ผู้ส่งข่าว   
  
   กลุ่มงาน ทั่วไป
   ระดับข่าว ปกติ
   วัน/เดือน/ปี วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม 2548
   เวลา 16:21:22 น.
   หัวข้อข่าว ทปอ.สรุปแล้วแอดมิชชั่น49
   ข้อความ หัวข้อข่าว :: ทปอ.สรุปแล้วแอดมิชชั่น49
รายละเอียดข่าว :: ภายหลังจากที่กลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย ออกมาคัดค้านการใช้ระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือระบบแอดมิชชั่น เพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อ ในสถาบันอุดมศึกษาในปีการศึกษา 2549 โดยเฉพาะการคัดค้านการนำเกรดมาเป็นองค์ประกอบการคัดเลือก เพราะไม่เชื่อมั่นในมาตรฐานของโรงเรียน และกลัวว่าโรงเรียนบางโรงจะปล่อยเกรด หรือให้เกรดเฟ้อ ซึ่งในที่สุดที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ก็มีมติที่จะใช้ระบบแอดมิชชั่นในปีการศึกษา 2549 แน่นอน แต่ปรับองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งได้แก่ผลการเรียนรู้ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (GPAX) จำนวน 10% ผลการเรียนรู้จากกลุ่มสาระการเรียนรู้ (GPA) จำนวน 3-5 รายกลุ่มสาระจาก 8 กลุ่มสาระ จำนวน 20% ผลการสอบวัดผลการเรียนรู้รวบยอดระดับชาติ (O-NET) จำนวน 35-70% และผลการสอบวัดความรู้เชิงวิชาการแบบก้าวหน้า (A-NET) หรือวิชาเฉพาะ หรือความถนัดเชิงวิชาชีพ ไม่เกิน 3 รายวิชา จำนวน 0-35% ทั้งนี้ ทปอ.รับปากว่าจะเร่งหาข้อสรุปรายละเอียดขององค์ประกอบ ที่แต่ละคณะวิชาจะใช้ในการคัดเลือกให้เร็วที่สุด นั้น

ที่โรงแรมปรินซ์ พาเลส เมื่อวันที่ 11 พ.ค. สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และผู้แทนคณะวิชาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ร่วมกันกำหนดรายละเอียดที่จะใช้ในระบบแอดมิชชั่น ปี 2549 โดยนายภาวิช ทองโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เผยถึงรายละเอียดต่างๆ จำนวน 9 กลุ่มสาขาวิชา ในระดับอุดมศึกษาว่า รายละเอียดของแต่ละสาขามีดังนี้ กลุ่ม 1 สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ เช่น คณะแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ สหเวชศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ เภสัชศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ เทคนิคการสัตวแพทย์ กำหนดใช้จีพีเอ 5 กลุ่มสาระ ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ กลุ่มละ 4% เท่าๆกัน รวมน้ำหนัก 20% สอบ O-NET จำนวน 5 กลุ่มสาระ ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ กลุ่มละ 7% รวม 35% สอบ A-NET จำนวน 3 กลุ่มสาระ ได้แก่ ภาษาอังกฤษ 10% คณิตศาสตร์ 10% วิทยาศาสตร์ 15% รวม 35%

กลุ่ม 2 สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม พลังงาน ทรัพยากร เช่น คณะวิทยาศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น กำหนดใช้จีพีเอ 5 กลุ่มสาระ ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา กลุ่มละ 3% วิทยาศาสตร์ 6% คณิตศาสตร์ 5% รวม 20% สอบ O-NET จำนวน 5 กลุ่มสาระ ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ กลุ่มละ 7% เท่าๆกัน รวม 35% สอบ A-NET จำนวน 3 กลุ่มสาระ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ 20% คณิตศาสตร์ 10% ภาษาอังกฤษ 5% รวม 35% กลุ่ม 3 สาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำหนดใช้จีพีเอ 5 กลุ่มสาระ ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ กลุ่มละ 4% เท่าๆกัน รวม 20% สอบ O-NET จำนวน 5 กลุ่มสาระ ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ กลุ่มละ 8% เท่าๆกัน รวม 40% สอบ A-NET จำนวน 3 กลุ่มสาระ ได้แก่ คณิตศาสตร์ 10% วิทยาศาสตร์ 10% ความถนัดทางวิศวกรรม 10% รวม 30%

กลุ่ม 4 สาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้แก่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ กำหนดใช้จีพีเอ 5 กลุ่มสาระ ได้แก่ ภาษาไทย สังคมศึกษา กลุ่มละ 2.5% ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ กลุ่มละ 5% รวม 20% สอบ O-NET จำนวน 5 กลุ่มสาระ ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ กลุ่มละ 8% เท่าๆกัน รวม 40% สอบ A-NET เพียงวิชาเดียวคือความถนัดทางสถาปัตยกรรม น้ำหนัก 30% กลุ่ม 5 สาขาวิชาเกษตร เช่น คณะเกษตร อุตสาหกรรมเกษตร วนศาสตร์ เทคโนโลยีการเกษตร เป็นต้น กำหนดใช้จีพีเอ 5 กลุ่มสาระ ได้แก่ คณิตศาสตร์ 4% ภาษาอังกฤษ 4% สังคมศึกษา 3% ภาษาไทย 3% วิทยาศาสตร์ 6% รวม 20% สอบ O-NET จำนวน 5 วิชา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ กลุ่มละ 8% เท่าๆกัน รวม 40% สอบ A-NET จำนวน 2 วิชา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ 20% คณิตศาสตร์ 10% รวม 30%

กลุ่ม 6 สาขาวิชาบริหารธุรกิจพาณิชยศาสตร์ การบัญชี การจัดการ การท่องเที่ยวและเศรษฐศาสตร์ โดยแบ่งเป็น 6.1 สาขาบริหารธุรกิจ การบัญชี เศรษฐศาสตร์ กำหนดใช้จีพีเอ 5 กลุ่มสาระ ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ กลุ่มละ 4% เท่าๆ กัน รวม 20% สอบ O-NET จำนวน 5 กลุ่มสาระ ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ กลุ่มละ 7 % รวม 35% สอบ A-NET จำนวน 2 วิชา ได้แก่ คณิตศาสตร์ 20% ภาษาอังกฤษ 15% รวม 35% ส่วนกลุ่ม 6.2 สาขาการจัดการการท่องเที่ยว กำหนดใช้จีพีเอ 3 กลุ่มสาระ ได้แก่ ภาษาไทย 5% คณิตศาสตร์ 5% ภาษาอังกฤษ 10% รวม 20% สอบ O-NET จำนวน 5 กลุ่มสาระ ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ กลุ่มละ 14% รวม 70% และไม่มีการสอบ A-NET

กลุ่ม 7 สาขาวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ แบ่งเป็นสาขาที่เน้นมนุษยศาสตร์ กำหนดใช้จีพีเอ 4 กลุ่มสาระ ได้แก่ ภาษาไทย 5% ภาษาอังกฤษ 5% สังคมศึกษา 5% และคณิตศาสตร์/วิทยาศาสตร์/ภาษาต่างประเทศ/ศิลปะ 5% รวม 20% โดยให้แต่ละคณะเป็นผู้กำหนดรายละเอียดอีกครั้ง เนื่องจากมีสาขาวิชาเอกจำนวนมาก สอบ O-NET จำนวน 3 กลุ่มสาระ ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา น้ำหนัก 35-70% ซึ่งยังไม่ลงตัว ต้องให้แต่ละคณะกำหนดใหม่อีกครั้ง สอบ A-NET น้ำหนัก 0-35% ก็ยังไม่ลงตัวเช่นกัน ส่วนสาขาที่เน้นด้านสังคมศาสตร์ กำหนดใช้จีพีเอ 4 กลุ่มสาระ ได้แก่ ภาษาไทย 5% ภาษาอังกฤษ 5% สังคมศึกษา 5% และคณิตศาสตร์/ วิทยาศาสตร์/ภาษาต่างประเทศ/ศิลปะ 5% รวม 20% โดยให้แต่ละคณะเป็นผู้กำหนดรายละเอียดอีกครั้ง เนื่องจากมีสาขาวิชาเอกจำนวนมาก สอบ O-NET จำนวน 5 กลุ่มสาระ ได้แก่ สังคมศึกษา 10% ภาษาไทย 10% ภาษาอังกฤษ 10% คณิตศาสตร์ 20% วิทยาศาสตร์ 20% รวม 70%

กลุ่ม 8 สาขาวิชาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ กำหนดใช้จีพีเอ 5 กลุ่มสาระ ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ กลุ่มละ 4% เท่าๆ กัน รวม 20% สอบ O-NET จำนวน 5 กลุ่มสาระ ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ กลุ่มละ 8% รวม 40% สอบ A-NET เฉพาะวิชาเฉพาะ ได้แก่ วิชาวัดแววความเป็นครู 10% วิชาเอก/วิชาเฉพาะ 20% ซึ่งจะกำหนดภายหลัง กลุ่ม 9 สาขาวิชาศิลปกรรม วิจิตรศิลป์ และประยุกต์ศิลป์ ได้แก่ คณะศิลปกรรมศาสตร์ วิจิตรศิลป์ มัณฑนศิลป์ จิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ กำหนดใช้จีพีเอ 3 กลุ่มสาระ ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา กลุ่มละเท่าๆ กัน รวม 20 % สอบ O-NET จำนวน 5 กลุ่มสาระ ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ กลุ่มละ 7% รวม 35 % ไม่สอบ A-NET แต่จะทดสอบเฉพาะตามกลุ่มสาขา จำนวน 35% แบ่งเป็น 1. กลุ่มที่สอบปฏิบัติอย่างเดียว ได้แก่ วาดเส้น องค์ประกอบศิลป์ 2. สอบทฤษฎีและปฏิบัติด้านทัศนศิลป์และการออกแบบ 3. สอบทฤษฎีและปฏิบัติด้านดนตรี และ 4. สอบทฤษฎีและปฏิบัติด้านนาฏศิลป์และศิลปะการแสดง โดยวิชาเฉพาะดังกล่าว ในปี 2549 ทาง สกอ.จะดำเนินการจัดสอบให้ในเดือน ต.ค.2548

นายภาวิชกล่าวด้วยว่า ในปี 2549 ซึ่งจะใช้แอดมิชชั่นเป็นปีแรก หากยอมถูกต่อต้านการศึกษาก็ป่นปี้ เรื่อยๆ อยากให้ ทปอ. สกอ. และมหาวิทยาลัย ร่วมกันแสดงความกล้าหาญในการเปลี่ยนระบบการศึกษาของประเทศให้ได้ ที่ผ่านมาระบบเอ็นทรานซ์ได้สร้างคนขี้แพ้ในสังคมจำนวนมากพอแล้ว จึงอยากให้เริ่มต้นเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา หลังจากที่ได้ข้อสรุปแล้ว สกอ.จะดำเนินการจัดพิมพ์รายละเอียดเพื่อประชาสัมพันธ์ ให้สาธารณชนทราบ และเดินสายไปทำความเข้าใจในส่วนภูมิภาค ทั้งจะให้หน่วยงานกลางสำรวจความคิดเห็นเรื่องแอดมิชชั่น

นายประเสริฐ ชิตพงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการรับสมัครในระบบแอดมิชชั่นในปี 2549 จะให้นักเรียนสมัครผ่านทางเว็บไซต์ และเสียค่าธรรมเนียมผ่านทางธนาคาร แต่ในการรับสมัครนั้นอาจจะมีนักเรียนบางส่วน ที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ ที่ประชุมจึงได้มอบให้มหาวิทยาลัยที่เคยเป็นศูนย์รับสมัครช่วยดูแล กรณีที่เด็กไม่สามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์ได้ ส่วนการคัดเลือกและการประกาศผลในปี 2549 นั้น นักเรียนสามารถเลือกได้ 4 อันดับ และให้ สกอ.เป็นผู้ประกาศผล เพียง 1 อันดับ ส่วนการสอบ O-NET และ A-NET จะสอบประมาณวันที่ 27 ก.พ.-3 มี.ค.2549 ทั้งนี้ ในการสอบ O-NET จะสอบเพียง 1 ครั้ง ส่วน A-NET สามารถสอบได้มากกว่า 1 ครั้ง และสามารถเก็บคะแนนไว้ได้ 3 ปี และเลือกใช้คะแนนที่ดีที่สุด ทั้งนี้แนวทางดังกล่าวจะใช้เฉพาะปี 2549 เท่านั้น ส่วนในปีต่อๆ ไป จะปรับปรุงการดำเนินงานให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้คัดเลือกผู้เรียนเองต่อไป

ไทยรัฐ ปีที่ 56 ฉบับที่ 17278 วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม 2548

 
 
   แนบแฟ้มข้อมูล  
 
 
 
 

[หน้าแรก] [รวมข่าว]