งานวิจัย : ปัจจัยทางจิตสังคมกับพฤติกรรมการติดสารเสพติดของ นักเรียนมัธยมศึกษาและนักเรียนอาชีวศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ.
Psychosocial Factors and Drug Addiction Behavior of Secondary School and Vocational College Students in the Northeast.
โดย :
 
บทคัดย่อ ภาษาไทย

    การวิจัยนี้ได้ศึกษาเปรียบเทียบภูมิหลังทางสังคมและจิตลักษณะของนักเรียนที่มีพฤติกรรมติดสารเสพติด และนักเรียนที่ไม่มีพฤติกรรมดังกล่าว และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างจิตลักษณะและภูมิหลังทางสังคมกับพฤติกรรมติดสารเสพติดของนักเรียน และค้นหาแนวทางพัฒนาจิตลักษณะที่พึงประสงค์ให้เป็นภูมิต้านทาน พฤติกรรมติดสารเสพติดของนักเรียน

กลุ่มตัวอย่าง
กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาในภาคสนาม แบ่งเป็น 2 กลุ่ม (1) กลุ่มนักเรียนในโรงเรียนมัธยมศึกษาและวิทยาลัยอาชีวศึกษา (2) กลุ่มนักเรียนหรือเยาวชนในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนที่เข้ามาในสถานพินิจ ด้วยเหตุมีพฤติกรรมติดสารเสพติด นักเรียนในโรงเรียนมัธยมศึกษาและวิทยาลัยอาชีวศึกษาของโรงเรียน ในจังหวัดอุดรธานี จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดนครราชสีมา ที่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองและนอกเขตอำเภอเมือง แหล่งละ 1 โรงเรียน และวิทยาลัยอาชีวศึกษา 1 วิทยาลัย และนักเรียนที่มีพฤติกรรมติดสารเสพติดที่อยู่ในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนในจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดขอนแก่น ผู้วิจัยได้เดินทางไปเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยตัวเอง โดยให้นักเรียนมารวมในห้องประชุมหรือเก็บรวบรวมในชั้นเรียนแต่ละห้อง ได้นักเรียนมัธยมศึกษา จำนวน 661 คน นักเรียนอาชีวศึกษา จำนวน 568 คน นักเรียนในสถานพินิจฯจำนวน 225 คน และนักเรียนที่ไปรับการรักษาที่ศูนย์บำบัด 37 คน รวมเป็นกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,491 คน

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามประกอบด้วยแบบตัวแปรต่างๆได้แก่ ภูมิหลังทางสังคมของผู้ตอบ ความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับพ่อแม่ ความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับเพื่อน ความรู้เกี่ยวกับโทษและพิษภัยของสารเสพติด ลักษณะมุ่งอนาคตและควบคุมตน สุขภาพจิตทัศนคติต่อสารเสพติด ทัศนคติของนักเรียนต่อโรงเรียนและครู และระดับพฤติกรรมติดสารเสพติดของนักเรียน

ผลการวิจัย
1. ภูมิหลังทางสังคมของนักเรียนที่ไม่มีพฤติกรรมติดสารเสพติด (ระดับที่หนึ่ง) กับนักเรียนที่มีพฤติกรรมติดสารเสพติด (ระดับที่สี่) พบว่า นักเรียนชายมีพฤติกรรมติดสารเสพติดมากกว่านักเรียนหญิง ช่วงอายุไม่แตกต่างกัน แต่นักเรียนที่ไม่มีพฤติกรรมติดสารเสพติดมีผลการเรียน สูงกว่า และนักเรียนที่มีพฤติกรรมติดสารเสพติด และนักเรียนที่มีพฤติกรรมติดสารเสพติดส่วนใหญ่มีบิดามารดาที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี
2. ความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับพ่อแม่ พบว่า นักเรียนที่ไม่มีพฤติกรรมติดสารเสพติด (ระดับที่หนึ่ง) มีความสัมพันธ์กับพ่อแม่ดีกว่านักเรียนที่มีพฤติกรรมติดสารเสพติด (ระดับที่สี่) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ หมายความว่า นักเรียนที่ไม่ลองยาเสพติด แม้ว่าจะถูกชักชวนได้รายงานตนเองว่า พ่อแม่เลี้ยงดูตนเองด้วยความรัก มีเหตุผล และฝึกให้ตัดสินใจควบคุมตนเอง สูงกว่า นักเรียนที่ได้ลองใช้ยาเสพติดจนถึงขั้นต้องการการบำบัดรักษา
3. ความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับเพื่อน ผลการวิจัยพบว่า นักเรียนที่ไม่มีพฤติกรรมติดสารเสพติด (ระดับที่หนึ่ง) มีความสัมพันธ์กับเพื่อนดีกว่านักเรียนที่มีพฤติกรรมติดสารเสพติด แม้ว่าจะถูกชักชวนได้รายงานตนเองว่ามีความสัมพันธ์กับเพื่อนอย่างมีเหตุผล ไม่ตามเพื่อนหรือพึ่งพาเพื่อน มากกว่า นักเรียนที่ได้ลองใช้สารเสพติดและต้องการการบำบัดรักษา
4. นักเรียนไม่มีพฤติกรรมติดสารเสพติด มีความรู้เกี่ยวกับสารเสพติดดีกว่า และมีทัศนคติต่อสารเสพติดอย่าง ถูกต้องสูงกว่า นักเรียนที่มีพฤติกรรมติดสารเสพติดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่มีความเชื่อว่า การเสพสารเสพติดทำให้ลืมทุกข์และคลายเครียด ทำให้ขาดสติและสุขภาพจิตเสื่อม และสร้างความรำคาญกับผู้อื่นและครอบครัว เป็นความเชื่อที่นักเรียน 2 กลุ่ม เชื่อไม่แตกต่างกัน และความเชื่อว่าการเสพสารเสพติดทำให้ขยัน และทำงานได้มากกว่าเดิม นักเรียนที่ไม่มีพฤติกรรมติดสารเสพติดจะมีความเชื่อสูงกว่า จึงเป็นประเด็นที่ต้องให้ความรู้ถึงโทษและพิษภัยของสารเสพติดให้ถูกต้อง
5. ทัศนคติต่อโรงเรียนและครู พบว่า นักเรียนที่ไม่มีพฤติกรรมติดสารเสพติดและนักเรียนที่มีพฤติกรรมติดสารเสพติดมีทัศนคติต่อครูและโรงเรียนไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่พบว่าทัศนคติต่อโรงเรียนและครูเป็นตัวแปรทำนายพฤติกรรมติดสารเสพติดของนักเรียนได้ เมื่อวิเคราะห์ในกลุ่มร่วม
6. ลักษณะมุ่งอนาคตและควบคุมตน ผลการวิจัยพบว่า นักเรียนที่ไม่มีพฤติกรรมติดสารเสพติด มีลักษณะมุ่งอนาคตและควบคุมตนสูงกว่านักเรียนที่มีพฤติกรรมติดสารเสพติดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
7. สุขภาพจิตและการปรับตัว ผลการวิจัยพบว่า นักเรียนที่ไม่มีพฤติกรรมติดสารเสพติดมีสุขภาพจิตและปรับตัวดีกว่านักเรียนที่มีพฤติกรรมติดสารเสพติด อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
8. ผลการเรียน การศึกษาของบิดา ความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับเพื่อน ความรู้เกี่ยวกับสารเสพติด ทัศนคติต่อสารเสพติด ลักษณะมุ่งอนาคตและควบคุมตน และสุขภาพจิตของนักเรียนเป็นตัวแปรที่มีความสัมพันธ์เชิงลบกับพฤติกรรมติดสารเสพติด
9. ตัวแปรสำคัญที่จะเป็นภูมิต้านทานไม่ให้นักเรียนมีพฤติกรรมติดสารเสพติดคือความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับเพื่อน ทัศนคติต่อโรงเรียนและครู สุขภาพจิตของนักเรียนการเลี้ยงดูแบบใช้เหตุผล ทัศนคติต่อสารเสพติด การเลี้ยงดูแบบรัก ผลการเรียนของนักเรียนลักษณะมุ่งอนาคตและควบคุมตนของนักเรียน ความรู้เกี่ยวกับสารเสพติด และระดับการศึกษาของบิดาสามารถร่วมกันทำนายพฤติกรรมติดสารเสพติดได้ ร้อยละ 24
10. ในกลุ่มตัวอย่างรวม ปัญหาที่นักเรียนต้องการความช่วยเหลือมีปัญหาการเรียน 46.5 % เงินไม่พอใช้ 19.4 % และปัญหาครอบครัว 12.7% และบุคคลที่นักเรียนปรึกษาเมื่อมีปัญหาคือ พ่อ – แม่ 50.6% เพื่อนๆ 25.2% แต่ปรึกษาอาจารย์เพียง 9.9%
11. ในกลุ่มตัวอย่างรวม นักเรียนที่รายงานว่าเคยรู้เคยทราบว่ามีเพื่อนใช้สารเสพติดในโรงเรียน 73.6% ไม่ทราบเพียง 26% และเคยพบเห็นว่าเพื่อนใช้สารเสพติดในโรงเรียนถึง 60.9% ไม่เคยพบเห็นเพียง 38.7% และประเมินว่าตัวเองไม่มีโอกาสติดสารเสพติดเพียง 35.6% ชนิดของสารเสพติดที่นักเรียนคิดว่าเพื่อนเสพติดมากที่สุดคือ ยาบ้า รองลงมาคือ สารระเหย
12. ในกลุ่มตัวอย่างร่วม นักเรียนรายงานว่าแหล่งที่ให้ความรู้เกี่ยวกับโทษและพิษภัยของสารเสพติดคือ โรงเรียน 46.1% สื่อมวลชน12.5% แต่มีจำนวนไม่ตอบว่าแหล่งใดถึง 33.2% และแหล่งที่นักเรียนรายงานว่าได้รับความรู้ด้านการป้องกันตนให้พ้นจากการติดสารคือ โรงเรียน 63% และสื่อมวลชน 29.7%
13. ในกลุ่มตัวอย่างรวม นักเรียนรายงานว่าใช้เวลาว่างส่วนใหญ่ ฟังเพลงเป็นอันดับหนึ่งอ่านหนังสือเป็นอันดับสอง และไปอยู่บ้านเพื่อนๆเป็นอันดับสาม และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างนักเรียนที่มีพฤติกรรมไม่ติดสารเสพติดกับนักเรียนที่มีพฤติกรรมติดสารเสพติด พบว่า กลุ่มพฤติกรรมไม่ติดสารเสพติดจะฟังเพลงเป็นอันดับหนึ่ง ในขณะที่กลุ่มพฤติกรรมติดสารเสพติดจะไปอยู่บ้านเพื่อนเป็นอันดับหนึ่ง
14. และเมื่อเปรียบเทียบสาเหตุที่ทำให้นักเรียนบางคนลองเสพสารเสพติดระหว่างกลุ่มพฤติกรรมไม่ติดสารเสพติดและพฤติกรรมติดสารเสพติดพบว่า กลุ่มที่มีพฤติกรรมไม่ติดสารเสพติดได้รายงานว่า สาเหตุที่นักเรียนบางคนลองเสพเพราะต้องการพิสูจน์ให้เพื่อนเห็นว่ามีความกล้า 43.4% แต่กลุ่มที่มีพฤติกรรมติดสารเสพติดได้รายงานว่าสาเหตุที่นักเรียนบางคนลองเสพ เพราะคิดว่าสารเสพติดช่วยแก้ปัญหาได้ 44%

ข้อเสนอแนะที่ได้จากการวิจัย
1. บุคลากรของโรงเรียนทุกฝ่ายต้องยอมรับว่ามีปัญหาสารเสพติดในโรงเรียนและพร้อมในกันร่วมมือแก้ไข
2. ตัวแปรหลายตัวที่พบในงานวิจัยนี้ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนและเพื่อนทัศนคติต่อโรงเรียนและครู สุขภาพจิตของนักเรียน ทัศนคติต่อสารเสพติด ลักษณะมุ่งอนาคตและความรู้เกี่ยวกับสารเสพติด สามารถสร้างและพัฒนาได้ด้วยกระบวนการเรียนการสอนในโรงเรียน หรือโครงการที่โรงเรียนและนักเรียนร่วมกันจัดขึ้น และการพัฒนาตัวแปรใดตัวแปรหนึ่งจะมีส่วนช่วยพัฒนาตัวแปรอื่นตามด้วย
3. ครูอาจารย์ควร สนใจการใช้เวลาว่างของนักเรียน ควรแนะนำกิจกรรมที่เหมาะสม และทางโรงเรียนควรจัดวันพบปะระหว่างครู – ผู้ปกครอง เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ปกครองให้ตระหนักถึงความสำคัญในการเลี้ยงดูลูกด้วยความรักอย่างมีเหตุผล
4. ทางโรงเรียนสามารถใช้แบบวัดต่างๆ ของการวิจัยนี้ เพื่อสำรวจสภาพปัญหาในโรงเรียนก่อนทำโครงการต่างๆเพื่อสร้างภูมิต้านทานสารเสพติดให้แก่นักเรียน