งานวิจัย : ผลการใช้แผนการสอน CIPPA Model ของนักศึกษาระดับปริญญาตรีวิชาชีววิทยาสำหรับครู พ.ศ.2547 Learning Outcome of Instruction using CIPPA Model Lesson Plan /Of Undergraduate Students in the Teaching Of Biology for Teacher 2547
|
โดย : รองศาสตราจารย์วิมล สำราญวานิช
|
|
บทคัดย่อ
ภาษาไทย
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักศึกษา, นักเรียน, ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาชีววิทยา โดยใช้แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญแบบ CIPPA Model ที่เขียนแผนการสอนและทดลองสอนโดยนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนวิชาชีววิทยาสำหรับครู (214410) ผู้ร่วมวิจัยประกอบด้วย ผู้วิจัย และครูผู้ร่วมวิจัยจำนวน 2 คน กลุ่มเป้าหมายเป็นนักศึกษาสาขาการมัธยมศึกษาวิชาเอกวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2546 จำนวน 10 คน, นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายชั้นปีที่ 4/1 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มอดินแดง) รูปแบบการวิจัยเป็นการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน (Classroom action research) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แผนการสอนวิชาชีววิทยาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 10 แผน, แบบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาชีววิทยา, แบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียน, แบบสอบถามนักศึกษาผู้สอนและแบบสังเกตการสอนของผู้ร่วมวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูลแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ เชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ/การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ โดยการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ตีความหมาย รายงานผล/การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้ค่าเฉลี่ย (x)
สรุปผลการวิจัย
ผลการวิจัยเชิงคุณภาพ พบว่า
ความคิดเห็นของนักศึกษาผู้สอน ความคิดเห็นทางบวกพบว่า สามารถสอนได้ตามแผนการสอนที่วางเอาไว้ตามรูปแบบ CIPPA และเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญโดยให้นักเรียนได้ทดลองคิดข้อมูลจากการสังเกตการสอนของเพื่อนและอาจารย์ผู้ร่วมวิจัย, ครูผู้ร่วมวิจัย ( การ Reflect ข้อมูล ) มีประโยชน์เตรียมการสอนของตนไม่ให้บกพร่องเหมือนเพื่อนที่สอนผ่านมา, ได้รับรู้พฤติกรรมการเรียนการสอนของตนเอง และการทดลองสอนในวิชาวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นในภาคเรียนที่ 1 ทำให้เกิดการเชื่อมั่นในการสอนวิชาชีววิทยายิ่งขึ้น การทดลองสอนในโรงเรียนสาธิตถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก ควรจะมีต่อไปทุกปี เป็นการเพิ่มประสบการณ์ให้นักศึกษาได้สอนตามสภาพจริง ความคิดเห็นทางลบ พบว่า ภาคเรียนที่ 2 ในช่วงใกล้ปิดเทอมและสอบปลายภาคทำให้นักเรียนขาดเรียนจำนวนมากและเรียนกวดวิชามาก่อนทำให้ไม่แน่ใจว่าเป็นผลสัมฤทธิ์เกิดจากการทดลองสอนหรือไม่
ความคิดเห็นของนักเรียนส่วนใหญ่ในข้อคิดทางบวกว่าดีมากกว่า 81% คือนักศึกษามีความรู้เพียงพอที่จะสอนและมั่นใจได้ว่ามีประสิทธิภาพอยู่ระดับมากแปลกใหม่ สอนเข้าใจ ง่าย เปลี่ยนบรรยากาศเพราะนักศึกษาผู้สอนมีสื่อการสอนมากมีการทดลองสอนสนุก ไม่เครียด, น่ารัก, พูดไพเราะ, ไม่ดุ เป็นกันเองและให้ความรู้ได้อย่างดีมีประสิทธิภาพการสอน ข้อความคิดเห็นทางลบ คือ มีนักศึกษาบางคนสอนไม่ค่อยเข้าใจ, เสียงเบา และนักศึกษามาสอนมากทำให้ชั้นเบื่อ เสียเวลา 12%
ความคิดเห็นของผู้ร่วมวิจัย ความคิดเห็นทางบวก พบว่า นักศึกษาที่ทดลองมีความตั้งใจและเอาใจใส่ในการเตรียมการสอน, สื่อ, อุปกรณ์การทดลองให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนและได้ทดลองจริง มีสื่อหลากหลาย เช่น ใบงาน, แผนภาพ, ของจริง, ให้ความรู้เพิ่มเติม, แนะนำช่วยเหลือนักเรียน สามารถเชื่อมโยงความรู้เดิมกับความรู้เดิมกับความรู้ใหม่ สอนได้ตรงตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้แต่ละคาบ และความเห็นทางลบ พบว่า นักศึกษาต้องประยุกต์การสอนขั้นประยุกต์ใช้, นักศึกษาที่ทดลองสอนบางคนคุมชั้นไม่ได้, ไม่กล้าดุนักเรียน, ขาดจุดตรึงความสนใจ, ไม่สามารถกระตุ้นให้นักเรียนมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน, น้ำเสียงเบา, ไม่ค่อยเขียนกระดานดำ, ใช้กระดานติดปะสื่อ
ผลการวิจัยเชิงปริมาณ
ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาชีววิทยาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/1โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ( มอดินแดง ) ที่เรียนวิชาชีววิทยากับนักศึกษามีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ย 3.34 คะแนนจากคะแนนเต็ม 5 คะแนน และมีจำนวนนักเรียนผ่านเกณฑ์ 70% เฉลี่ย 52.84%
|
|
|