งานวิจัย : ปรัศณียา กองอาษา และสุมาลี ชัยเจริญ. (2546).ผลของการใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนแบบมัลติมีเดียที่พัฒนาตามแนวทางพุทธิปัญญาบนพื้นฐานการขยายความคิด การประชุมวิชาการเพื่อเสนอผลงานวิจัยทางการศึกษา ครั้งที่
โดย : ศาสตราจารย์ ดร.สุมาลี ชัยเจริญ
 
บทคัดย่อ ภาษาไทย

   บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนจากทฤษฎีการขยายความคิด เพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้ และศึกษาเกี่ยวกับความคิดเห็นของผู้เรียนที่มีต่อบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องคำศัพท์ วิชาภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนอนุบาลขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2544 ได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ประกอบด้วย บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่พัฒนาตามแนวทางการขยายความคิดแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก มีจำนวน 30 ข้อ ค่าความยากง่าย (p) ระหว่าง 0.21-0.70มีค่าอำนาจจำแนก(r) ของข้อสอบอยู่ระหว่าง 0.28-0.52 และค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบเท่ากับ 0.82 แบบสอบถามความคิดเห็นของผู้เรียน แบบสัมภาษณ์รูปแบบการเชื่อมโยงความรู้ตามแนวทางการขยายความคิด รูปแบบที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือ การวิจัยที่มีกลุ่มทดลองเพียง 1 กลุ่มมีการทดสอบก่อนและหลังการทดลอง ( One Group Pretest-Posttest Design)
การเก็บรวบรวมข้อมูลแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 ทำการศึกษานำร่อง(Pilot-Study) เกี่ยวกับรูปแบบการเชื่อมโยงความรู้ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 200 คน นำผลที่ได้มาใช้ในการออกแบบและสร้างบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนแบบมัลติมีเดียที่ออกแบบตามแนวทางการขยายความคิด ช่วงที่ 2 ทำการสร้างและพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนแบบมัลติมีเดียและนำไปทดสอบตามขั้นตอนเพื่อหาค่าประสิทธิภาพของบทเรียนปรากฏว่าบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนแบบมัลติมีเดีย เรื่องคำศัพท์ ในรายวิชาภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีค่าประสิทธิภาพกระบวนการ (E1) ต่อค่าประสิทธิภาพของผลลัพธ์ (E2) เท่ากับ 84.00/80.67 ช่วงที 3 ทำการศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน การเชื่อมโยงความรู้และความคิดเห็นของผู้เรียนทีมีต่อบทเรียนที่ออกแบบตามแนวทางการขยายความคิดการวิเคราะห์ข้อมูลดำเนินการดังนี้ 1) ข้อมูลปริมาณที่เป็นคะแนนจากการทดสอบใช้ค่า t (t-test) เพื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยหาคะแนนทดสอบก่อนและหลังเรียน 2) ข้อมูลเชิงคุณภาพที่ได้จากการสัมภาษณ์ใช้การอธิบายและตีความ
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนแบบมัลติมีเดียที่พัฒนาตามแนวทางการขยายความคิดเรื่อง คำศัพท์ ในรายวิชาภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปรากฏว่าค่าประสิทธิภาพของกระบวนการ (E1) ต่อ ค่าประสิทธิภาพของผลลัพธ์ (E2) หรือ (E1/E2) มีค่าเท่ากับ 87.40/81.76 ค่าดัชนีประสิทธิผล (E.I.) เท่ากับ 0.69 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น ค่าเฉลี่ยของคะแนนทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนเมื่อเปรียบเทียบโดยใช้การทดสอบค่า t (t-test) ปรากฏว่า ค่าเฉลี่ยแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
3. รูปแบบการเชื่อมโยงความรู้ตามแนวทางการขยายความคิดจากการสัมภาษณ์ ลักษณะสำคัญ ดังนี้
เด็กเก่ง: การเชื่อมโยงความรู้กับประสบการณ์เดิมและสิ่งคุ้นเคย ทั้งยังสามารถสร้างความหมายใหม่จากภาพที่กำหนดให้ 3 ภาพ เพื่อสร้างเป็นความเข้าใจตามความหมายของตนเอง
เด็กปานกลาง: การเชื่อมโยงความรู้กับประสบการณ์เดิมของตนเองโดยสร้างความหมายจากรูปภาพที่ครูกำหนดให้
เด็กอ่อน: การเชื่อมโยงความรู้โดยอาศัยความชื่นชอบในรายละเอียดของรูปภาพเพื่อนำไปสู่ความหมายของคำศัพท์
4. ความคิดเห็นของผู้เรียนที่มีต่อบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน พบว่าผู้เรียนมีความพึงพอใจ ในบทเรียนที่มีการนำเสนอเนื้อหา ได้อย่างน่าสนใจสามารถย้อนกลับไปทบทวนได้บ่อยเท่าที่ต้องการและรูปแบบของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนแบบมัลติมีเดียส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถควบคุมบทเรียนได้ด้วยตนเองจึงทำให้ผู้เรียนสามารถจัดการเรียนได้ตามความสามารถของตนเอง