บทความ |
ข่าวภูมิภาค....สุเมธ วรรณพฤกษ์....ขอนแก่น ( 089 8613447 )
(ขอนแก่น) ศูนย์คณิตศาสตร์ มข. เผยปัญหาการเรียนการสอนของไทยล้มเหลว ขาดมาตรฐานทั้งครูและผู้บริหาร ส่งผลให้เด็กคิดอย่างเป็นระบบไม่เป็น เสนอหลักสูตรการศึกษาใหม่ ใช้ต้นแบบจากญี่ปุ่น เน้นผู้เรียนเป็นหลัก ทดลองใช้ได้ผลใน 4 โรงเรียนนำร่อง
ผศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า จากปัญหาด้านการเรียนการสอนในปัจจุบัน ซึ่งมุ่งแต่ผลลัพธ์ในการสอบแข่งขัน ขาดการจัดกระบวนการทางความคิด ที่จะให้นักเรียนรู้จักคิดอย่างเป็นระบบ มีเหตุมีผล มีสำนึกร่วมกันในสังคม และขาดภาวการณ์เป็นผู้นำ ส่งผลให้เกิดความล้มเหลวทางด้านการศึกษาของไทยในหลายด้าน ซึ่งศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษาฯ ได้มีโครงการพัฒนาการคิดทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนด้วยวิธีการศึกษาชั้นเรียน ( Lesson Study ) และวิธีการคิดแบบเปิด ( Open Approach ) เข้ามาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเริ่มดำเนินการมาแล้ว 6 ปี ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ และพร้อมจะนำเสนอเข้าสู่นโยบายทางการศึกษาต่อไป
ผศ.ดร.ไมตรี กล่าวต่อว่า โครงการพัฒนาการคิดทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนด้วยวิธีการศึกษาชั้นเรียน ( Lesson Study ) และวิธีการคิดแบบเปิด ( Open Approach ) ดำเนินการนำร่องใน 4 โรงเรียนใน จ.ขอนแก่น คือ โรงเรียนคูคำพิทยาสรรพ์ อ.ซำสูง , โรงเรียนชุมชนบ้านชนบท อ.ชนบท , โรงเรียนบ้านบึงเนียมบึงใคร่นุ่น อ.เมือง และโรงเรียนหนองตูมหนองงูเหลือม อ.เมือง ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ในประเทศไทย แต่มีต้นแบบจากประเทศญี่ปุ่น ที่ดำเนินการมาเกือบ 40 ปีแล้ว ซึ่งมีแนวคิดหลักสำคัญคือ การให้ครูแต่ละสาขาร่วมกันวางแผนปรับปรุงและพัฒนาการสอน เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างครูกับครู นักเรียนกับนักเรียน และครูกับนักเรียน โดยเน้นให้ความสำคัญไปที่นักเรียนเป็นหลัก
ผศ.ดร.ไมตรี กล่าวต่อไปว่า จากการประเมินความสามารถด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ของสถาบันการศึกษานานาชาติด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ( Trends in International Mathematics and Science Study ; TIMSS ) ซึ่งทำการประเมินในทุก 4 ปี จากประเทศสมาชิกทั่วโลกมากกว่า 60 ประเทศ พบว่า ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ต่ำมากจากปี 38 อยู่ในลำดับที่ 22 และเลื่อนลงลำดับที่ 27 ใน 4 ปีต่อมา จากนั้นประเทศไทยก็ไม่กล้าส่งเข้าประเมินอีก อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 44 48 สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ได้ประเมินคุณภาพสถานศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จากโรงเรียนทั่วประเทศทั้งหมด 30,010 แห่ง พบความไม่ได้มาตรฐานทั้งของผู้เรียน ผู้บริหารและครูในหลายด้านที่น่าเป็นห่วง และควรต้องเร่งหาทางแก้ไขอย่างมาก
การประเมินของ สมศ. โดยภาพรวมมีสถานศึกษาที่ได้มาตรฐานเพียงร้อยละ 35 และที่ไม่ได้มาตรฐานเกือบทั้งหมดเป็นสถานศึกษาของรัฐที่อยู่ในชนบท ซึ่งความไม่ได้มาตรฐานด้านผู้เรียน คือ ความสามารถในการคิดอย่างเป็นระบบ ความรู้และทักษะที่จำเป็นตามหลักสูตร ทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง รักการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ความรักและทักษะในการทำงาน การทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ และมีเจตคติที่ดีต่ออาชีพสุจริต ในด้านผู้บริหาร ก็ไม่ได้มาตรฐานในด้านการบริหารวิชาการ การมีหลักสูตรที่เหมาะสมกับผู้เรียนและท้องถิ่น มีสื่อการเรียนการสอนที่เอื้อต่อการเรียนรู้ การส่งเสริมกิจกรรม และการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ สำหรับครู แม้จะได้มาตรฐานด้านวุฒิการศึกษา แต่กลับไม่ได้มาตรฐานในด้านความเพียงพอของครู ความสามารถในการจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
ผศ.ดร.ไมตรี กล่าวว่า สำหรับ Lesson Study และ Open Approach มีแนวทางในการแก้ปัญหาได้อย่างหลากหลาย เปิดกว้างสำหรับคำตอบของปัญหา ช่วยให้นักเรียนได้ใช้กระบวนการทางคณิตศาสตร์อย่างเต็มที่ กระบวนการนำเสนอและการสื่อสาร จะถูกนำมาใช้ในระหว่างการนำเสนอผลงานของตนเอง กระบวนการพิสูจน์และให้เหตุผลจะถูกนำมาใช้ในการอภิปรายถกเถียง ในระหว่างการทำกิจกรรมกลุ่ม นอกจากนี้ การเปิดกว้างสำหรับคำตอบและแนวทางการแก้ปัญหา ทำให้แนวคิดต่างๆ ของนักเรียนได้รับการยอมรับในชั้นเรียน ส่งผลให้นักเรียนเกิดเจตคติที่ดีต่อกิจกรรมการเรียนการสอนในห้องเรียน
ผศ.ดร.ไมตรี กล่าวอีกว่า จุดมุ่งหมายของการเรียนการสอนแบบนี้ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์และการคิดแบบคณิตศาสตร์ของนักเรียนไปพร้อมๆกันในระหว่างการแก้ปัญหา นักเรียนแต่ละคนจะมีอิสระในการทำกิจกรรม รวมทั้งมีอิสระในการคิดเพื่อความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาของตนเอง โดยความก้าวหน้าในการแก้ปัญหานั้นขึ้นอยู่กับความสามารถ ความสนใจและอารมณ์ของตนเอง ช่วยให้นักเรียนพัฒนาตนเองในด้านคุณลักษณะของความเป็นมนุษย์ และสติปัญญาทางด้านคณิตศาสตร์ ซึ่งวิธีการดังกล่าวนี้ สามารถแก้ปัญหาทั้งผู้เรียน ผู้สอนและผู้บริหาร โดยที่ผ่านมา มีสถานศึกษาทั่วประเทศจำนวนมาก เดินทางมาศึกษาดูงานในโรงเรียนนำร่องทั้ง 4 แห่ง และหลังจากนี้ จะมีการนำเสนอเข้าสู่นโยบายทางการศึกษา โดยสำนักนวัตกรรมทางการศึกษา และเริ่มมีการพิจารณาในรูปแบบเข้าสู่การปรับหลักสูตรการเรียนการสอนทั่วประเทศต่อไป
วิธีคิดทางคณิตศาสตร์แบบนี้ เป็นวิธีคิดพื้นฐานของชีวิตประจำวัน ใช้ประเด็นหักล้างบนพื้นฐานเดียวกัน ทำให้คนมีกระบวนการคิดที่ดีและคิดเป็น ไม่ทำให้สังคมทะเลาะกันเหมือนปัจจุบัน ที่มีพื้นฐานการคิดต่างกัน ทำให้ครูเกิดทักษะใหม่ๆที่สอดคล้องกับสถานการณ์ ทำให้เด็กปรับตัวได้ดีจากระบบโรงเรียนเข้าเรียนในระดับชั้นต่อไป ไม่ใช่มุ่งผลลัพธ์เพียงการสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย จนได้เด็กที่คัดสรรมาจากการเรียนเสริมหรือติวเข้ม ซึ่งไม่สามารถปรับตัวกับสังคมและมหาวิทยาลัยได้ เกิดความแตกต่างทางสังคม ทำให้มองเด็กเรียนอาชีวะหรือเทคนิค กลายเป็นเรื่องด้อย เหมือนเป็นนักศึกษาหรือประชาชนชั้นสอง ถือเป็นการสร้างผลลัพธ์ทางสังคมที่บิดเบี้ยว จึงควรต้องเร่งแก้ไข ในวิธีการคิดและสำนึกต่อส่วนรวมที่เป็นระบบ ตั้งแต่โรงเรียนขั้นพื้นฐาน นั่นก็คือการเตรียมในคนรุ่นต่อๆไป
|