งานวิจัย : การประเมินโครงการรับน้องใหม่มหาวิทยาลัยขอนแก่นปีการศึกษา 2546
An Evaluation of the Freshmen – Welcoming Ceremony Project in Khon Kaen University,Academic year 2003.
โดย :
 
บทคัดย่อ ภาษาไทย

   งานวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินการดำเนินกิจกรรมและผลของกิจกรรมโครงการรับน้องใหม่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปีการศึกษา 2546
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในแต่ละโครงการมีดังนี้ โครงการกลุ่มสัมพันธ์ ได้แก่ นักศึกษาน้องใหม่และนักศึกษารุ่นพี่ กรรมการดำเนินงาน อาจารย์-ข้าราชการ ผู้ปกครอง จำนวน 525 คน โครงการไหว้เจ้าพ่อมอดินแดงและโครงการรวมช่อกาลพฤกษ์ที่ 40 ได้แก่ นักศึกษาน้องใหม่ นักศึกษารุ่นพี่ กรรมการดำเนินงาน รวม 449 คน โครงการเชียร์ร่วมระหว่างคณะ ได้แก่ นักศึกษาน้องใหม่ นักศึกษารุ่นพี่ กรรมการดำเนินงาน อาจารย์-ข้าราชการ รวม 525 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามที่คณะผู้วิจัยสร้างและปรับปรุงขึ้นจำนวน 3 ชุด นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS/PC+ โดยใช้การแจกแจงความถี่ ร้อยละ และตารางไขว้ ผลการวิจัย พบว่า
1. โครงการกลุ่มสัมพันธ์
1.1 ลักษณะของกลุ่มตัวอย่างพบว่าเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย มีจำนวนนักศึกษาน้องใหม่คิดเป็นร้อยละ 77.33 จาก 16 คณะที่เข้าร่วมกิจกรรม ส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ( 93.84 % ) และส่วนใหญ่เข้าร่วมกิจกรรมด้วยความสมัครใจ (97.29) ไม่มีคนใดถูกบังคับเข้าร่วมโครงการ
1.2 การดำเนินงานของโครงการนี้ ทุกกลุ่มตัวอย่างเห็นว่า มี 9 จาก 10 รายการอยู่ในระดับดี มี 1 รายการอยู่ในระดับพอใช้
1.3 ความเหมาะสมในการจัดดำเนินงานของโครงการนี้ ทุกกลุ่มตัวอย่างเห็นว่ามีความเหมาะสมในรูปแบบของกิจกรรมที่จัด วันที่จัด ระยะเวลาที่จัด และสถานที่จัด รวมทั้งเห็นว่ามีความคุ้มค่า (99.05%) ส่วนความไม่เหมาะสมได้แก่ สถานที่จัดร้อน ควรจัดในช่วงวันที่ 26-30 พฤษภาคม 2546 และใช้งบประมาณมากเกินไป
1.4 การเข้าร่วมกิจกรรมของนักศึกษาน้องใหม่ทุกกลุ่มตัวอย่างเห็นว่า บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการโดยทุกรายการอยู่ในระดับมาก
1.5 ทุกกลุ่มตัวอย่างเห็นว่าจุดเด่น 2 อันดับแรกของโครงการการนี้คือได้รู้จักเพื่อนใหม่เกิดความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้อง จุดที่ควรพัฒนา 2 อันดับแรกของโครงการนี้ คือ สถานที่ร้อน อาหารไม่อร่อย ข้อเสนอแนะต่อโครงการนี้ 2 อันดับแรก คือ ควรเปลี่ยนสถานที่จัด เพิ่มเวลาในการจัด
2. โครงการไหว้เจ้าพ่อมอดินแดงและโครงการรวมช่อกาลพฤกษ์ที่ 40
2.1 ลักษณะของกลุ่มตัวอย่างพบว่า เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย มีจำนวนนักศึกษาน้องใหม่ คิดเป็นร้อยละ 73.27 จาก 16 คณะและวิทยาเขตหนองคายที่เข้าร่วมกิจกรรมด้วยความสมัครใจ ( 96.66% ) มีส่วนน้อยที่ถูกบังคับเข้าร่วมโครงการ ( 0.30% )
2.2 การดำเนินงานของโครงการทั้งสองนี้ ทุกกลุ่มตัวอย่างเห็นว่ามี 9 จาก 10 รายการอยู่ในระดับดี มี 1 รายการอยู่ในระดับพอใช้
2.3 ความเหมาะสมในการจัดดำเนินงานของโครงการทั้งสองทุกกลุ่มตัวอย่างเห็นว่ามีความเหมาะสมในสถานที่จัด วันที่จัด รูปแบบของกิจกรรมที่จัดและระยะเวลาที่จัด รวมทั้งเห็นว่ามีความคุ้มค่า ( 95.55 % ) ส่วนความไม่เหมาะสม ได้แก่ ระยะเวลาควรจัด 2 วัน รูปแบบของกิจกรรมไม่ค่อยสนุก และไม่คุ้มค่า คือ บางคนไม่สนใจร่วมกิจกรรม
2.4 การเข้าร่วมกิจกรรมของนักศึกษาน้องใหม่ทุกกลุ่มตัวอย่างเห็นว่าบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการทั้งสองโดยทุกรายการอยู่ในระดับมาก
2.5 ทุกกลุ่มตัวอย่างเห็นว่าจุดเด่น 2 อันดับแรกของโครงการทั้งสองนี้ คือ เกิดความศรัทธาและเป็นสิริมงคล เกิดความสามัคคี จุดที่ควรพัฒนา 2 อันดับแรกของโครงการทั้งสองนี้ คือ ความตรงต่อเวลาและระยะเวลาที่ใช้ทำกิจกรรม การเดินทางไกลเกินไป ข้อเสนอแนะต่อโครงการทั้งสองนี้ 2 อันดับแรก คือ จัดกิจกรรมดีแล้ว ควรจัดกิจกรรมที่น่าสนใจเพิ่มขึ้น
3.โครงการเชียร์ร่วมระหว่างคณะ (เชียร์กลาง)
3.1 ลักษณะของกลุ่มตัวอย่างพบว่า เป็นเพศหญิงมากว่าเพศชาย มีจำนวนนักศึกษาน้องใหม่คิดเป็นร้อยละ 67.62 จาก 16 คณะ และวิทยาเขตหนองคายที่เข้าร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ( 92.11% ) และส่วนใหญ่เข้าร่วมกิจกรรมด้วยความสมัครใจ ( 90.14 % ) มีส่วนน้อยที่ถูกบังคับเข้าร่วมโครงการ ( 2.54 % )
3.2 การดำเนินงานโครงการนี้ทุกกลุ่มตัวอย่างเห็นว่าทั้ง 10 รายการอยู่ในระดับดี
3.3 ความเหมาะสมในการจัดดำเนินงานของโครงการนี้ทุกกลุ่มตัวอย่างเห็นว่า มีความเหมาะสมในสถานที่จัดกิจกรรม รูปแบบของกิจกรรมที่จัด วันที่จัด และระยะเวลาที่จัด รวมทั้งเห็นว่ามีความคุ้มค่า ( 89.14 % ) ส่วนความไม่คุ้มค่า คือ สิ้นเปลืองงบประมาณ
3.4 การเข้าร่วมกิจกรรมของนักศึกษาน้องใหม่ทุกกลุ่มตัวอย่างเห็นว่าบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการโดยทุกรายการอยู่ในระดับมาก
3.5 ทุกกลุ่มตัวอย่างเห็นว่าจุดเด่น 2 อันดับแรกของโครงการนี้ คือ เกิดความสามัคคี เกิดความรักเพื่อนและสถานบัน จุดที่ควรพัฒนา 2 อันดับแรกของโครงการนี้ คือ ความตรงต่อเวลาระยะเวลาที่ใช้ เวลาที่ซ้อมเพลงเชียร์น้อยเกินไป ข้อเสนอแนะต่อโครงการนี้ 2 อันดับแรก คือ ควรเพิ่มเวลาในการเชียร์ อยากให้จัดทุกปี