งานวิจัย : บทคัดย่อ
A Follow Up Study of the Outcome of Khon Kaen Unversity’s Personnel Development Training Courses
โดย :
 
บทคัดย่อ ภาษาไทย

   บทคัดย่อ

งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามประสิทธิผลการฝึกอบรมหลักสูตรพัฒนาบุคลากรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการนำความรู้ที่ได้รับจากการฝึกอบรมหลักสูตรพัฒนาบุคลากรของมหาวิทยาลัยขอนแก่นไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานของตนเอง
กลุ่มเป้าหมายเป็นบุคลากรของมหาวิทยาลับขอนแก่น จำนวน 1,043 คน ซึ่งเป็นผู้ที่เข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรพัฒนาบุคลากรที่ฝ่ายพัฒนาบุคลากรของมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นผู้จัดในช่วงเดือนกรกฎาคม 2543 – เดือนพฤษภาคม 2544 โดยประกอบไปด้วย 3 กลุ่ม คือ กลุ่มบุคลากรสายผู้บริหาร จำนวน 363 คน เข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรพัฒนาผู้บริหาร 12 หลักสูตร กลุ่มบุคลากรสายอาจารย์ผู้สอน จำนวน 124 คน เข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรพัฒนาอาจารย์ 30 หลักสูตร และบุคลากรสายสนับสนุน จวน 556 คน เข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรพัฒนาบุคลากรสายสนับสนุน 18 หลักสูตร เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามที่คณะผู้วิจัยได้สร้างและปรับปรุงขึ้น จำนวน 3 ชุด สำหรับแต่ละกลุ่มเป้าหมายนำข้อมูลที่ได้จากการเก็บรวบรวมมาทำการวิเคราะห์ข้อมูลและประมวลผลการวิเคราะห์ด้วยคอมพิวเตอร์โดยใช้โปรแกรมย่อยในโปรแกรมสำเร็จรู้ SPSS/PC+ โดยการแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและตารางไขว้ ผลการวิจัยพบว่า
1. กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีอายุระหว่าง 31 – 40 ปี โดยมีอายุเฉลี่ยประมาณ 38 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ประสบการณ์การทงานมีอายุราชการระหว่าง 6 – 10 ปี เป็นส่วนมากซึ่งมีอายุราชการเฉลี่ยรวมประมาณ 14 ปี และเคยดำรงตำแหน่งทางวิชาการในช่วงเวลาตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งทางวิชาการเฉลี่ยรวมประมาณ 7 ปี
2. ประสิทธิผลการฝึกอบรมหลักสูตรพัฒนาบุคลากรสายผู้บริหาร สายอาจารย์ผู้สอนและสายสนับสนุน
บุคลากรสายผู้บริหาร พบว่า ส่วนใหญ่มีความคิดเป็นว่า ทั้งในหลักสูตรแกนหลักสูตรเฉพาะเพื่อการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ และหลักสูตรเฉพาะเพื่อการบริหารงานวิชาการ มีผลที่ได้รับตรงตามวัตถุประสงค์ ประโยชน์ที่ได้รับ และการนำไปใช้ จัดอยู่ในระดับปานกลางถึงมากที่สุด
บุคลากรสายอาจารย์ผู้สอน พบว่าส่วนใหญ่มีความเห็นว่า หลักสูตรแกน และหลักสูตรเฉพาะในส่วนของผลที่ได้รับตรงตามวัตถุประสงค์ รวมถึงประโยชน์ที่ได้รับอยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด ส่วนการนำไปใช้อยู่ในระดับปานกลางถึงน้อย
บุคลากรสายสนับสนุน พบว่า ส่วนใหญ่มีความเห็นว่าหลักสูตรแกนและหลักสูตรเฉพาะในส่วนของผลที่ได้รับตรงตามวัตถุประสงค์ ประโยชน์ที่ได้รับและการนำไปใช้อยู่ในระดับปานกลางถึงมากที่สุด
3. ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ
กลุ่มเป้าหมายทั้ง 3 กลุ่มได้เสนอปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะที่ตรงกันในเรื่องบุคลากร ระยะเวลาการจัด เนื้อหาของหลักสูตร การนำไปใช้และวิทยากร โดยเห็นว่าบุคลากรของแต่ละหน่วยงานเข้ารับการอบรมน้อยจึงมีผลต่อความร่วมมือในการทำงาน ผู้บริหารขาดการยอมรับแนวคิดใหม่ ดังนั้นควรให้บุคลากรได้เข้ารับการฝึกอบรมทุกคน มีการกระตุ้นให้ช่วยเหลือกัน นโยบายการดำเนินงานควรเป็นแนวเดียวกัน
ระยะเวลาการฝึกอบรมมีจำกัด ควรขยายเวลาการฝึกอบรมและควรจัดอย่างต่อเนื่องควรจัดในช่วงวันหยุดราชการหรือวันปิดภาคเรียน
หลักสูตร เนื้อหา การนำไปใช้ เน้นกลักวิชาการและทฤษฎีมากเกินไป ความรู้ที่ได้ไม่เข้ากับระบบราชการ ควรปรับเนื้อหาให้เหมาะสมเน้นการปฏิบัติจริงให้เจาะลึก
วิทยากร บางท่านนำเสนอข้อมูลที่ขัดแย้งกับหลักสูตร นำเสนอทฤษฎีเป็นส่วนใหญ่ไม่สามารถนำมาใช้ปฏิบัติได้จริง วิทยากรควรเตรียมตัวให้พร้อม นำเสนอรายละเอียดที่เป็นประเด็นหลักโดยใช้ตัวอย่างใกล้ตัวในสถานการณ์จริง
นอกจากนั้นมีกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่ม คือ บุคลากรสายผู้บริหารและบุคลากรสายสนับสนุนได้เสนอปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอที่สอดคล้องกันในเรื่องนโยบายของมหาวิทยาลัยที่ขาดการเผยแพร่แผนพัฒนามหาวิทยาลัยเป็นภาพรวมสู่ระดับการปฏิบัติ นอกจากนั้นมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับกลางบ่อย และการจัดองค์กรยังไม่เกิดประสิทธิผลเท่าที่ควร ดังนั้นควรเพิ่มการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้กระชับ ชัดเจนมากขึ้นและผู้บริหารควรอยู่จนครบวาระควรกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบและประสานงานระหว่างหน่วยงานอย่างเป็นระบบ