ผู้ส่งบทความ1 |
นางสาวจรัสศรี จุฑาจินดาเขต |
|
หน่วยงาน |
ผู้เกษียณอายุรายการ |
วัน/เดือน/ปี |
วันเสาร์ที่ 17 มีนาคม 2555 |
เวลา |
15:35:02 น. |
หัวข้อบทความ |
สร้างความรับผิดชอบในการจัดการศึกษาด้วยมาตรการการเงินและการบริหาร โดย Prof. Vicharn Panich |
บทความ |
บทความนี้จาก http://www.gotoknow.org/blogs/posts/481849 โดย Prof. Vicharn Panich
หากเปิดจาก Web จะมีเอกสารประกอบการประชุมและเสียงบรรยายโดยละเอียด
นี่คือตัวอย่างที่เจ็บปวด ของการจัดการที่ผิดพลาดในระดับประเทศที่เป็นการจัดการที่ ไม่มีกลไกปรับตัว ไม่มีกลไกให้เรียนรู้..... นี่คือคาบที่ ๓ ของการประชุมประจำปี ของ ทีดีอาร์ไอ เมื่อวันที่ ๑๕ ก.พ. ๕๕ ต่อเนื่องจากคาบที่ ๑ และคาบที่ ๒ ที่บอกว่าคุณภาพการศึกษาของไทยทุกระดับด้อยลง แม้ประเทศไทยจะลงทุนด้านการศึกษาสูงขึ้น และทีมวิจัยของ ทีดีอาร์ไอ เสนอว่า เพื่อยกระดับคุณภาพผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ต้องให้มีการรับผิดรับชอบ (accountability) ต่อนักเรียนและผู้ปกครองเป็นหลัก
นอกจากคุณภาพในภาพรวมลดลง ยังพบว่าคุณภาพยังแตกต่างกันมากระหว่างโรงเรียนที่คุณภาพสูง ซึ่งมีจำนวนน้อย กับโรงเรียนส่วนใหญ่ของประเทศ ความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการศึกษานี้ สะท้อนความไม่เป็นธรรมทางการศึกษา และความไม่เป็นธรรมทางสังคม
อ่านบทความประกอบการประชุมที่นี่ อ่าน Ppt ที่เสนอในการประชุมที่นี่ และฟังเสียงของการประชุมที่นี่
ผมขอแนะนำให้คนที่สนใจระบบการศึกษาของประเทศ และพิศวงว่าทำไมประเทศไทยลงทุนด้าน การศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างมากมายในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา แต่ผลสัมฤทธิ์ของการศึกษากลับเลวลง ฟังเสียงการนำเสนอ ของ ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ที่นำเสนออย่างชัดเจน ฟังง่าย ยิ่งฟังไปดู Powerpoint ไป ก็จะยิ่งกระจ่าง
ผมฟังแล้วได้ข้อสรุปกับตนเองว่า นี่คือตัวอย่างที่เจ็บปวด ของการจัดการที่ผิดพลาดในระดับประเทศที่เป็นการจัดการที่ ไม่มีกลไกปรับตัว ไม่มีกลไกให้เรียนรู้ ผมรู้สึกขอบคุณ ทีดีอาร์ไอ แทนประเทศไทย ที่เข้ามาจับเรื่องนี้ และเสนอผลการวิจัยที่น่าเชื่อถือ และมีความชัดเจน ว่าจะต้องปรับระบบการจัดการการศึกษาของชาติเสียใหม่อย่างไร
หัวใจคือ ต้องให้โรงเรียนและครูต้องรับผิดและรับชอบต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กของตน โดยต้องมีการทดสอบกลางหรือการทดสอบมาตรฐานในทุกชั้น เพื่อให้เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกันได้ และจัดให้สายการรับผิดชอบสั้น ไม่ยาวไปสู่กระทรวงศึกษาธิการที่ส่วนกลางเพียงที่เดียว นั่นคือให้รับผิด รับชอบต่อนักเรียนและต่อผู้ปกครองของโรงเรียน โดยเอกสาร Ppt และคำเสนอผลการวิจัย มีตัวอย่างวิธีการที่ใช้ ในต่างประเทศอย่างชัดเจนมาก
วิธีการสร้างกลไกความรับชอบมีความซับซ้อนมาก ต้องมีวิธีการให้ความชอบอย่างซับซ้อนด้วย โดยมีเป้าหมายคือ ให้กลไกได้รับความชอบ (ทั้งแบบ extrinsic คือให้เงิน กับแบบ intrinsic คือให้เกียรติและให้โอกาส) ช่วยส่งเสริมให้โรงเรียนและครูเอาใจใส่ผลการเรียนรู้ที่แท้จริงของนักเรียนทั้งหมด ไม่ใช่เอาใจใส่แต่นักเรียนที่เรียนเก่ง
ผมมองว่า สมศ. ก็ต้องปรับหลักการ และเกณฑ์การประเมินด้วย ผมฟันธงว่า เกณฑ์ของ สมศ. รอบ ๔ ต้องให้น้ำหนักผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ร้อยละ ๖๐ - ๗๐ ส่วนตัวชี้วัดอื่นๆ ให้น้ำหนักเพียงร้อยละ ๓๐ - ๔๐ ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการประเมินภายนอกของ สมศ. ลดลงด้วย รวมทั้ง สมศ. ต้องเน้นประเมินเพื่อพัฒนา ให้มากขึ้น
แต่ รศ. ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ ผู้วิจารณ์บทความวิจัย บอกว่าสาเหตุของความตกต่ำของการศึกษาไทย มีมากกว่าที่ ดร. สมเกียรติเสนอ ท่านให้สาเหตุเพิ่มเติมอีก ๔ ประเด็น คือ
๑. การเมืองเข้าไปใช้ประโยชน์จากการศึกษา แทนที่คนในวงการศึกษาจะรับใช้บ้านเมือง กลับรับใช้การเมือง
๒. ผู้บริหารในวงการศึกษามี mindset ของการเป็น bureaucrat สูงมาก มุ่งรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของตัวเอง
๓. ภาครัฐครอบงำการศึกษาอย่างสมบูรณ์แบบ ภาคเอกชนร่วมจัดได้ยาก เพราะข้อบังคับต่อ รร. ราษฎร์ ไม่เป็นธรรม
๔. ระบบบริหารรวมศูนย์อย่างรุนแรง
ในช่วงตอบคำถาม หรือรับฟังความเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุม มีผู้ถามว่า จะให้โรงเรียนและครูรับผิด รับชอบต่อผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน แล้วผู้บริหารส่วนกลางต้องรับผิดรับชอบไหม ที่บริหารการศึกษาของประเทศ จนตกต่ำเช่นนี้
|
แนบแฟ้มข้อมูล |
|
|
|
|
|
|
จำนวนผู้อ่าน 1 คน |
|