งานวิจัย : Chaijaroen, Sumalee. (2540).THE RELATIONSHIP BETWEEN THE LEARNERS’ PRECONCEPTIONS AND SOCIAL ENVIRONMENTS OF LEARNING Journal: Journal of the National Research Council of Thailand Vol. 29 (1), 2540.
THE RELATIONSHIP BETWEEN THE LEARNERS’ PRECONCEPTIONS AND SOCIAL ENVIRONMENTS OF LEARNING
โดย : ศาสตราจารย์ ดร.สุมาลี ชัยเจริญ
 
บทคัดย่อ ภาษาไทย

   บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง แนวโน้มการรับรู้ (Preconception) ของผู้เรียน (ความยากง่าย ความชอบ ความคาดหวังในการเรียน ความกระตือรือร้น) ที่มีต่อกิจกรรมการใช้สื่อการสอน 5 ประเภท คือ การดูทีวี การใช้คอมพิวเตอร์ กิจกรรมการอ่าน กิจกรรมการเขียน และการบรรยายของครูกับสิ่งแวดล้อมของการเรียนรู้ (ค่านิยม เจตคติ และความมุ่งหวังที่มีต่อสื่อการสอน)
กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนโรงเรียนสาธิต คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปีการศึกษา 2539 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 222 คน และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 213 คน ซึ่งแต่ละระดับแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม เครื่องมือที่มีใช้ในการศึกษานี้ ประกอบด้วย สื่อการสอน 5 ประเภทสำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แบบสอบถามที่เกี่ยวกับแนวโน้มการรับรู้ของผู้เรียนที่มีต่อสื่อการสอน แบบสอบถามเกี่ยวกับค่านิยม เจตคติและความมุ่งหวังที่มีต่อสื่อการสอน แบบสัมภาษณ์ และแบบทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
ผลการวิจัยพบว่า มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญ ระหว่างแนวโน้มการรับรู้ทั้ง 4 ประการ คือ แม้ว่าการเรียนจากสื่อการสอนทั้ง 5 ชนิดจะยาก แต่ก็ชอบที่จะเรียน คาดหวังว่าจะเกิดการเรียนรู้ได้มาก และมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนจากสื่อการสอนนั้นๆ แต่ไม่พบความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญระหว่างแนวโน้มการรับรู้ทั้ง 2 ประการคือ ความชอบ และความกระตือรือร้น กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ยกเว้นความยากง่าย พบว่า มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในกลุ่มนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่เรียนจากการดูทีวี และการใช้คอมพิวเตอร์ และความคาดหวังในการเรียนมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในกลุ่มนักเรียนที่เรียนจากการบรรยายของครู สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กลุ่มที่เรียนจากกิจกรรมการอ่าน เกี่ยวกับความยากง่าย พบว่า มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ส่วนทางด้านค่านิยม เจตคติ และความมุ่งหวังต่อสื่อการสอน พบว่า มีความสัมพันธ์กันระหว่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ไม่พบว่ามีความสัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างแนวโน้มการรับรู้กับค่านิยม เจตคติและความมุ่งหวังต่อสื่อการสอน พบว่า ความกระตือรือร้นเท่านั้นที่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในกลุ่มนักเรียนที่เรียนจากการใช้คอมพิวเตอร์
จากผลการศึกษาเป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้เรียนยังให้ความสำคัญต่อการบรรยายของครู พบว่า ผู้เรียนชอบ คาดหวังว่าจะเรียนรู้ได้ดี และกระตือรือร้นที่จะเรียน ถึงแม้จะรับรู้ว่าการเรียนจากการบรรยายของครูยากต่อการทำความเข้าใจเพราะครูมักใช้การอธิบายเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้การบรรยายของครูยังเป็นกิจกรรมการเรียนการสอนหลักของโรงเรียนในสังคมไทย กอรปทั้งสภาพปัจจุบันเกี่ยวกับเทคโนโลยีการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับสภาพปัญหาและความต้องการเกี่ยวกับการใช้สื่อการเรียนได้ถูกนำมาพิจารณาว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่มีอิทธิพลต่อแนวโน้มการรับรู้ ค่านิยม เจคติ และความมุ่งหวังที่มีต่อสื่อการสอนของผู้เรียน