ผู้ส่งบทความ1 อาจารย์เจริญขวัญ  ศรีพันธ์ชาติ
อาจารย์เจริญขวัญ  ศรีพันธ์ชาติ
หน่วยงาน โรงเรียนสาธิตมอดินแดง ศูนย์ออทิสติค
วัน/เดือน/ปี วันศุกร์ที่ 12 มกราคม 2550
เวลา 10:58:01 น.
หัวข้อบทความ เด็กที่มีความต้องการพิเศษกับพรพรสวรรค์ทางศิลปะ
บทความ เด็กที่มีความต้องการพิเศษกับพรพรสวรรค์ทางศิลปะ

เจริญขวัญ มูลน้อย *

******************************************************************

การแสดงออกทางศิลปะมักจะแตกต่างกันออกไป ตามแนวจินตนาการและการสร้างสรรค์ของแต่ละบุคคล นักจิตวิทยาส่วนมากเชื่อว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวและประจำตัวสำหรับเด็ก ซึ่งจะพัฒนาการไปได้มากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมและโอกาสที่ผู้เกี่ยวข้องกับเด็ก จะจัดสรรส่งเสริมให้ ความคิดสร้างสรรค์นี้จะส่งผลสะท้อนถึงเด็กในหลาย ๆ ด่าน เช่น ระดับความเชื่อมั่นในตนเองการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นและสติปัญญา การแสดงออกเหล่านี้สามารถจะสะท้อนออกจากการ วาดภาพระบายสี การปั้น เป็นต้น
เด็กบางคนมีความสามารถทางศิลปะแตกต่างจากเด็กส่วนมาก จึงได้รับการยกย่องเป็นเด็กที่มีพรสวรรค์ทางศิลปะ การปรากฏให้เห็นแววอัจฉริยะของเด็กเหล่านี้อาจเกิดในช่วงอายุในครรภ์ได้ แม้แต่เมื่อยังเยาว์วัย ลักษณะการวาดของเด็กกลุ่มนี้มักมองเห็นได้ชัดว่าดีเด่น น่าสนใจ กว่าเด็กทั่ว ๆ ไป ซึ่งอาจจะเป็นในลักษณะของลายเส้น สี หรือ การถ่ายทอดจินตนาการ ตลอดถึงความกลมกลืนของภาพ ลักษณะการวาดของเด็กจะพัฒนาไปตามลำดับขั้นตอน หากระยะเวลาของพัฒนาการในแต่ละขั้นอาจใช้เวลาต่างกัน เช่นอาจอยู่ขั้นขีดเขียนเพียงระยะสั้นๆ และมักมีความสามารถในการมองเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆอย่างแจ่มแจ้ง เด็กที่สามารถวาดภาพได้ดีนั้น ขั้นอยู่กับองค์ประกอบหลายประการ เช่น ลักษณะการใช้มือ ระดับสติปัญญาทางศิลปะ ความคล่องแคล่วในการรับรู้ จินตนาการการสร้างสรรค์และความสามารถในการตัดสินใจในด้านสุนทรีภาพ องค์ประกอบประการสุดท้ายนั้นเกิดจากการเลี้ยงดู ดังนั้นความสามารถทางศิลปะจึงขึ้นอยู่กับพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม เด็กที่แสดงความสามารถทางศิลปะออกมาในวัยต้น ๆ นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นจิตรกรหรือปฏิมากรเสมอไป ทั้งนี้เพราะว่าเด็กที่มีสติปัญญาดี และได้รับการฝึกฝนทางศิลปะอย่างดี ก็สามารถวาดภาพหรือแสดงฝีมือศิลปะขั้นดีได้เช่นกัน ทว่าทักษะในการวาดเพียงอย่างเดียวมิได้ทำให้คนเป็นศิลปินได้ ผู้จะเป็นศิลปินนั้นจะสามารถถ่ายทอดสิ่งรอบ ๆ ตัวออกมาในรูปของศิลปะได้เสมอโดยไม่ต้องลอกเลียนแบบ



* อาจารย์ประจำศูนย์วิจัยและพัฒนาการจัดการศึกษาพิเศษแบบเรียนรวมสำหรับเด็กออทิสติก
โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น







ความแตกต่างของเด็กที่มีพรสวรรค์ทางศิลปะกับเด็กปกติ
1. เด็กที่มีพรสวรรค์ทางศิลปะมีความสามารถในการสังเกต รายละเอียดของสิ่งที่จะนำมาถ่ายทอดลงในภาพได้ดีกว่าเด็กปกติ และความทรงจำจาการเห็นที่ดีกว่า ดังนั้นภาพวาดของเด็กกลุ่มนี้จึงดีกว่าทั้งในด้านรูปร่างลักษณะและสีที่เลือกใช้
2. เด็กที่ทีพรสวรรค์ทางศิลปะมักจะนำเอาลีลาการเคลื่อนไหวของสิ่งต่างๆ ถ่ายทอดลงในภาพ ในขณะที่เด็กทั่ว ๆ ไป มักวาดภาพแข็ง ๆ ทื่อ ๆ
3. แม้ว่าทุกคนจะมีจินตนาการแต่จินตนาการของเด็กที่มีพรสวรรค์ทางศิลปะจะมีมากกว่าปกติ และเขาสามารถถ่ายทอดความนึกคิดเหล่านั้นมาเสริมต่อกับสิ่งที่เขาได้รับรู้จากสายตา
4. เด็กทั่ว ๆ ไป มักมีข้อจำกัดในการวาดภาพ คือมี Graphic Vocabulary ต่ำจึงทำให้ไม่สามารถวาดภาพที่ต้องการได้และมักใช้ถ้อยคำมาเพิ่มเติมในภาพเพื่ออธิบายความรู้สึกนึกคิดทั้งมวลลงในภาพตามต้องการ
5. เด็กที่มีพรสวรรค์ทางศิลปะจะคำนึงถึงสภาพของสิ่งของต่างๆตลอดจนข้อจำกัดมากกว่าเด็กปกติ ซึ่งมักจะวาดไปเรื่อยๆ ตามที่เห็น ตัวอย่างเช่น เด็กทั่วไปส่วนมากมักวาดภาพในลักษณะแบบสีที่เสมอกัน แต่เด็กที่มีพรสวรรค์ทางศิลปะจะคำนึงถึงพื้นผิวของภาพ การเลือกใช้สี จึงสะท้อนออกมาถึงเงาหรือความลึกของภาพด้วย
6. เด็กที่มีพรสวรรค์ทางศิลปะไม่จำเป็นต้องเก่งหรือเป็นเลิศในวิชาอื่นๆ เด็กอาจจะวาดรูปที่เด็กสนใจได้ดีเยี่ยม เหมือนผู้ใหญ่มืออาชีพ ตั้งแต่เด็กยังเยาว์วัย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะต้องทำสิ่งอื่น ๆ ได้ในระดับเดียวกัน
7. เด็กทุกคนจะมีการลอกเลียนแบบโดยเฉพาะในการวาดภาพตามแบบที่เขาชื่นชม เด็กที่มีพรสวรรค์ทางศิลปะก็เช่นกัน หากแต่จะมีช่วงเวลาการเลียนแบบเพียงระยะหนึ่ง หลังจากนั้นเด็กจะแสดงฝีมือตามแนวของเขา ซึ่งอาจดัดแปลงจากแบบที่เขาเคยนิยมชมชอบก็ได้

เด็กออทิสติก
บางครั้งการวาดของเด็กออทิสติกก็เป็นไปทำนองเดียวกับการวาดของเด็กปกติที่มีอายุสมองเท่ากัน โดยทั่ว ๆ ไปแล้วการวาดของเด็กพวกนี้มักไม่ได้สัดส่วนไม่มีรายละเอียด มักวาดเหมือน ๆ กัน ซ้ำ ๆ กัน และชอบวาดภาพเล็ก ๆ บนกระดาษแผ่นใหญ่ ๆ ภาพที่ปรากฏจึงมักขาดสมดุล ตัวอย่างเช่น การวาดรูปคน เด็กออทิสติกมักวาดแขนยาวมากหรือสั้นมากเกินไป การใช้สีก็ไม่เหมาะสมกับภาพที่วาด เด็กออทิสติกที่โตขึ้นจะสามารถลอกแบบได้ดี
พัฒนาการของเด็กออทิสติกก็เป็นไปอย่างเชื่องช้ากว่าเด็กปกติ ในการวาดภาพเด็กพวกนี้มักไม่คำนึงถึงการเคลื่อนไหว เด็กผู้หญิงมักจะวาดรูปที่มีขนาดเล็กกว่าเด็กผู้ชาย และเด็กออทิสติกทั้งหญิงและชายมักวาดรูปผู้ชายเล็กกว่าผู้หญิงและชอบวาดรูปเพศเดียวกับตัวเองให้ใหญ่กว่าด้วย
นอกจากนี้ เด็กออทิสติกมักต้องการการกระตุ้น หรือแรงจูงใจในการวาดภาพและมักแสดงให้เห็นถึงความด้อยในการแสดงความคิดและความคล่องแคล่วในการใช้มือ
เด็กหูหนวก
การวาดภาพของเด็กหูหนวกไม่แตกต่างจากเด็กปกติแต่มักมีพัฒนาการในการวาดช้ากว่าเพราะไม่รู้จักคิด ขาดจินตนาการ แต่ถ้าได้อิทธิพลของสิ่งแวดล้อมที่ประทับใจ เด็กพวกนี้ก็สามารถทำได้ดีเช่นเดียวกัน เช่น การวาดภาพสัตว์ประหลาดจากภาพยนตร์ในโทรทัศน์
อย่างไรก็ตามการวาดของเด็กหูหนวกนั้นมักเป็นการวาดจากการเลียนแบบและจะมีรายละเอียดมาก แสดงถึงความจำทางสายตาที่ดี ภาพวาดของเด็กพวกนี้มักแสดงถึงเหตุการณ์ที่เลวร้ายมากกว่าความอ่อนโยนซึ่งทั้งนี้อาจมีสาเหตุจากการมีปัญหาทางอารมณ์ ความกลัวที่เกี่ยวข้องกับการไม่ได้ยิน เด็กที่ได้รับการส่งเสริมให้มีโอกาสแสดงออกทางศิลปะก็จะสามารถพัฒนาความสามารถด้านนี้จนสามารถนำความรู้สึกทางศิลปะไปใช้ติดต่อกับผู้อื่นได้ด้วยภาพวาด
เด็กตาบอด
การสัมผัสเป็นสื่อสำคัญในการเรียนรู้ของเด็กตาบอด แต่การเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อกลับสำคัญกว่าความรู้สึกจากการสัมผัสของเด็กตาบอดมักอาศัยการฟังมากกว่าการสัมผัส การวาดภาพของเด็กตาบอดต้องทำในลักษณะพิเศษคือทำเป็นเส้นนูนมาทำนองเดียวกับการใช้อักษรเบรลล์เด็กตาบอดจึงวาดภาพลายเส้นทำนองเดียวกับเด็กปกติเพียงแต่ไม่มีรายละเอียด เช่น ผม เสื้อ การวาดรูปบ้านก็มักผสมกันทั้งชั้นบนชั้นล่าง ทั้ง ๆ ที่เด็กตาบอดก็พยายามแสดงช่องบันได มีหน้าต่าง ปล่องไฟทำนองเดียวกับเด็กปกติ
แม้เด็กตาบอดจะวาดภาพได้ไม่สมดุลนัก แต่ก็วาดได้ดีกว่าเด็กปกติที่ถูกปิดตาเด็กตาบอดมีความคิดและการรับรู้ในเรื่องช่องว่างเช่นกัน แต่รูปร่างของสิ่งที่เขาสัมผัสไม่ได้ ก็มักจะวาดได้ไม่ถูกต้อง ตัวอย่างเช่น ภาพโบสถ์มักไม่มีหลังคา ภูเขาก็วาดเป็นรูปกรวย
เด็กตาบอดเมื่อยังเยาว์วัย จะมีการรับรู้สิ่งต่าง ๆ โดยแยกเป็นส่วน ๆ เช่นเดียวกับเด็กปกติเพียงแต่เด็กตาบอดไม่ได้แสดงถึงส่วนต่างๆ มากเท่ากับเด็กปกติ เมื่ออายุราว 10 ขวบเด็กตาบอดจะมีความคิดรวบยอดของการรวมส่วนย่อยเข้าเป็นภาพสมบูรณ์ได้ เนื่องจากเด็กตาบอดต้องอาศัยประสาทสัมผัสเป็นส่วนใหญ่ เพื่อช่วยในการเรียนรู้ ผลงานของเด็กตาบอดที่ออกมาจึงมีแนวโน้มที่จะแสดงออกจากสิ่งที่ตนได้พบและเรียนรู้ ทำนองเดียวกับการวาดของเด็กปกติที่วาดภาพตามที่มองเห็น (Visually Minded)

ศิลปะบำบัด
ศิลปะได้ถูกนำมาใช้ในการบำบัดรักษาคนไข้โรคจิต โรคประสาท กันมาก โดยเฉพาะในต่างประเทศ และใช้กันมานานแล้ว เช่น การวาดภาพ การปั้น แกะสลัก การทำงานช่างไม้ การเย็บปักถักร้อย การร้องรำ ? ดนตรี สำหรับในประเทศไทยมักเน้นกันในเรื่อง กิจกรรมบำบัดหรืออาชีวบำบัด เช่นการทอผ้า ทอเสื่อ การปั้นดินน้ำมัน ปูนปลาสเตอร์ และการเกษตร เช่น ปลูกต้นไม้ ทำสวนครัว เป็นต้น อย่างไรก็ดีงานศิลปะที่กล่าวมาข้างต้น มักไม่ค่อยได้ใช้โดยตรงด้วยช่องว่างระหว่างศิลปินและประชาชนทั่วไปยังมีมาก ประชาชนมักรู้สึกว่าศิลปินอยู่คนละโลกกับตน หรือไม่อาจ ?เข้าถึง? ศิลปินได้ พัฒนาการของบุคลากรในด้านนี้จึงมีน้อยยิ่งไปกว่านั้นในโรงพยาบาลเองก็มักปรากฏว่าจิตแพทย์ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ถูกอบรมมาในด้านศิลปะจึงเป็นเหตุให้ประเทศเราขาดผู้มีความสามารถในด้านศิลปะและดนตรี สามารถเร่งเร้าให้คนไข้ตื่นตัว เมื่อผสมกับการรักษาด้วยยา และการรักษาแบบอื่น ๆ ด้วย การวาดภาพ เป็นศิลปินอย่างหนึ่งที่วงการจิตเวชยอมรับว่าเป็นเครื่องแสดงออกของการรับรู้ อารมณ์ความขับข้องใจ ความปารถนา หรือจินตนาการและได้นำมาใช้ทั้งในแง่การตรวจ และการรักษาอย่างกว้างขวาง งานศิลปะในด้าน การวาดภาพ การระบายสี การแกะสลัก จึงถูกนำมาพิจารณาใช้ในแง่ของการวินิจฉัย และการทำนายโรค ตลอดจนการเข้าใจความรู้สึกนึกคิด และสภาพของคนไข้ มากกว่าที่จะพิจารณาผลงานของคนไข้ในเชิงสมรรถภาพด้านศิลป์อย่างไรก็ตามการนำเอาศิลปะมาใช้เป็นงานอดิเรกเพื่อความเพลิดเพลินนั้นชาวบ้านคนไทยยังมองไม่เห็นคุณค่า มักจะมองเห็นการร้องรำทำเพลง ขีดเขียนเป็นเรื่องเหลวไหลเสเพล ไม่เอาถ่านหรือเมื่อพูดถึงศิลปิน ก็มักเกิดภาพพจน์ในทางติดเหล้า ติดฝิ่น เจ้าอารมณ์ ทั้งนี้ก็เป็นเรื่องของค่านิยมจึงเป็นเหตุให้วงการจิตเวชไทยเองก็ขาดแคลนศิลปินที่จะไปร่วมในทีมรักษาคนไข้ ในโรงพยาบาลบางแห่งแม้จะมีตำแหน่งครูอุตสาหกรรมบำบัด ก็มักจะปรากฏว่าไม่มีนาฏศิลป์หรือช่างศิลป์ คนใดอยากมาอยู่กับคนไข้โรคจิต
การศึกษาภาพวาดในวงการจิตเวชของไทยนั้นมักใช้กับเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ โดยให้เด็กวาดภาพะอย่างเสรีไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสภาพจิตเด็ก นอกจากนี้ก็ให้เด็กวาดภาพคนเพื่อทดสอบเชาวน์ปัญญาตามแบบการทดสอบเชาวน์ปัญญาของ กู๊ดอินัฟ ( Good enough ) ซึ่งเป็นผู้ศึกษาหามาตรฐานของเด็กแต่ละอายุว่ามีลักษณะภาพที่เขียนเป็นอย่างไร การวาดภาพ ?คน บ้าน ต้นไม้? ของเด็กยังแสดงให้เห็นถึงความรู้สึกนึกคิดตลอด เจตคติต่างๆ ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมของเด็กด้วย จิตแพทย์จึงมักนำเอาภาพวาดดังกล่าวมาประกอบการวินิจฉัย และการสังเกต เพื่อเข้าใจถึงการรับรู้ของเด็กที่แสดงออกมาในภาพวาดการเจริญเติบโตมาในครอบครัวที่อบอุ่นเป็นสุข และเป็นที่รักของครอบครัว มักปรากฏว่าภาพวาดมีลักษณะน่าอยู่ร่มรื่น ต้นไม้สดชื่นงอกงาม แผ่กิ่งกานสาขา เป็นต้น เคยมีผู้ทดลองให้เด็กยากจนและเด็กที่อยู่ในครอบครัวร่ำรวย วาดภาพเหรียญบาทให้ใกล้ความเป็นจริงที่สุด จากการวัดเส้นผ่าศูนย์กลางของภาพวาด ปรากฏว่าเด็กยากจนจะวาดภาพโตกว่าของจริง แต่เด็กมั่งมีเขียนภาพเล็กกว่าของจริง การวาดภาพความฝัน ก็แสดงให้เห็นถึงความปารถนา ความวิตกกังวล ความหวาดกลัวในจิตใต้สำนึก
การคิดสร้างสรรค์จากงานศิลปะ โดยให้เด็กแสดงออกทุกอย่าง อย่างอิสระ ซึ่งทำให้เด็กมีการพัฒนาการทางศิลปะได้ดีขึ้นซึ่งอาจจะเริ่มจากการขีดเขี่ย เริ่มขีดเขียน และการวาดของจริง ดังนั้นการเริมต้นของเด็กที่มีพรสวรรค์ทางศิลปะก็จะเกิดจากความชอบ รัก ในการทำกิจกรรมทางด้านศิลปะ นอกจากจะเกิดขึ้นกับตัวเด็กแล้ว ผู้ที่ต้องคอยดูแล ให้การสนับสนุนเช่น ผู้ปกครอง ครู ก็ต้องให้ความเอาใจใส่กับตัวลูกน้อย ลูกศิษย์เช่นกัน








อ้างอิง

ศรียา นิยมธรรม และประภัสร นิยมธรรม. 2546. พัฒนาการทางภาษา .
แซม ฮาเมล แพม สก๊อดต์. 2542. ศิลปะประดิษฐ์สำหรับเด็กพิเศษ .
ผดุง อารยะวิญญู. 2546. วิธีสอนเด็กเรียนยาก . คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาวัยศรีนครินทรวิโรฒ
ประสานมิตร. กรุงเทพมหานคร:
ละออ ชุติกร. 2547. พัฒนาอารมณ์และสมองด้วยของเล่น . กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ แฮปปี้ แฟรมิลี่.

 
 
แนบแฟ้มข้อมูล  
 
 
 
 
 
จำนวนผู้อ่าน 1 คน

[หน้าแรก] [รวมบทความ]