้สอนโดยออกตรวจเยี่ยมและเก็บรวบรวมข้อมูลจากโรงเรียนประมาณ 3 ครั้งต่อ 1 โรงเรียน
การวิเคราะห์ข้อมูลเป็นการวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการปฏิรูปการเรียนรู้ของผู้เรียน ครู/ผู้สอน และผู้บริหารโรงเรียนโดยวิเคราะห์เป็นรายโรงเรียน เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพและวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis) จากข้อมูลที่รวบรวมมาได้
ผลการวิจัยพบว่า
1. เงื่อนไขและปัจจัย
1) ในด้านของสังกัดที่แตกต่างกันมีความแตกต่างกันในด้านความตื่นตัวของบุคลากร
2) ขนาดของโรงเรียนที่แตกต่างจะมีจุดเน้นในการปฏิรูปการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน โรงเรียนขนาดใหญ่มีความพร้อมในการปฏิรูปมากกว่าและมีทิศทางที่ชัดเจนกว่าถ้าเทียบกับโรงเรียนเทศบาลขนาดเล็กและโรงเรียนสังกัดสำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติ
3) ลักษณะของบุคลากรและความพร้อม พบว่าครูที่เกิดความตระหนักจะติดตามข่าวสารข้อมูลด้วยตนเอง แต่รู้สึกว่ายังไม่ได้รับการอบรมจริงจัง ครูกลุ่มนี้ ร้อยละ 70 ได้รับการอบรมโดยตรงและทำงานเป็นระบบมากกว่า อายุเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการปฏิรูปการเรียนรู้ในหลายโรงเรียน บุคลากรที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ส่วนใหญ่จะไม่ให้ความสนใจกับกระบวนการใดๆ และร่วมมือในงานที่ผู้บริหารสั่งการ
4) นักเรียน พบว่าโรงเรียนในเมืองจะมีนักเรียนที่มีความพร้อมมากกว่านักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนชานเมืองในทุกด้าน
5) การสนับสนุนด้านทรัพยากร โรงเรียนเทศบาลมีโอกาสได้รับการสนับสนุนจากเทศบาล ซึ่งนับเป็นองค์กรท้องถิ่นที่มีบทบาทสำคัญมาก
2. กระบวนการเรียนรู้ ครู/อาจารย์มีความพยายามในการปรับกระบวนการเรียนการสอนให้ต่างไปจากเดิม โดยใช้วิธีการที่หลากหลาย การประเมินผลที่หลากหลาย ครู/อาจารย์ส่วนหนึ่งให้ความสนใจแต่ส่วนหนึ่งเห็นว่าเป็นภาระงานเพิ่มขึ้นโรงเรียนมีการสร้างความร่วมมือกับชุมชน ในด้านการพัฒนาบุคลากร ส่วนหนึ่งยังไม่ได้รับการอบรม
3. ผลการเรียนรู้ พบว่าระดับความสำเร็จในการปฏิรูปการเรียนรู้ที่มีประมาณร้อยละ 20 ส่วนครูเห็นว่าตนเองมีการพัฒนาบุคลิกภาพ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมร้อยละ 50 – 60 และเห็นพ้องกันว่าจะประสบผลตามวัตถุประสงค์ในอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้า