ผู้ส่งบทความ1 รองศาสตราจารย์ ดร.จารุณี  ซามาตย์
รองศาสตราจารย์ ดร.จารุณี  ซามาตย์
หน่วยงาน สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ศึกษา
วัน/เดือน/ปี วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม 2551
เวลา 20:46:21 น.
หัวข้อบทความ มองในแง่ไหน
บทความ ในอดีตกาล มีพระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ท่านสุมังคลเศรษฐีซึ่งเป็นผู้มีศรัทธาแก่กล้า ได้สร้างกุฏิสำหรับเป็นที่ประทับประจำถวายพระพุทธเจ้าหลังหนึ่งนอกเมือง และออกไปเฝ้าอุปัฏฐากทุกเช้า

ในเช้าวันหนึ่งได้เตรียมของถวายแล้วให้คนถือตามหลังออกไปเช่นเคย พอถึงประตูเมืองได้เห็นชายคนหนึ่งมีเท้าเปรอะเปื้อนโคลนนอนคลุมโปงอยู่ จึงพูดเปรยกับคนใช้ว่า "คนๆ นี้สงสัยจะเที่ยวดึก กลับเข้าเมืองไม่ทันประตูปิด จึงต้องมานอนลำบากอย่างนี้ น่าสงสารจริง" ชายคนนั้นได้ยินแว่วๆ จึงเปิดหน้าออกมองดูเห็นเศรษฐีเข้าก็จำได้ว่าเป็นใคร แต่ไม่พูดอะไรได้แต่ผูกอาฆาตในใจว่า
"เศรษฐีคนนี้ยุ่งไม่เข้าเรื่อง มันเรื่องอะไรของเขา เราจะเที่ยวดึกไม่ดึกมันเรื่องของเรา ไม่น่ามาเกี่ยว เอาเถอะ สักวันหนึ่งเราจะให้รู้สึกถึงการยุ่งเรื่องคนอื่นไม่เข้าเรื่อง"

ผูกอาฆาตแล้วก็หลับต่อ ตื่นขึ้นในตอนสาย นึกถึงคำพูดของเศรษฐีได้ความโกรธก็แล่นขึ้นหน้าอีก เขาไม่อาจจะทำร้ายเศรษฐีโดยตรงได้ จึงลอบเผานาเศรษฐีเสีย ๗ ครั้ง ความโกรธยังไม่คลาย เลยลอบตัดเท้าวัวเศรษฐีในคอกเสียอีก ๗ หน เศรษฐีทราบเรื่องก็ไม่โกรธ และไม่สั่งให้คนหาตัวคนทำมาลงโทษประการใด เมื่อเขาไม่โกรธตัวเองกลับไม่พอใจหนักขึ้นตามลักษณะคนพาลซึ่งตกอยู่ในอำนาจโทสะ ได้โอกาสจึงลอบเผาบ้านเศรษฐีเสีย ๗ ครั้ง ๗ หลังด้วยกัน เท่านี้แทนที่จะลดความอาฆาตลงได้ กลับเพิ่มทวีขึ้นเมื่อเขาไม่ได้โต้ตอบ คิดหาทางว่าทำอย่างไรหนอจึงจะทำให้เศรษฐีเจ็บแสบ เที่ยวสืบเสาะดูก็ได้ความว่าเศรษฐีตนนี้รักเคารพในพระพุทธเจ้ามากถึงขนาดกับสร้างพระคันธกุฎีถวายเป็นที่ประทับ สิ่งที่เศรษฐีรักหวงแหนที่สุดเห็นจะไม่มีอะไรเกินพระคันธกุฎี พอรู้เข้าเขาถึงกับร้องไชโยด้วยความดีใจ คราวนี้แหละเจ็บแสบสมใจเราแน่ พอพระพุทธเจ้าไม่อยู่ในวันหนึ่งจึงเข้าไปจุดไฟเผาพระคันธกุฎีไหม้เป็นจุณไป และแทนที่จะหลบหนีไปเสียกลับปะปนฝูงชนเข้ามาดูผลงานของตนและดูอาการโกรธของเศรษฐี

ท่านเศรษฐีพอรู้ว่าไฟไหม้พระคันธกุฎีก็รีบมา มาถึงเห็นพระคันธกุฎีถูกไฟผลาญเหลือแต่ซาก แทนที่จะเต้นเร่าๆ ด้วยความโกรธแค้นคนทำ กลับตบมือฉาดๆ มองหน้าฝูงชนด้วยความพออกพอใจ เมื่อถูกถามว่าทำไมไม่โกรธไม่เสียใจ ที่ของรักหวงแหนวิบัติไปเช่นนี้ก็ตอบว่า
"เราจะเสียใจไปทำไม ดีใจเสียอีกไม่ว่า เราจะได้สร้างพระคันธกุฎีถวายใหม่ให้ใหญ่กว่านี้แข็งแรงกว่านี้ เราจะต้องขอบใจคนเผาเสียด้วยซ้ำไป ถ้าเขาไม่เผา เราก็จะไม่มีโอกาสได้ทำบุญใหญ่เช่นนี้อีก เราขอบใจเขาจริงๆ"

คำพูดนี้แทงใจชายคนร้ายเหลือเกิน ผิดหวังก็ผิดหวัง โกรธก็โกรธ หาช่องทางกำจัดเศรษฐีนั้นต่อไป ไม่งั้นนอนตายตาไม่หลับ

พอท่านเศรษฐีสร้างพระคันธกุฎีหลังใหม่เสร็จก็ทำการฉลอง ชายคนนั้นได้ช่องทางที่จะลอบฆ่าเศรษฐีนั้นตอนคนพลุกพล่านมากๆ จึงเหน็บมีดปลายแหลมคมไว้ที่ชายพกปะปนไปกับฝูงชนเช่นเคย เมื่อท่านเศรษฐีถวายภัตตาหารถวายกุฏิหลังใหม่แด่พระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว ก่อนที่จะกรวดน้ำรับพรพระ จึงลุกขึ้นประกาศแก่ฝูงชนในที่นั้นว่า
"ท่านทั้งหลาย มีคนๆ หนึ่งลอบเผานาข้าพเจ้า ๗ ครั้ง ตัดเท้าวัว ๗ หน เผาบ้านอีก ๗ หลัง มาบัดนี้เขามาเผาพระคันธกุฎีอีก เพราะอาศัยเขา ข้าพเจ้าจึงได้ทำบุญใหญ่เห็นปานนี้ในวันนี้ ถ้าไม่มีเขาก็จะไม่มีวันนี้สำหรับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอขอบใจเขา และข้าพเจ้าขอกยกส่วนบุญนี้ให้เขาเป็นคนแรก"

คำประกาศนี้เหมือนน้ำกรดทิพย์ที่ละลายความอาฆาตมาดร้ายที่ฝังแน่นอยู่ในใจของเขาให้มลายสิ้นในพริบตา เขาแหวกฝูงชนเข้ามาเผชิญหน้ากับท่านเศรษฐี คกเข่าแล้วดึงมีดออกมาส่งให้พร้อมกับกล่าวว่า ข้าพเจ้าทำผิดต่อท่านมามากโปรดฆ่าข้าพเจ้าเสียเถิด ข้าพเจ้าสมควรตาย แต่ท่านเศรษฐีกลับคุกเข่าลงประคองเขาให้ยืนขึ้นแล้วปลอบประโลม ไม่ถือสา ไม่เอาโทษทัณฑ์แต่ประการใด กลับชวนให้ไปอยู่ที่บ้านด้วย ให้ช่วยทำงานบ้านอยู่ในบ้านเสร็จ

กรรมดีที่เขาถอดสลักเวรได้ ทำให้เขาอยู่สุขสบายในบ้านเศรษฐี แต่กรรมชั่วที่เขาทำไว้ก่อนหน้านั้น ส่งให้เขาตกนรกหมกไหม้หลังจากตายไป ใช้กรรมในนรกแล้ว เศษกรรมยังส่งให้เขาเกิดมาเป็นเปรตอยู่ที่เชิงเขาคิชฌกูฏ ถูกไฟไหม้ร่างกายปวดแสบปวดร้อนอยู่ตลอดเวลา ตายก็ไม่ตาย หายก็ไม่หาย นี่คือผลกรรม

เล่าเรื่องนี้มาก็เพื่อเป็นตัวอย่างว่า คนเรานั้นอาจทำผิดได้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง และอาจผิดได้บ่อยๆ ด้วย และในชั่วชีวิตของแต่ละคนนั้นอาจจะได้ทำความดีกันไว้บ้างไม่มากก็น้อย ดังนั้น หากเราจะมองข้ามความผิดเล็กๆ น้อยๆ ของกันและกันไปเสีย มองหาแต่แง่ดีๆ ของกันและกัน ก็จะพบได้ และจะทำให้เราเกิดความนิยมนับถือในตัวผู้นั้นได้อย่างสนิทใจ

ความจริง ชายคนนั้นได้ทำความผิดคิดร้ายต่อท่านเศรษฐีอย่างให้อภัยกันไม่ได้หลายครั้งหลายพน แต่ท่านเศรษฐีก็มองหาจุดดีของเขาจนพบ อันจุดดีนั้นกลายเป็นจุดเด่นที่ลบล้างจุดด้อยของชายคนนั้นได้สิ้นเชิงในสายตาของเศรษฐี ทำให้ท่านอภัยเขาได้ ทำให้ท่านไม่ต้องเดือดร้อนใจ ไม่ต้องก่อเวรก่อภัยต่อกันอีก

คนดีมักจะมองคนอื่นในแง่ดีอยู่เสมอ มิใช่ว่าจะมองไม่พบแง่เสียหรือแง่ร้ายของเขา พบเหมือนกัน แต่เมื่อพบแล้วมองข้ามมันไปเสียไม่ติดใจในแง่นั้น เพราะเห็นว่าทุกคนมีโอกาสผิดพลาดหรือเสียหายได้ด้วยกัน เมื่อมองกันในแง่ดีแล้วก็จะสบายใจทั้งคนมองและคนที่ถูกมอง สามีมองเห็นภรรยาทำอะไรไม่เข้าท่าไม่น่าดูในบางอย่างบางสถานที่ เช่น เป็นคนขี้หึง เป็นคนพูดมาก หรือชอบแต่งตัวจนเกินงาม เช่นนี้ แม้จะไม่ถูกตาถูกใจ แต่มันเป็นนิสัยของเขาเป็นเรื่องชอบของเขา มองข้ามเสียก็สบายใจไปได้ หรือมาคิดเสียว่า ที่เขาหึงเพราะเขารักเรามาก หรือเพราะเราเจ้าชู้มากนั่นเอง ที่เขาพูดมากเพราะเราทำไม่ถูกใจเขามาก หรือเขาชอบแต่งตัวก็เพื่อให้เราดูจะได้ไม่เบื่อเขา มองเสียได้อย่างนี้ก็ทำให้ไม่มีเรื่องราวกัน สบายใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย มองอย่างนี้แหละเรียกว่า มองในแง่ดี ซึ่งเป็นวิสัยของคนดี

หากมองกันในแง่ร้ายๆ คอยจับผิดจับพิรุธกันอยู่ร่ำไป ใจของคนมองนั้นแหละจะเกิดความไม่สบายเกิดความฟุ้งซ่านเอง นานๆ เข้า สุขภาพจิตก็จะตกต่ำถึงระดับเห็นว่าไม่มีใครในโลกดีพอที่จะยกย่อง

เพราะคนเราย่อมมีทั้งดีและไม่ดีด้วยกันทั้งนั้น เมื่อเรามองแต่แง่ดีก็จะพบแต่ความน่านับถือของเขา หากเรามองในแง่ร้าย ก็จะพบแต่ความร้ายกาจความไม่ดีของเขา ซึ่งจะพบมากหรือน้อยก็แล้วแต่ว่า เราจะมองเขาด้วยจิตใจอย่างไร ด้วยใจคิดยกย่องหรือคิดทำลาย ด้วยต้องการแก้ผิดหรือต้องการแก้เผ็ด

การมองกันในแง่ดีเป็นการสร้างสรรค์สังคมให้น่าอยู่ ตรงข้ามการมองกันในแง่ร้ายเป็นการทำลายสังคมทำลายหมู่คณะโดยไม่รู้ตัว

แล้วทำไมเราจะต้องมามองคนอื่นในแง่ร้ายด้วย!


ที่มา : หนังสือพุทธธรรม ๕ นาที - พระธรรมกิตติวงศ์
 
 
แนบแฟ้มข้อมูล  
 
 
 
 
 
จำนวนผู้อ่าน 1 คน

[หน้าแรก] [รวมบทความ]