ผู้ส่งข่าว รองศาสตราจารย์ ดร.ปิยะวรรณ  ศรีสุรักษ์
รองศาสตราจารย์ ดร.ปิยะวรรณ  ศรีสุรักษ์
   กลุ่มงาน ทั่วไป
   ระดับข่าว ปกติ
   วัน/เดือน/ปี วันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2548
   เวลา 13:06:34 น.
   หัวข้อข่าว Long Live the Beloved King of Siam
   ข้อความ เผยโฉมช่างรองเท้า มีมงคล ซ่อมฉลองพระบาท

ความประหยัดมัธยัสถ์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่างที่ดี และพสกนิกรชาวไทยควรยึดถือ นำมาเป็นแบบอย่างในการดำรงชีวิต ในด้านการรู้จักใช้สิ่งของ ให้คุ้มค่าคุ้มราคา อันเป็นแนวทางการดำรงตน ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่พออยู่พอกิน ตามแบบเศรษฐกิจพอเพียง โดยความประหยัดมัธยัสถ์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อีกเรื่องหนึ่งที่ได้รับการเผยแพร่ ด้วยความปลื้มปีติและชื่นชมครั้งนี้ คือทรงนำฉลองพระบาทที่ชำรุดสึกหรอ แต่ยังทรงสวมใส่ได้ ส่งมาให้ร้านซ่อมรองเท้าที่เป็นเพียงร้านรองเท้าเล็กๆใกล้วัง ซ่อมแซมนำกลับไปใส่ใหม่ นับเป็นการใช้สิ่งของต่างๆอย่างคุ้มค่าที่สุด
โดยร้านซ่อมฉลองพระบาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวร้านนี้ ที่เจ้าของร้านนับเป็นผู้โชคดีอีกคนหนึ่ง ที่ได้มีโอกาสถวายการรับใช้อย่างใกล้ชิด ถือเป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาทอย่างแท้จริง ชื่อร้าน ก.เปรมศิลป์ ตั้งอยู่เลขที่ 1116/1 ถนนนครไชยศรี ย่านสี่แยกพิชัยเขตดุสิต กทม. ผู้สื่อข่าวเดินทางไปพบเจ้าของร้าน คือนายศรไกร แน่นศรีนิล หรือที่ลูกค้าเรียกชื่อกันว่า "ช่างไก่" อายุ 56 ปี เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. และได้รับการเปิดเผยจากนายศรไกรถึงเรื่องการซ่อมแซม ฉลองพระบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
นายศรไกรกล่าวว่า นับเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและร้านอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ได้มีโอกาสถวายการรับใช้ใต้เบื้องยุคลบาท ในด้านการซ่อมฉลองพระบาท โดยก่อนหน้านี้ตนซึ่งเป็นชาวจังหวัดนครราชสีมา เดินทางเข้ามากรุงเทพฯ ตั้งแต่อายุ 21 ปี และไปรับจ้างทำงานตามร้านรับซ่อมรองเท้าหลายแห่ง จนสุดท้ายได้มาทำงานที่ร้านรองเท้าชื่อร้านทรงวิจิตร อยู่ถนนพิชัย กระทั่งสามารถเก็บหอมรอมริบเงินได้ก้อนหนึ่ง จึงลาออกไปเช่าบ้านเปิดเป็นร้านซ่อมรองเท้าเล็กๆ ตั้งชื่อว่าร้าน "ก.เปรมศิลป์" ต่อมากิจการดีขึ้นเป็นลำดับ จึงขยายสาขามาเปิดอีกแห่งที่สี่แยกถนนพิชัย ลูกค้ามีทั้งข้าราชการทหาร ตำรวจ นักการเมือง รวมถึงเจ้าหน้าที่จากสำนักพระราชวัง ต่างแวะเวียนกันมาใช้บริการกันอย่างไม่ขาดสาย
เจ้าของร้านซ่อมฉลองพระบาทกล่าวอีกว่า เมื่อปี 2545 เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังคนหนึ่งที่รู้จักคุ้นเคยกัน ได้นำฉลองพระบาทคัตชูสีดำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาให้ซ่อมเป็นคู่แรก โดยสภาพฉลองพระบาทที่ถูกนำมาซ่อม ภายในชำรุดหลุดล่อนไปหลายส่วน ก่อนที่จะลงมือซ่อมรู้สึกขนลุกซู่ทั้งตัว เกร็งและประหม่าไปหมด เกรงจะทำได้ไม่ดี จากนั้นได้ก้มกราบฉลองพระบาท พร้อมกับคิดในใจว่าถือเป็นความโชคดีที่สุดในชีวิตแล้ว แม้ว่าในชีวิตนี้จะไม่เคยเข้าเฝ้าฯ แต่ก็สามารถทำประโยชน์ ด้วยการใช้อาชีพช่างซ่อมรองเท้า รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท นับเป็นสิริมงคลอันสูงสุดของชีวิต จึงพยายามซ่อมแซมฉลองพระบาทคู่นั้นจนเสร็จสมบูรณ์ หลังจากนั้นยังได้ตัด ฉลองพระบาทคัตชูเบอร์ 43 ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อีก 1 คู่ด้วย
ช่างซ่อมรองเท้าที่ได้ถวายการรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท เผยอีกว่า หลังจากนั้นได้มีโอกาสซ่อมฉลองพระบาทอีก 4 คู่ ประกอบด้วยฉลองพระบาทลำลองข้างซ้าย ที่ถูกสุนัขทรงเลี้ยง คือทองแดง กัดจนขาดวิ่นก็จัดการซ่อมแซมจนใช้การได้ ส่วนคู่ที่ 2 เป็นฉลองพระบาทคัตชูผูกเชือกสีดำ ถูกส่งมาปะแผ่นกันลื่นใต้รองเท้า คู่ที่ 3เป็นฉลองพระบาทบูต ซ่อมด้วยการเปลี่ยนยางยึดด้านข้างและจัดทรงใหม่ ส่วนคู่ที่ 4 เพิ่งถูกส่งมาซ่อมเมื่อวันที่ 29 พ.ย. นี้ เป็นฉลองพระบาทบูตแบบสั้นพื้นด้านล่างเสีย ต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งสองข้าง และเมื่อเจ้าหน้าที่รับกลับไปถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลองสวมปรากฏว่าทรงมีอาการเจ็บพระบาท จึงรับสั่งให้มาแก้ไขใหม่ ขณะนี้แก้ไขเสร็จสมบูรณ์แล้ว ซึ่งระหว่างรอส่งกลับคืน ตนได้นำฉลองพระบาทบูตคู่ดังกล่าวใส่พาน รองด้วยผ้าดิ้นทอง ตั้งไว้ในที่สูง
"ช่างไก่" กล่าวอีกว่า สำหรับพวกเศษวัสดุฉลองพระบาท ที่ถูกแกะออกมาและใช้ไม่ได้แล้ว ตนได้เก็บสะสมไว้ ตั้งใจจะเก็บใส่โหลแก้วเก็บไว้บูชา เพื่อความเป็นสิริมงคลของชีวิตและร้านของตน หลายครั้งที่บรรดาลูกค้าทราบว่า มีฉลองพระบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่งมาซ่อมแซม ก็จะขอกราบไหว้บูชาและนำมายกทูนไว้เหนือหัว เพราะถือเป็นสิ่งมงคลสูงสุดของชีวิต

ที่มาจาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับประจำวันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2548



 
 
   แนบแฟ้มข้อมูล 104016-n-422548131118-Belove King.jpg 
 
 
 
 

[หน้าแรก] [รวมข่าว]