งานวิจัย : อาจารย์ที่ปรึกษาในมหาวิทยาลัยขอนแก่น : การศึกษา เกี่ยวกับรูปแบบการจัดบทบาท หน้าที่ และปัญหาในการให้คำปรึกษา
โดย :
 
บทคัดย่อ ภาษาไทย

   บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์
1. เพื่อศึกษารูปแบบของการจัดอาจารย์ที่ปรึกษาในคณะต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
2. เพื่อเปรียบเทียบบทบาท หน้าที่ของอาจารย์ที่ปรึกษาที่เป็นอยู่จริงและที่คาดหวัง ระหว่างทัศนะของอาจารย์ และทัศนะของนักศึกษา
3. เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของแต่ละรูปแบบการจัดอาจารย์ที่ปรึกษากับความแตกต่าง (discrepancy) ระหว่างการทำหน้าที่ของอาจารย์ที่ปรึกษาตามที่เป้นอยู่จริงกับที่คาดหวังของนักศึกษา
4. เพื่อศึกษาปัญหาจากฝ่ายศึกษา และอาจารย์ที่ปรึกษา

กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยได้ทำการสุ่มจากประชากร คือ นักศึกษาและอาจารย์ 12 คณะ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กลุ่มตัวอย่างเป็นอาจารย์ 254 คน และนักศึกษา 552 คน แบบสอบถามที่ใช้ในการวิจัย ผู้วิจัยได้สร้างขึ้นเอง สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ใช้สถิติการแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ , SD, Chi Square และ t-test





สรุปผลการวิจัย ในการวิจัยครั้งนี้ได้ผลดังนี้
1. รูปแบบของการจัดอาจารย์ที่ปรึกษาในคณะต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นนั้น มีด้วยกันทั้งหมด 5 รูปแบบ คือ
1.1 รูปแบบมีครูประจำชั้นควบคู่กับอาจารย์ที่ปรึกษา
1.2 รูปแบบที่อาจารย์ที่ปรึกษามีนักศึกษาเพียงชั้นปีเดียว แต่ดูแลไปจนกว่านักศึกษาจะจบการศึกษา
1.3 รูปแบบที่อาจารย์ที่ปรึกษามีนักศึกษาหลายชั้นปีในความดูแล
1.4 รูปแบบผสมผสานระหว่าง 1, 2 และ 3
1.5 รูปแบบที่มีอาจารย์ที่ปรึกษา 2 ชุด คือ เมื่อก่อนเลือกวิชาเอก และหลังหลังเลือกวิชาเอก
2. จากผลการวิเคราะห์เปรียบเทียบบทบาท หน้าที่ ของอาจารย์ที่ปรึกษาที่เป็นอยู่จริง และที่คาดหวังของนักศึกษา และอาจารย์ที่ปรึกษาในแต่ละรูปแบบปรากฏผลว่า
2.1 จากจำนวนคำถามที่เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่อาจารย์ที่ปรึกษา จำนวน 25 ข้อ นักศึกษาในแต่ละรูปแบบ มีความเห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ของอาจารย์ที่ปรึกษาที่เป็นจริง และที่คาดหวังไว้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เรียงลำดับดังนี้ รูปแบบที่ 1 แตกต่างกัน 9 ข้อ รูปแบบที่ 2 แตกต่างกัน 18 ข้อ รูปแบบที่ 3 แตกต่างกัน 21 ข้อ รูปแบบที่ 4 แตกต่างกัน 13 ข้อ รูปแบบที่ 5 แตกต่างกัน 24ข้อ
2.2 จากจำนวนคำถามที่เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของอาจารย์ที่ปรึกษาจำนวน 25 ข้อ อาจารย์ในแต่ละรูปแบบ มีความคิดเห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ของอาจารย์ที่ปรึกษาที่เป็นจริง และที่คาดหวังไว้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เรียงตามลำดับดังนี้
รูปแบบที่ 1 แตกต่างกัน จำนวน 11 ข้อ รูปแบบที่ 2 แตกต่างกัน จำนวน 21 ข้อ
รูปแบบที่ 3 แตกต่างกัน จำนวน 12 ข้อ รูปแบบที่ 4 แตกต่างกัน จำนวน 21 ข้อ
รูปแบบที่ 5 แตกต่างกัน จำนวน 22 ข้อ
3. หลังจากคำนวณค่า x2 แล้วพบว่า รูปแบบการจัดอาจารย์ที่ปรึกษาและความคิดเห็นของนักศึกษามีความสัมพันธ์ที่ระดับ .05 และจากการทดสอบสัดส่วนพบว่า รูปแบบที่ 1 เป็นรูปแบบที่มีปัญหาน้อยที่สุด เพราะจำนวนข้อของความแตกต่างต่างและความเป็นจริงไม่แตกต่างกัน มีมากที่สุด และรูปแบบที่ 5 มีปัญหามากที่สุด เพราะจำนวนข้อของความคาดหวังและความเป็นจริงแตกต่างกันมากที่สุด
4. ปัญหาของระบบอาจารย์ที่ปรึกษาถมทัศนะของนักศึกษาและอาจารย์ที่ปรึกษา
4.1 นักศึกษามีความเห็นว่าปัญหาสำคัญที่สุด คือ เรื่องการที่นักศึกษาไม่มีโอกาสได้เลือกอาจารย์ที่ปรึกษาด้วยตนเอง และปัญหารองลงมาตามลำดับ คือ เรื่องการที่อาจารย์ที่ปรึกษาไม่เห็นความสำคัญของการเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์ที่ปรึกษาไม่ใกล้ชิดนักศึกษา นักศึกษาขาดข้อมูลด้านต่าง ๆ และอาจารย์ที่ปรึกษาถือตัวไม่เป็นกันเองกับนักศึกษา
4.2 อาจารย์มีความเห็นว่าปัญหาที่สำคัญที่สุด คือ เรื่องการที่นักศึกษาไม่เข้าใจความสำคัญของอาจารย์ที่ปรึกษา ส่วนปัญหารอง ๆ ลงมาตามลำดับได้แก่ ปัญหาเรื่องการที่อาจารย์ที่ปรึกษามีงานอื่นล้นมือ ปัญหาเรื่องการขาดการประเมินการทำงานของอาจารย์ที่ปรึกษา การขาดการประสานงานด้านอาจารย์ที่ปรึกษา และปัญหาที่นักศึกษาปิดบังความจริงที่เกี่ยวกับตัวเอง