ผู้ส่งบทความ1 นางสาวจรัสศรี  จุฑาจินดาเขต
นางสาวจรัสศรี  จุฑาจินดาเขต
หน่วยงาน ผู้เกษียณอายุรายการ
วัน/เดือน/ปี วันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน 2555
เวลา 12:58:55 น.
หัวข้อบทความ ครูเพื่อศิษย์สร้างห้องเรียนกลับทาง บทความแปลโดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช
บทความ ครูเพื่อศิษย์สร้างห้องเรียนกลับทาง : 9. สรุปตอบจบ (ทั้งหมดมี 9 ตอน) อ่านทุกตอนที่http://www.gotoknow.org/blogs/posts/502505
ครูที่ดีคือครูที่เรียนรู้ปรับปรุงการทำหน้าที่ครูของตนอยู่ตลอดเวลา และหนังสือเล่มนี้คือคู่มือเรียนรู้ของครูที่ดีที่สุดเล่มหนึ่ง เป็นคู่มือเรียนรู้เพื่อปฏิรูปห้องเรียนจาก
หนังสือ Flip Your Classroom : Reach Every Student in Every Class Every Day บทที่ ๙ ชื่อ Conclusion เป็นการเปิดใจผู้เขียนทั้งสอง และสนับสนุนให้เพื่อนครูเรียนรู้และปรับปรุงการทำหน้าที่ครูของตนเอง ไม่มีวิธีจัดการเรียนการสอนใดที่ดีที่สุดในทุกสถานการณ์ถ้อยคำของผู้เขียนทั้งสองสะท้อนความเป็น “นักเรียนรู้” จากการทำหน้าที่ครู ท่านบอกว่า “We have learned that ….” อยู่บ่อยๆ
ผมเชื่อว่า ครูที่ดีคือครูที่เรียนรู้ปรับปรุงการทำหน้าที่ครูของตนอยู่ตลอดเวลา และหนังสือเล่มนี้คือคู่มือเรียนรู้ของครูที่ดีที่สุดเล่มหนึ่ง เป็นคู่มือเรียนรู้เพื่อปฏิรูปห้องเรียน
การจัดห้องเรียนให้มีคุณค่าสูงสุดต่อการเรียนรู้ของนักเรียน ไม่สามารถทำได้ด้วยหลักการหรือวิธีการเดียว
แม้การบรรยายจะไม่ใช่วิธีวิธีเรียนรู้ที่ดี แต่ในบางวิชา บางสาระ การสอนโดยถ่ายทอดเนื้อหาก็มีประโยชน์ แต่ไม่ควรถ่ายทอดในเวลาเรียนในชั้น และไม่ควรถ่ายทอดต่อนักเรียนทั้งชั้น
ผู้เขียนทั้งสองได้เรียนรู้ว่าการถ่ายทอดเนื้อหาด้วยวิดีทัศน์เหมาะต่อเนื้อหา บางแบบ และไม่เหมาะต่อเนื้อหาบางแบบ หลักการบางแบบเหมาะที่จะปล่อยให้เด็กค้นพบเอง แต่หลักการบางแบบควรใช้การสอนโดยตรง และบางแบบควรเรียนด้วยการเสวนา (Socratic dialogue) ดังนั้นจริงๆ แล้วชั้นเรียนเป็นแบบ “ลูกครึ่ง” (hybrid) ทั้งสิ้น ชั้นเรียนที่จัดโดยผู้เขียนทั้งสองก็เป็นแบบ “ลูกครึ่ง” และผู้เขียนสนับสนุนให้ผู้อ่านสร้างชั้นเรียนแบบ “ลูกครึ่ง” ที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ของตน อย่าลอกแบบทั้งดุ้น
ขบวนการห้องเรียนกลับทางเริ่มปี ๒๕๕๑ ที่โรงเรียนมัธยมบ้านนอก โดยครูเคมีผู้น้อย ๒ คน และแพร่ไปทั่วโลก รวมทั้งเดินทางก้าวหน้าปรับปรุงรูปแบบมาโดยลำดับ ไม่มีสูตรตายตัว
ในขบวนการกลับทางห้องเรียนนี้ มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก รวมทั้งนักการศึกษาที่มีชื่อเสียง ผู้เขียนอ้างถึงบทความ Maureen J. Lage, Glenn J. Platt, and Michael Treglia. Inverting the classroom : A gateway to creating an inclusive learning environment. Journal of Economic Education 2000; 31 (1) : 30 - ?. ทำให้เราทราบว่า มีคนคิดเรื่องห้องเรียนกลับทางในเชิงทฤษฎีมาก่อนตั้ง ๗ - ๘ ปี ก่อนจะมีการเสี่ยงดวงทำจริง
ผู้เขียนเตือนเพื่อนครูว่าหากจะกลับทางห้องเรียน ก็ต้องแน่ใจว่า ตนทำด้วยเหตุผลที่ถูกต้อง คือเพื่อมอบอำนาจเหนือการเรียนให้แก่นักเรียน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำใจยากมากสำหรับนักการศึกษาจำนวนหนึ่ง
แต่นัก constructivist, นัก PBL สุดขั้ว จะบอกว่าวิธีที่ผู้เขียนใช้อยู่ ยังไม่ใช่การมอบอำนาจเหนือการเรียนให้แก่นักเรียนอย่างแท้จริง แต่ผู้เขียนก็พบว่า นี่คือวิธีอย่างง่ายๆ และทำได้ ในการเปลี่ยนจากชั้นเรียนแบบถ่ายทอดความรู้ ไปสู่ชั้นเรียนที่นักเรียนเรียนแบบ inquiry-based learning ที่นักเรียนเป็น “ผู้อำนวยกาาร” การเรียนรู้ ของตนเอง
โดยผู้เขียนทั้งสองได้รับเชิญไปพูดทั่วประเทศ จึงได้สัมผัสกับครู ผู้บริหาร พ่อแม่ และนักเรียน ที่เห็นคุณประโยชน์ของการเรียนแบบใหม่นี้ ครูเห็นว่าเป็นวิธีการที่ช่วยให้ตนสอนได้ผลตามที่ใจปรารถนา ผู้บริหารเห็นว่าเป็นวิธีที่ “scalable, reproducible and customizable” ส่วนพ่อแม่พอใจที่เห็นลูกของตนได้เรียนรู้อย่างลึก หรือรู้จริง ไม่ใช่แค่ท่องจำเนื้อวิชา
ที่สำคัญที่สุดคือนักเรียนเห็นว่าการเรียนแบบนี้ (๑) สื่อสารด้วยภาษาเดียวกันกับภาษาของนักเรียน (๒) สอนให้นักเรียนรับผิดชอบการเรียนรู้ของตนเอง (๓) มีความยืดหยุ่น เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนตามความเร็วของตนเอง
ผู้เขียนเชื่อว่า การเรียนรู้ที่ดีที่สุดเกิดขึ้นในบรรยากาศความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนักเรียนและครู ในสภาพที่นักเรียนมองครูเป็นพี่เลี้ยง (mentor) และผู้แนะนำ (guide) ไม่ใช่เป็นผู้บงการจากเบื้องบน (ตรงนี้ผมอยากแก้เป็น ครูทำหน้าที่ คุณอำนวย - facilitator หรือเป็น ครูฝึก - coach)
ครูต้องไม่มองเด็กเป็นคนที่อ่อนแอ ต้องการให้เปิดกระโหลกกรอกวิชา แต่มองเป็นมนุษย์ที่มีศักยภาพในการเรียนรู้ โดยที่แต่ละคนมีลักษณะจำเพาะของตนเอง ที่ต้องการกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะแก่ตน
การเรียนแบบกลับทาง และเรียนให้รู้จริง เปิดช่องให้เด็กหัวไว เรียนเร็ว ได้เรียนเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ท้าทายของตนด้วย
สำหรับครูเพื่อศิษย์ คำถามที่สำคัญที่สุดคือ “อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับศิษย์” จงทำสิ่งนั้น
หมายเหตุ 1. มีผู้เขียนเรื่องราวของการกลับทางห้องเรียนมากมายใน อินเทอร์เน็ต เช่นตัวอย่าง ที่นี่
2. จาก บันทึกนี้ จะเห็นว่า Class Start คือเครื่องมือจำพวกเดียวกันกับ Moodle นั่นเอง คือเป็น Learning Management System
3. บันทึกชุดนี้เขียนแบบตีความและ AAR หรือ personal reflection ไม่ได้แปลตรงตัวจากหนังสือ หลายส่วนเป็นความรู้สึกของผมที่เกิดขึ้นจากการอ่านหนังสือ การอ่านบันทึกชุดนี้จะไม่เหมือนกับการอ่านหนังสือ Flip Your Classroom โดยตรง
จากบันทึกของหมอวิจารณ์ พานิช จากบันทึกนี้ ที่เขียนแนวคิดจากการอ่านหนังสือ เรื่อง Flip Your Classroom : Reach Every Student in Every Class Every Day ซึ่งการเขียนของคุณหมอใช้วิธีการเขียนเล่าเป็นตอนๆ ทั้งหมด ๙ ตอน เขียนจากมุมมองของผู้อ่านที่มีประสบการณ์ ทำให้บันทึกน่าอ่าน ทำให้เห็นภาพของปัญหาและแนวทาง ผสมผสานกับการศึกษาของบ้านเรา ที่จะสามารถยกระดับการศึกษาของไทยผ่านกระบวนการอย่างไร ทั้ง 9 ตอนสามารถติดตามรายละเอียดแต่ละตอนจากบล็อก Gotoknow
1.ครูเพื่อศิษย์สร้างห้องเรียนกลับทาง : 1. เริ่มจากการทำงานในหน้าที่ครูสอน
2.ครูเพื่อศิษย์สร้างห้องเรียนกลับทาง : 2. ห้องเรียนกลับทางเป็นอย่างไร
3.ครูเพื่อศิษย์สร้างห้องเรียนกลับทาง : 3. ทำไมจึงควรกลับทางห้องเรียน
4.ครูเพื่อศิษย์สร้างห้องเรียนกลับทาง : 4. วิธีดำเนินการกลับทางห้องเรียน
5.ครูเพื่อศิษย์สร้างห้องเรียนกลับทาง : 5. ห้องเรียนกลับทางและเรียนให้รู้จริง
6.ครูเพื่อศิษย์สร้างห้องเรียนกลับทาง : 6. ลักษณะของห้องเรียนกลับทางและเรียนให้รู้จริง
7.ครูเพื่อศิษย์สร้างห้องเรียนกลับทาง : 7. วิธีดำเนินการ
8.ครูเพื่อศิษย์สร้างห้องเรียนกลับทาง : 8. คำถาม - คำตอบ
9.ครูเพื่อศิษย์สร้างห้องเรียนกลับทาง : 9. สรุป (จบ)

 
 
แนบแฟ้มข้อมูล  
 
 
 
 
 
จำนวนผู้อ่าน 0 คน

[หน้าแรก] [รวมบทความ]