งานวิจัย : รายงานการวิจัย เรื่อง ตัวบ่งชี้ทางจิตสังคมของพฤติกรรมการทำงานในข้าราชการตำรวจ
Psycho-Social Indicators of Work Behaviors in Policemen under Police-Provincial 4
โดย :
 
บทคัดย่อ ภาษาไทย

   บทคัดย่อ

ชื่อโครงการ ตัวบ่งชี้ทางจิตสังคมของพฤติกรรมการทำงานในข้าราชการตำรวจ
สังกัดตำรวจภูธรภาค 4
Psycho-Social Indicators of Work Behaviors in Policemen under Police-Provincial 4

ชื่อผู้วิจัย รศ.ดร.นีออน พิณประดิษฐ์ Ph.D คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
พ.ต.อ.จตุพล ปานรักษา ศศ.ม
พ.ต.ท.คณิต ดวงหัสดี ศษ.ม
พ.ต.ท.พานทอง สุวรรณจูฑะ ศษ.ม
พ.ต.ท.วรวัฒน์ มะลิ ศษ.ม

การวิจัยนี้เป็นการศึกษาเปรียบเทียบและหาความสัมพันธ์เพื่อหาตัวบ่งชี้สำคัญของพฤติกรรม การทำงานของข้าราชการตำรวจ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1) ศึกษาว่า ปัจจัยส่วนตัว สถานการณ์ และจิตลักษณะกับพฤติกรรมการทำงานของข้าราชการตำรวจเกี่ยวข้องกันอย่างไร 2) ศึกษาตัวแปรทำนายพฤติกรรมการทำงานของข้าราชการตำรวจที่รายงานโดยตำรวจเอง และที่ประเมินโดยหัวหน้าจากปัจจัยส่วนตัว สถานการณ์ในการทำงาน และจิตลักษณะ และ 3) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบปัจจัยส่วนตัวสภาพแวดล้อมในการทำงาน การรับรู้ทางสังคม และจิตลักษณะของข้าราชการตำรวจที่มีพฤติกรรม การทำงานที่เหมาะสมมาก และเหมาะสมน้อยตามการประเมินของหัวหน้า กลุ่มตัวอย่างคือ ข้าราชการตำรวจ จำนวน 1,209 คน เป็นตำรวจชั้นสัญญาบัตร 203 นาย ชั้นประทวน 1,006 นาย ได้มาจากวิธีสุ่มแบบเป็นชั้น จากจังหวัดใหญ่ 3 จังหวัด จังหวัดเล็ก 4 จังหวัด และจาก 51 สถานีตำรวจ มี 3 สายงาน คือ สายงานสอบสวน สายงานจราจร สายงานป้องกันปราบปราม การวิจัยนี้ใช้รูปแบบ ปฏิสัมพันธ์นิยม และทฤษฎีต้นไม้จริยธรรมเป็นแนวคิดพื้นฐาน และทบทวนเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ กำหนดเป็นสมมติฐานของการวิจัยได้ 7 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือการวิเคราะห์ความแปรปรวนสามทาง การวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบเป็นชั้นและการวิเคราะห์แคนอนนิคัล

ผลการวิจัยที่สำคัญ แบ่งเป็น 4 ประการ ดังนี้
ประการแรก เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ ระหว่างปัจจัยสถานการณ์กับพฤติกรรมการทำงานที่มีประสิทธิผลของข้าราชการตำรวจ พบว่าข้าราชการตำรวจที่รายงานว่ามีพฤติกรรมการทำงานที่มี ประสิทธิผลมากคือ ข้าราชการตำรวจดังต่อไปนี้ (1) ผู้ที่ได้รับการสนับสนุนทางสังคมมาก (2) ผู้ที่เห็นแบบอย่างที่ดีในการทำงานมาก (3) ผู้ที่ทำงานตรงอุปนิสัยมาก และผู้ที่รับรู้ว่าภรรยาส่งเสริมงานมาก ผลนี้พบในกลุ่มตำรวจชั้นสัญญาบัตรและชั้นประทวน และตำรวจสายงานป้องกันปราบปราม
ประการที่สอง ตำรวจที่มีพฤติกรรมการทำงานทั่วไปมีประสิทธิผลมากเป็นผู้ที่มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์มาก มีลักษณะมุ่งอนาคตควบคุมตนมากมีเจตคติที่ดีต่อการเป็นตำรวจน้อย และมีเหตุผลทาง จริยธรรมมาก ทำนายได้ 36.4% ในกลุ่มชั้นสัญญาบัตร และ 39.8% ในกลุ่มชั้นประทวน ส่วนตำรวจที่มีพฤติกรรมการทำงานทั้งทั่วไป และเฉพาะสายงานมีประสิทธิผลมาก เป็นผู้ที่มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ลักษณะมุ่งอนาคตควบคุมตนและเหตุผลเชิงจริยธรรมสูง โดยทำนายได้สูงสุดในสายงานป้องกันปราบปรามที่มีอายุราชการน้อย ทำนายได้ 42.7%
ประการที่สาม การประเมินของหัวหน้างานกับการรายงานตนเองของข้าราชการตำรวจสอดคล้องเฉพาะในกลุ่มชั้นสัญญาบัตร ที่ได้รับการสนับสนุนทางสังคมมาก และเห็นแบบอย่างที่ดีในการทำงานมาก
ประการที่สี่ ข้าราชการตำรวจที่หัวหน้าประเมินว่ามีพฤติกรรมการทำงานที่เหมาะสมมาก มี 4 ประการ คือ 1) ผู้ที่มีการศึกษามากกว่า 12 ปี 2) ผู้ที่มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์มาก 3) ผู้ที่มีความเชื่ออำนาจในตนในการทำงานน้อย และ 4) ผู้ที่รับรู้สภาพแร้นแค้นในการทำงานน้อย
การวิจัยนี้ได้ตัวบ่งชี้ที่สำคัญที่ช่วยเพิ่มประสิทธิผลในการทำงานของข้าราชการตำรวจ คือ แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ลักษณะมุ่งอนาคตควบคุมตน เหตุผลเชิงจริยธรรม และการสนับสนุนทางสังคม จึงมีข้อเสนอแนะว่าควรทำการวิจัยเชิงทดลองสร้างต้นแบบฝึกอบรม เพื่อพัฒนาแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ลักษณะมุ่งอนาคตควบคุมตนและเหตุผลเชิงจริยธรรม


-----------------------------------