งานวิจัย : การพัฒนาหลักสูตรการการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติโดยใช้ "โคกภูตากา"เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับนักเรียนในเขต อำเภอภูเวียง
The Development of Integrated Curriculm of Natural resources Conservation Using Khok Phu Taka as a learning Resources for Schools in Phu Wieng Areas
โดย : รองศาสตราจารย์ ดร.คงศักดิ์ ธาตุทอง
 
บทคัดย่อ ภาษาไทย

   บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการและศึกษาความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องต่อแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการ เรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ “ป่าไม้โคกภูตากา“ โดยใช้ป่าไม้ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เขตพื้นที่โคกภูตากา เป็นแหล่งเรียนรู้ โดยใช้แนวคิดในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการ และการวิจัยปฏิบัติการ โดยดำเนินงานตามหลักการ การวิจัยของการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) ซึ่งประกอบด้วย การวางแผน การปฏิบัติ การสังเกต และ การสะท้อนผลการปฏิบัติ และการปรับปรุงแผนการปฏิบัติการ เพื่อการปฏิบัติการครั้งต่อไป (Kemmis & McTaggart, 1992) การดำเนินงานวิจัยในช่วงแรก เป็นการศึกษาข้อมูลพื้นฐานโดยให้นักเรียนเขียนเรียงความเกี่ยวภูตากาและการทำการสนทนากลุ่มกับผู้เกี่ยวข้อง กลุ่มเป้าหมายในช่วงแรกเป็นนักเรียน 30 คนที่ร่วมกิจกรรมการเขียนเรียง ผู้ร่วมสนทนากลุ่ม(Focus group) ประกอบด้วย เยาวชนจำนวน 10 คน ครู 7 คน ชาวบ้าน 10 คน จากพื้นที่รอบๆ โคกภูตากา อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ในช่วงที่สองเป็นการปฏิบัติการใช้แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในภาคสนาม ผู้ร่วมปฏิบัติการภาคสนาม คือ นักเรียนช่วงชั้นที่ 2 จำนวน 17 คน และ ครู จำนวน 6 คน จากโรงเรียนบ้านหนองบัว บ้านเมืองเก่าและบ้านหินร่อง อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แผนการจัดกิจกรรม แบบบันทึกความคิดเห็น การสนทนากลุ่ม เทป แบบสอบถาม และ กล้องถ่ายรูป การวิเคราะห์ข้อมูลโดยนำข้อมูลเชิงคุณภาพที่ได้มา ตีความ สรุป และ รายงานผลในเชิงบรรยาย ข้อมูลเชิงปริมาณ วิเคราะห์โดยการคำนวณ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลของการดำเนินการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1) ข้อมูลพื้นฐานพื้นที่โคกภูตากา ในอดีตป่าไม้โคกภูตากามีความอุดมสมบูรณ์มีพืชและสัตว์ป่าที่มีค่ามากมาย ในปัจจุบันป่าจะเสื่อมโทรมไปมากแล้ว จากร่องรอยและคำบอกเล่าป่าแห่งนี้เคยมีต้นไม้ที่มีค่ามากมาย เช่น ไม้แดง ไม้ประดู่ ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้พลวง ไม้มะค่า ฯลฯ ปัจจุบันต้นไม้บางชนิดมีเหลือแต่ต้นเล็ก ป่าไม้แห่งนี้ยังคงเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของชุมชน ชาวบ้านทุกคนอยากเห็นป่าไม้กลับมาอุดมสมบูรณ์เหมือนในอดีต 2) การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการได้ผลดังนี้ (2.1) ได้การคู่มือศึกษาพันธุ์ไม้ เล่มเล็ก 4 เล่ม และเล่มใหญ่ 1 เล่ม (2.2) ได้แผนผังบูรณาการสาระการเรียนรู้ต่างๆ ในหลักสูตรปกติ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา สุขศึกษาและพลศึกษาศิลปศึกษา และ การงานอาชีพและเทคโนโลยี ที่ใช้ต้นไม้ในป่าไม้โคกภูตากาเป็นแกน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 จำนวน 1 แผนผัง (2.3) ได้แผนการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการรายสาระการเรียนรู้ฉบับร่าง 6 สาระการเรียนรู้และฉบับที่ผ่านการทดลองใช้ 2 แล้ว สาระการเรียนรู้ 2.4) ผลการทดลองใช้แผนภาคสนามสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และ ศิลปศึกษาพบว่า โดยภาพร่วมนักเรียนเห็นว่าการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ครั้งนี้ อยู่ในระดับดี ( เฉลี่ย = 4.24) และภาพร่วมครูผู้ร่วมกิจกรรมเห็นว่าการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในครั้งนี้อยู่ในระดับดี (เฉลี่ย = 4.38)