งานวิจัย : วัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยของครูสังคมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา สังกัดกรมสามัญศึกษา จังหวัดขอนแก่น
DEMOCRATIC POLITICAL CULTURE OF SOCIAL STUDIES TEACHERS IN SECONDARY SCHOOLS UNDER THE DEPARTMENT OF GENERAL EDUCATION IN KHON KAEN PROVINCE
โดย :
 
บทคัดย่อ ภาษาไทย

   การวิจัยเรื่องวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยของครูสังคมศึกษาระดับมัธยมศึกษา สังกัดกรมสามัญศึกษา จังหวัดขอนแก่น มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยของครูสังคมศึกษา และความต้องการที่จะใช้แหล่งความรู้และวิธีการศึกษาหาความรู้ในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจทางการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของครูสังคมศึกษา ผู้วิจัยใช้แนวความคิดเรื่องวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย 3 ด้าน มาเป็นกรอบในการสร้างแบบสอบถามความคิดเห็น คือ 1) เกี่ยวกับรัฐบาลและกลไกของรัฐบาล 2) เกี่ยวกับบุคคลและสิ่งอื่น ๆ ในระบบการเมือง 3) เกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมืองของตนเอง กลุ่มตัวอย่างคือ ครู-อาจารย์ ผู้สอนวิชาสังคมศึกษาในโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดกรมสามัญศึกษา จังหวัดขอนแก่น ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2541 จำนวน 214 คน ซึ่งได้จากการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถามความคิดเห็นที่มีต่อวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ซึ่งผู้วิจัยสร้างขึ้นเป็นมาตราส่วนประมาณค่า มีค่าสัมประสิทธิ์ความเชื่อมั่น 0.75 การวิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป SPSS for WINDOW วิเคราะห์หาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย (X ) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-Way ANOVA) และทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยรายคู่ด้วยวิธี Scheffe’Method สำหรับข้อมูลจากคำถามปลายเปิดนำมาจัดกลุ่มและแจกแจงความถี่

ผลการวิจัย พบว่า
1. ครูสังคมศึกษา มีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยที่เกี่ยวกับด้านต่างๆ 3 ด้าน โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก และ
เมื่อจำแนกครูสังคมศึกษาตามระดับการศึกษา ประสบการณ์ในการสอน ขนาดของโรงเรียน พบว่า มีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยอยู่ในระดับ มาก เช่นกัน
2. ครูสังคมศึกษา ที่มีระดับการศึกษาต่างกัน มีประสบการณ์ในการสอนต่างกัน และอยู่ในโรงเรียนที่มีขนาดต่างกัน มี
วัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยไม่แตกต่างกัน
3. ครูสังคมศึกษาต้องการที่จะใช้แหล่งความรู้และวิธีการศึกษาหาความรู้ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจทางการเมืองให้แก่
ตนเองโดยวิธีการต่าง ๆ ตามลำดับ ได้แก่ อันดับที่ 1 ต้องการศึกษาจากเอกสาร หนังสือที่มีลักษณะง่ายต่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง อันดับที่ 2 ต้องการข้อมูลที่เป็นลักษณะเอกสารเผยแพร่อย่างสม่ำเสมอจากหน่วยงานที่เผยแพร่และพัฒนาความรู้ความเข้าใจทางการเมือง และอันดับที่ 3 ต้องการเข้ารับการอบรมสัมมนาระยะสั้น ๆ เป็นครั้งคราว