งานวิจัย : โครงการสังเคราะห์องค์ความรู้ด้านประสาทวิทยศึกษาศาสตร์ : ความเป็นไปได้ในการใช้ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพในการวัดผลการเรียนรู้
โดย : รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนีย์ บุญเติม
 
บทคัดย่อ ภาษาไทย

   ปัจจุบันมีความก้าวหน้าในการศึกษาค้นคว้าทางด้านประสาทวิทยาศาสตร์(Neuroscience) ทำให้สามารถเข้าใจกลไกการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสมองขณะที่มนุษย์มีการเรียนรู้ในสถานการณ์ต่างๆ (Baddeley, 2003; Bekhtereva and the others, 2000 ; Flaherty,2005; Geake and Cooper ,2003; Goswami, 2006 ;2009; Haier and Jung 2008). ผู้ที่ทำหน้าที่จัดการเรียนรู้ทุกระดับจึงจำเป็นต้องมีความรู้ว่า สมองมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างในขณะที่ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ทั้งการเรียนรู้เชิงปัญญา เชิงอารมณ์ ตลอดจนการเรียนรู้ทักษะทางกายต่างๆ เพื่อจะได้จัดสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ตามศักยภาพและเต็มศักยภาพของผู้เรียนแต่ละคน นอกจากนี้ ความก้าวหน้าในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสมองในขณะเกิดการเรียนรู้โดยอาศัยการตรวจสอบระดับสารเคมีบางชนิดในร่างกาย ซึ่งถือเป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ(biomarker) นั้น หากวงการศึกษาสามารถใช้ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพเหล่านี้เป็นตัวบ่งชี้การเรียนรู้ของผู้เรียนได้ จะทำให้นักการศึกษาสามารถจัดการศึกษาได้อย่างมั่นใจว่าผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ได้จริง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยใช้องค์ความรู้จากประสาทวิทยาศาสตร์ หรือการจัดการศึกษา โดยการบูรณาการความรู้จากประสาทวิทยาศาสตร์ ตลอดจนความร่วมมือในการแสวงหาความรู้ข้ามสาขา ระหว่างประสาทวิทยาศาสตร์และศึกษาศาสตร์จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนของประเทศ