งานวิจัย : ผลการใช้เทคนิคการคิดแบบหมวกหกใบในการประเมินสื่อการเรียนรู้ รายวิชา 230503 กระบวนการจัดการเรียนรู้ หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาชีพครู คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
The Effects of Using The Six Thinking Hats Technique on Instructional Media Evaluation on The 230503 Instructional Organization Process Course of Graduate Diploma Program in Teacher Profession in Facu
โดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริพงษ์ เพียศิริ
 
บทคัดย่อ ภาษาไทย

   การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการใช้เทคนิคการคิดแบบหมวกหกใบในการประเมินสื่อการเรียนรู้ รายวิชา 230503 กระบวนการจัดการเรียนรู้ ในหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาชีพครู คณะศึกษาศาสตร์ ผู้วิจัยได้สร้างสื่อการเรียนรู้ PowerPoint และแบบประเมินสื่อการเรียนรู้ นำไปใช้จริงกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาชีพครู คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปีการศึกษา 2550 จำนวน 60 คน ได้ผลการวิจัยดังนี้
1) ข้อมูลเท็จจริงของสื่อการเรียนรู้ สื่อการเรียนรู้นี้เป็น PowerPoint จำนวน 60 สไลด์ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการผลิต การใช้ และการพัฒนาสื่อเรียนรู้ มีรูปภาพประกอบ มีเอกสาร พร้อมชี้แจงจุดประสงค์ และกิจกรรม ไว้ชัดเจน แต่ ขาดตัวอย่าง ภาพเคลื่อนไหว เสียง และเกมส์ที่ให้นักศึกษาได้เคลื่อนไหวร่างกาย
2) ความรู้สึกเกี่ยวกับสื่อการเรียนรู้ นักศึกษาชื่นชมว่า มีเนื้อหาเข้าใจง่าย มีภาพชัดเจน สวยงาม สนุกกับการเรียน แต่นักศึกษาก็ติติงว่าไม่มีภาพเคลื่อนไหว อาจารย์อธิบายเร็วเกินไป ทำให้นักศึกษาตามไม่ทัน และขาดการยกตัวอย่างบางสื่อการเรียนรู้
3) ข้อดี จุดเด่น ประโยชน์ของสื่อการเรียนรู้ ส่วนของเนื้อหาละเอียดชัดเจน อ่านเข้าใจง่าย มีการอ้างอิง ส่วนรูปภาพนั้นมีการใช้สีสันสะดุดตา สวยงาม น่าสนใจ อ่านง่าย และกิจกรรมการเรียนการสอนมีการแนะนำอาจารย์ผู้สอนด้วย มีการแจ้งจุดประสงค์ก่อนเรียน ชัดเจน มีกิจกรรมมีเกมส์ให้นักศึกษาร่วมสนุกอีกด้วย
4) ข้อบกพร่อง จุดอ่อน โทษของสื่อการเรียนรู้ ส่วนของเนื้อหามีจำนวนสไลด์มากเกินไป แต่เนื้อหายังไม่ลึกซึ้ง ขาดตัวอย่างสื่อต่างๆ ส่วนรูปภาพเห็นว่ามีจำนวนมาก และบางภาพยังไม่สอดคล้องกับเนื้อหา และสุดท้ายกิจกรรมการเรียนการสอนเห็นว่าอาจารย์พูดเร็ว สนใจแต่สื่อ เลยไม่ได้สนใจนักศึกษาเท่าที่ควร นักศึกษาเลยไม่ค่อยสนใจที่จะฟัง
5) แนวทางการพัฒนา ปรับปรุงสื่อการเรียนรู้ต่อไป ส่วนของเนื้อหาเสนอแนะว่าควรเพิ่มคำอธิบายพร้อมตัวอย่างสื่อให้ละเอียดมากขึ้นอีก ส่วนรูปภาพควรเพิ่มภาพตัวอย่างสื่อให้มากขึ้น และควรเพิ่มภาพเคลื่อนไหว และเสียงอีกด้วย และสุดท้ายในส่วนกิจกรรมการเรียนการสอนควรจะเลือกตัวอย่างสื่อการเรียนรู้ใดสื่อหนึ่งออกมาให้นักศึกษาได้ลองปฏิบัติจริง พร้อมทั้งมีกิจกรรมเกมเพิ่มขึ้น และอาจพัฒนาสื่อการเรียนรู้นี้เป็นสื่อการเรียนรู้แบบ e-Learning ด้วย
6) สรุปภาพรวมของสื่อการเรียนรู้ ต้องการให้คงไว้ในเรื่องของเนื้อหาและภาพประกอบที่ชัดเจนสวยงามน่าสนใจ และให้ปรับปรุงในส่วนของตัวอย่างสื่อการเรียนรู้แบบต่างๆ ให้มากขึ้น มีเนื้อหากระชับมากขึ้น และมีการตกแต่งสไลด์ให้น่าสนใจมากขึ้นอีกด้วย